เช็กสักนิด! "อาการนอนเท่าไรก็ไม่พอ" นอนเยอะแต่ยังเพลีย แพทย์ชี้อาจไม่ปกติ

LIEKR:

อย่าชะล่าใจ นอนเท่าไหร่...ก็ไม่รู้จักพอ

    เรามักจะเจอคนบางคนมีอาการ นั่งที่ไหนก็ง่วงหลับที่นั่น ทั้งๆที่ไม่ได้อดหลับอดนอนมา หลับแล้ว ตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกว่านอนไม่พอ ยังอยากจะหลับต่อ คนที่มีลักษณะเช่นนี้มักไม่ค่อยจะสดชื่น มีแต่ความรู้สึกอยากจะนอนทั้งวัน แต่มักจะตื่นง่าย หลังจากตื่นก็ขอนอนหลับต่อ 

    บางคนแม้จะนอนเยอะ แต่เมื่อตื่นมาแล้วจะปวดหัว เพลีย แถมยังรู้สึกง่วงไปตลอดทั้งวัน บางคนมีอาการหลับในวงสนทนาไปเลยก็มี ใครมีอาการนอนเท่าไรก็ไม่พอแบบนี้ลองมาเช็กซิว่า ป่ว ยโรคนอนเกิน หรือ Hypersomnia อยู่หรือเปล่า ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบันถือว่าเป็นความผิดปกติเลยทีเดียวลักษณะแบบนี้ 

โรคนอนเกิน (Hypersomnia) คืออะไร

    โรคนอนเกิน หรือ Hypersomnia จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง โดยมักจะเกิดในคนขี้เซา ปลุกไม่ยอมตื่นง่าย ๆ เหมือนนอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่มสักที ทั้งนี้คนที่มีภาวะนอนเกินมักจะมีอาการตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ง่วงระหว่างวัน เฉื่อยชา อ้วนง่าย หรือมีอาการหลับได้ทันทีแม้จะนั่งพูดคุยกันอยู่ดี ๆ หรือหลับได้ทั้ง ๆ ที่ยังกินข้าวอยู่ เป็นต้น

นอนเยอะเกินไป สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

    โรคนอนเกินเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

    1. อดนอนบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะพักผ่อนไม่เพียงพอ จนนอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่มสักที

    2. นอนกรน ซึ่งมักจะมีภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดี เกิดปัญหานอนไม่เต็มอิ่ม

    3. Jet lag หรือภาวะนาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เดินทางข้ามประเทศที่มีเวลาต่างจากบ้านเรามาก ๆ บ่อยครั้งหรือเป็นประจำ

    4. ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในร่างกายไม่ปกติ ทำให้ร่างกายนอนมากเกินไป

    5. สมองได้รับบาดเจ็บหรือมีโรคเกี่ยวกับทางสมองต่าง ๆ

    6. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม เป็นต้น

อาการแบบไหนที่เรียกว่านอนเยอะเกินไป !

    บางคนสงสัยว่านอนมากขนาดไหนที่จะเรียกว่านอนเยอะเกินไป งั้นเรามาเช็กอาการของโรคนอนเกินเลยดีกว่า

    1. ขี้เซา หลับแล้วตื่นยากมาก ๆ

    2. มีอาการง่วงระหว่างวัน และมักจะงีบหลับวันละหลายครั้ง

    3. เฉื่อยชา สมองล้าเหมือนนอนไม่พอ

    4. หัวสมองไม่แล่น ทำงานหรือเรียนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

    5. มีอาการหงุดหงิด สับสนเมื่อถูกปลุกในระหว่างที่หลับ

    6. นอนได้ทั้งวัน เรียกว่าตื่นมากินแล้วก็นอนต่อได้เลย

    7. อ้วนง่ายผิดปกติ แม้จะกินอาหารไม่เยอะก็ตาม

    8. ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น อยากนอนต่ออีก แม้ก่อนหน้านี้จะนอนเยอะแค่ไหนก็ตาม

    9. คนที่มีอาการหนักอาจงีบหลับในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น หลับในขณะกินข้าว หลับทั้งๆ ที่ยังคุยกับบุคคลอื่นอยู่ ถ้ามีอาการดังกล่าวก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้ไวเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการนอนผิดปกติของเราให้ชัดเจน

นอนเยอะเกินไป ส่งผลเสียได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง !

    นอนเยอะ ๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป อย่างการนอนเยอะเกินไปของโรคนอนเกิน ก็ส่งผลเสียให้ร่างกายได้ตามนี้เลย

1. สมองเฉื่อยชา

    มีภาวะสมองล้า กลายเป็นคนไม่กระฉับกระเฉง ไม่มีชีวิตชีวา มีอาการเซื่องซึมเพราะรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา

2. เสี่ยงโรคกระดูกพรุน ข้อเสื่อม

    ด้วยพฤติกรรมนอนหลับเยอะเกินไป ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ไม่มีความคล่องตัว จึงอาจส่งผลเสียให้มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ข้อเสื่อม มากกว่าปกติ

3. อ้วนง่าย

   คนที่ป่วยโรคนอนเกินส่วนมากจะมีพฤติกรรมกินแล้วนอน ไม่ค่อยได้ลุกไปทำกิจกรรมอะไรเท่าไร ทำให้อ้วนง่าย น้ำหนักตัวมากขึ้นแม้จะกินเท่าเดิมก็ตาม

4. เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

     งานวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์ ชิคาโก เผยว่า คนที่นอนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน จะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึง 10% และมีความเสี่ยงต่ออาการเจ็บหน้าอกมากกว่าปกติประมาณ 2 เท่าเลยทีเดียว

    นอกจากนี้ผลการศึกษาจาก Nurse’s Health ยังพบว่า ผู้ที่นอนหลับมากกว่า 8 ชั่วโมง มีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าคนที่นอนปกติถึง 38%

5. ไม่สดใส ไม่มีชีวิตชีวา

    การนอนเยอะเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดได้ง่าย เพราะพฤติกรรมการนอนของตัวเองอาจส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ

6. สมองทำงานช้าลง

    ผลการศึกษาจาก United Kingdom เผยว่า พฤติกรรมการนอนหลับที่มากเกินปกติเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตัน (Stroke) และอาจส่งผลให้การทำงานของสมองช้าลงกว่าที่ควรจะเป็นด้วยนะคะ

7. ตั้งครรภ์ยากขึ้น

    ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมนอนน้อยหรือพฤติกรรมนอนเกิน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย ลามไปถึงการตกไข่ของคุณผู้หญิงผิดปกติไป ด้วยเหตุนี้หากเรามีพฤติกรรมนอนเกินหรือนอนน้อยบ่อย ๆ โอกาสที่ร่างกายจะสมบูรณ์พร้อมที่จะมีบุตรก็อาจเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญยังอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติอีกต่างหาก

8. เสี่ยงโรคเบาหวาน

    จากการสำรวจจะพบว่า คนที่นอนมากเกินไปมักจะมีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี เช่น อาจจะหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติไป และอาจส่งผลต่อการทำงานของตับอ่อน อวัยวะที่ควบคุมการผลิตอินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานขึ้นมาได้ง่าย ๆ เลย

9. เสี่ยงโรคซึมเศร้า

    ถ้าเรามีภาวะนอนหลับมากเกินไป ง่วงซึมทั้งวัน รวมไปถึงมีอาการเบื่อ ๆ ไม่อยากลุกมาทำอะไรเลยเอาแต่นอน นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเรามีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ก็ได้ ยิ่งถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า มีความคิดอยากจบ ๆ ชีวิตนี้ไป ไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ด่วนเลยค่ะ

10. เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

     งานวิจัยในปี 2010 พบว่า ผู้ที่นอนหลับทั้งนานเกินไปและน้อยเกินไปมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยผู้ที่นอนหลับนานกว่า 8 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่นอนตามปกติถึง 3 เท่า !

นอนเยอะเกินไป แก้ได้ไหมนะ

    จริง ๆ แล้วโรคนอนเกินสามารถรักษาได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมการนอนหลับ แต่ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของการนอนเกินที่เราเป็น จะได้รักษาได้อย่างตรงจุดนั่นเอง

ปรับพฤติกรรมการนอนให้มีคุณภาพ เราทำได้ไม่ยากเลย

     ใครอยากลองนอนให้มีคุณภาพ เรามีเคล็ดลับนอนหลับเพื่อสุขภาพที่ดีมาบอกต่อ

    * ควรรับประทานอาหารก่อนเวลาเข้านอน 4 ชั่วโมง และงดอาหารหนัก ๆ ย่อยยาก เช่น เนื้อ อาหารไขมันสูง ซึ่งจะทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาย่อยอาหารเหล่านี้นาน

    * งดน้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ทำให้ง่วงซึมตลอดทั้งวัน

    * งดใช้เครื่องมือสื่อสารก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวเข้าสู่ช่วงนอนหลับพักผ่อน

    * ไม่เอาเรื่องเครียดมาใส่สมอง ควรทำตัวให้ผ่อนคลาย ที่สำคัญคืออย่าหอบงานมาทำที่บ้านจนดึกดื่น

    * จัดห้องนอนให้โปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทดี แสงไฟไม่จ้าจนเกินไป ให้เหมาะสมกับการนอน และควรทำความสะอาดหมอน ผ้าห่ม เครื่องนอนต่าง ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ

    * ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของร่างกาย และช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด

    * พยายามเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

         10 ข้อดีของการนอนก่อน 4 ทุ่ม รู้แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมด่วน !

    * พยายามนอนหลับและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน เป็นการรีเซตนาฬิกาของชีวิตใหม่

    * ดื่มนมอุ่น ๆ 1 แก้วก่อนนอน เพื่อให้สมองสร้างฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสมองที่ช่วยให้เราหลับได้ง่ายขึ้น 

    * เปิดเพลงคลอเบา ๆ หรือฟังเสียงธรรมชาติก่อนนอน ให้คลื่นเสียงช่วยกล่อมให้นอนหลับสบาย

    * ทำสมาธิ หรือสวดมนต์ก่อนนอน สัก 5-10 นาที จะช่วยให้จิตใจสงบ ทำให้หลับสนิท

    ไม่น่าเชื่อว่าแค่ชอบนอน นอนเยอะเกินไป จะส่งผลต่อสุขภาพมากมายขนาดนี้เลย เพื่อนๆต้องคอยปรับและเช็กตัวเองกันด้วยนะ

ข้อมูลและภาพจาก kapook