ย้อนตำนาน "กะทิชาวเกาะ" จากร้านขายมะพร้าว ต้องอ้อนวอนแม่ค้าซื้อ สู่บริษัทหมื่นล้าน อันดับ 1 ของโลก

  • 2021-12-22 05:57

LIEKR:

เปิดที่มากว่าจะเป็น #กะทิชาวเกาะ ที่ 1 ของโลก จากร้านขายมะพร้าว ต้องอ้อนวอนแม่ค้าซื้อ ก่อนพลิกชีวิต กำไร 6 พันล้าน!

        คนไทยเราคงคุ้นเคยกันดี สำหรับผลิตภัณฑ์ "กะทิชาวเกาะ" ที่วางขายในประเทศและส่งออกมายาวนานถึง 4 ทศวรรษ เพราะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจระดับโลกนี้ เกิดจากความมานะบากบั่นของผู้ที่มีฉายาว่า “นายแม่” จรีพร เทพผดุงพร ผู้ก่อตั้งรุ่นแรก เธอต้องฝ่าอุปสรรคมามากมาย กว่าประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้

        เริ่มต้นจากร้านขายมะพร้าวในตลาด ในตลาดท่าเตียน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี คุณอำพล และคุณจรีพร เทพผดุงพร ทำธุรกิจขายมะพร้าว และก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วไป จนมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ ต่อมาพวกเขามีความคิดอยากจะขยายกิจการแผงขายมะพร้าว ให้ใหญ่โตขึ้นอีก จึงได้จดทะเบียนร้านค้าภายใต้ชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด "อุดมมะพร้าว" โดยรับมะพร้าวจากภาคใต้ มาขายในพื้นที่กรุงเทพและส่วนอื่น ๆ ของไทย

        นางจรีพร เริ่มต้นจากศูนย์ จากแม่ค้าที่จบการศึกษาเพียงชั้นประถม 4 แต่เธอมองว่า "การศึกษาสำคัญ" จึงส่งลูกทุกคนเรียนให้สูงที่สุด "ใจเราคิดไว้ว่าเราไม่มีความรู้ เเต่ต้องให้ลูกเรามีความรู้ทุกคน พยายามที่สุด ลูกเราต้องเรียนไปเมืองนอกด้วย ทุกคนเลย" นางจรีพร กล่าว

        นายแม่จรีพร มีทายาท 5 คน เธอพยายามส่งเสียลูกทุกคนให้เรียนสูง ๆ จุดเริ่มต้นของกะทิชาวเกาะ เกิดขึ้นเมื่อลูกชายจบการศึกษาจากต่างประเทศ และแนะนำให้เปลี่ยนจากการขายมะพร้าวลูก มาผลิตกะทิสำเร็จรูปแบบพาสเจอร์ไรส์ จรีพร เชื่อมั่นในตัวลูกชาย จึงยอมเปลี่ยนทั้งที่ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่

        แม้ตอนแรกทางครอบครัวมองว่าธุรกิจนี้อาจจะไปไม่รอด แต่ลูกชาย เด็กหนุ่มวัย 19 ปีในตอนนั้น ก็ยืนยันว่าวิเคราะห์มาอย่างดี และมันจะไปได้แน่ ๆ เริ่มแรก ตลาดไม่ตอบรับกะทิสำเร็จรูป แต่จรีพร บอกว่าเธอท้อไม่ได้ แม้จะเหนื่อยจนสายตัวเเทบขาด และร้องไห้แทบทุกคืน 

        “ทำกะทิ เริ่มแรกก็ขายไม่ได้ เอาไปให้เเม่ค้า ไปอ้อนวอนเค้า บอกว่าช่วยซื้อหน่อย เขาก็บอกไม่เอา ไม่เป็นไรช่วยเหอะ ขายได้ก็เก็บเงิน ขายไม่ได้ก็ไม่เอาเงิน เราก็มานั่งร้องไห้ ว่าเอ๊ะเราทำแบบนี้ เราจะสู้ต่อไปไหมเนี้ย กลางคืนนอนร้องไห้ คิดว่าจะทำยังไงดี ใจหนึ่งต้องสู้ บอกลูก ๆ ว่าไม่เป็นไรขายได้ก็ขาย ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”

        ด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ทดลองใช้ฟรี หลังจากนั้นใช้เวลา 3 ปี ผลผลิตกะทิชาวเกาะของเธอ จึงได้รับการยอมรับในที่สุด

        ในตอนนั้นที่ใช้ชื่อชาวเกาะ เพราะในเวลานั้นเกาะสมุย คือแหล่งผลิตมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศ การใช้ชื่อชาวเกาะ จึงน่าจะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่ากะทินี้สดใหม่ และมาจากแหล่งมะพร้าวชั้นเยี่ยมจริง ๆ

 

        แม้จะขายกะทิสำเร็จรูปได้แล้ว แต่ความฝันของครอบครัวเทพผดุงพรก็ยังไม่หยุดอยู่เท่านั้น “ถ้าขายในไทยได้ เราก็ต้องไประดับโลกให้ได้!!” ทำให้ต่อมาในปี 2531 พวกเขาจึงก่อตั้งบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง เพื่อปั้นให้เป็นธุรกิจอาหารชั้นนำระดับโลก

        โดยยังคงตั้งต้นจากวัตถุดิบที่หาได้จากภาคการเกษตรของไทย ทั้งมะพร้าว ข้าว เครื่องแกง สมุนไพรไทย ในหลากหลายรูปแบบผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งปัจจุบัน มีสินค้ากว่า 200 ชนิด และสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก ภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาวเกาะ รอยไทย แม่พลอย วี-ฟิท หรือ กู๊ดไรฟ์

 

        ลองมาสำรวจรายได้ล่าสุดของกลุ่มธุรกิจสักหน่อย เริ่มจากงบการเงินปีล่าสุด บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด มีรายได้ประมาณ 6,800 ล้านบาท ทำกำไร 1,050 ล้านบาท ส่วนงบการเงินปีล่าสุด บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด มีรายได้ประมาณ 2,800 ล้านบาท ทำกำไร 80 ล้านบาท ซึ่งระดับกำไรที่ได้นั้น ก็พอจะเรียกว่ากะทิชาวเกาะ เป็นบริษัทหมื่นล้านได้เช่นกัน

        ลูกค้ากลุ่มใหญ่ ๆ ที่บริโภคก็คือ สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, จีน และอังกฤษ ซึ่งกำลังมีประเด็นเรื่องแบนผลิตภัณฑ์กะทิ จากเหตุผลว่าใช้แรงงานลิงปีนเก็บมะพร้าวนั่นเอง 

        แม้ยอดการส่งออกมะพร้าวไทย จะเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่ถ้านับเฉพาะสินค้าอย่าง “กะทิ” แล้ว ถือว่าไทยเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว

ชมคลิป

คลิปเปิดไม่ออก >>>>> กดตรงนี้ คลิ๊ก !!!! <<<<<

ที่มา : thairathbillionmindset