พระมหาออกโรงเสนอแนะ การทำบุญ ให้ได้บุญจริงๆ คุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุด

LIEKR:

พระมหาออกโรงเสนอแนะ วิธีทำบุญให้ได้บุญจริงๆ คุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุด

        พระมหาชุมพร รำไพ แห่งวัดเหล่าอาภรณ์ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้ฝากข้อคิดผ่านเฟซบุ๊ก ชุมพร รำไพ ที่ใช้สำหรับเป็นช่องกระจายข่าวสาร โดยพูดถึงเรื่องการทำบุญให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายสูงสุด ทำบุญความดีให้ได้บุญจริง ๆ ไม่ใช่ทำให้สบายใจคนทำ แต่เป็นภาระกับทางวัด เป็นประเด็นที่ชวนให้เก็บไปคิด

        เห็นภาพสิ่งของที่คนซื้อมาถวายพระจากโพสต์ของครูบาอาจารย์แสดงว่าชาวบ้านยังทำบุญไม่คุ้มค่าจึงขอนำวิธีแก้ปัญหาที่ข้าพเจ้าและวัดเหล่าอาภรณ์ทำได้จริงมาเป็นสิ่งชวนคิดในครั้งนี้ ข้อเสนอสามสิ่งใช้ทำบุญได้จริงในทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะ "วัด"

 

Sponsored Ad

 

1) อาหาร

        ใครอยากทำบุญเป็นประโยชน์และไม่เกิดโทษต่อร่างกายก็แค่ถามผู้รับง่าย ๆ ว่า “วันนี้กินอะไรดีครับ, รับอะไรดีคะ, ยินดีซื้ออาหารเลี้ยงนะ, เณรกับพระอยากฉันอะไรจะจัดให้ทันที” ถามแบบนี้ประหยัดเงินทองไม่ต้องซื้อของมากองทิ้งไว้ให้รกวัด ทำบุญฉลาดอาหารสะอาดบิณฑบาตสบายกินง่ายสะดวก

2) แรงงาน

 

Sponsored Ad

 

        ใครอยากมีความสุขและสนุกทำบุญขอสนับสนุนให้ใช้แรงงานโดยการถามคนอื่นว่า “มีอะไรให้ช่วยมั้ยครับ, รับคนทำงานเพิ่มมั้ยคะ, ยินดีช่วยเหลือนะ, เณรกับพระอยากให้ช่วยอะไรจะรีบไปทันที” ถามแบบนี้ประหยัดเงินทองไม่ต้องซื้อของมากองเป็นขยะรกวัดและจะภูมิใจที่ได้จัดสิ่งดีๆ ด้วยแรงงานอันเป็น สังฆทานคือการเสียสละเพื่อส่วนรวม

3) เงิน

 

Sponsored Ad

 

        เงินทองเป็นของหายากจึงควรบริจาคในสิ่งที่จำเป็น เปลี่ยนค่านิยม “ใส่บาตรอย่าถามพระ” เป็น “คุยกันก่อนนะค่อยซื้อมาถวาย” ฝึกถามกันง่าย ๆ ว่า “มีเงินพอใช้มั้ยครับ, รับเงินเพิ่มเติมมั้ยคะ, มีอะไรบอกได้เลยนะเงินส่วนนี้ยินดีมอบให้” จะทำบุญสนับสนุนใครเอาเงินให้เขาโดยตรงจะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ของงานได้เร็วขึ้น

ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่ควรคิดเวลาทำบุญ

        เศรษฐกิจขั้นพื้นฐานคือการใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่าแล้วสนับสนุนเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาคือการปฏิบัติธรรมนำพาชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม 

 

Sponsored Ad

 

        ข้าพเจ้าพระมหา ชุมพร รำไพ ได้เสนอแนวคิดนี้ไว้ให้คนเอาไปทำบุญสนับสนุนวัดมาแล้วหลายปีปรากฏว่ามีคนตอบรับมากมายและล้วนยืนยันว่าใช้ได้จริง ยังไม่มีใคร วัดไหน หน่วยงานใดปฏิเสธสามสิ่งนี้เลย จึงขอประกาศให้ทราบว่าถ้าใครติดต่อขอเอาอาหาร แรงงาน เงิน ไปทำบุญที่ไหนแล้วเขาไม่รับก็ให้รีบติดต่อข้าพเจ้าทันทีเพราะที่นี่เน้นทุกวันให้ความสำคัญทุกเวลาโดยยึดหลักว่า ขอสามคำค้ำวัดเราเหล่าอาภรณ์ จึงสอนกันว่า “อาหาร แรงงาน เงิน เพลิดเพลินทำบุญ สนับสนุนวัดเรา เหล่าอาภรณ์ให้สอนธรรม นำศีล สมาธิ ปัญญา มาใช้พัฒนา ทั้งชีวิตส่วนตน และชุมชนของเรา”

 

Sponsored Ad

 

        ปกติแม้วัดเราจะไม่เรี่ยไรแต่ก็มีการเดินไป “หม่องผ้า” ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตตำบลเดียวกันอันเป็นการตีฆ้องร้องป่าวประกาศข่าวงานบุญตามประเพณีปีละครั้งหลังออกพรรษาเพื่อขอรับบริจาคเงิน ข้าวสาร อาหารต่าง ๆ และเชิญชวนคนมาร่วมงานบุญถวายอัฏฐบริขารซึ่งหมู่บ้านอื่นมักจัดเป็นงานบุญกฐิน

        แต่ปีที่ผ่านมาเห็นว่าชาวบ้านเสียหายหนักจากภัยน้ำท่วมข้าพเจ้าจึงขอให้ญาติพี่น้องผู้เป็นเจ้าภาพถวายกฐินงดการ “หม่องผ้า” และให้วัดเหล่าอาภรณ์งดงานบุญถวายอัฏฐบริขารไว้ก่อนหนึ่งปี

 

Sponsored Ad

 

        วันนี้มีมติชัดเจนแล้วว่าวัดเหล่าอาภรณ์จะทำปฏิทินงานบุญประจำปีทั้งส่วนที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและส่วนที่รักษาประเพณีโดยมุ่งสาระไปที่เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจสารธรรมมากกว่าพิธีกรรมที่ทำสืบ ๆ กันมาบังคับลูกหลานว่า มันเป็นประเพณี ซึ่งไม่ใช่วิธีที่จะเกิดประโยชน์ต่อบุคคลและชุมชนของเราเลย

        จึงขอแจ้งให้ทราบว่าวัดเราไม่ได้รังเกียจหรือต่อต้านที่ผู้จัดงานต่าง ๆ มาขอรับบริจาคหากเห็นเป็นประโยชน์ก็ยินดีสนับสนุนแต่วัดเราเองยืนยันตามแนวทาง งดการเรี่ยไรแล้วรับเฉพาะปัจจัยที่มีผู้ตั้งใจบริจาคมา ขอถือโอกาสอนุโมทนาบุญขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันสนับสนุนวัดเหล่าอาภรณ์เสมอมาและหวังว่าบางเรื่องจากมติที่ประชุมครั้งนี้จะมีข้อคิดดี ๆ สำหรับใครหลายคน

Sponsored Ad

เบื้องหลังบางเรื่องของการไม่ให้เรี่ยไร

        1) ไม่รู้ว่าใครเต็มใจจะให้เราหรือเปล่า การเอาซองไปแจกเขาจึงเป็นการบังคับให้ผู้รับยากปฏิเสธ ยิ่งถ้าผู้แจกตั้งหน้าตั้งตารอยิ่งเป็นการบังคับและหากเก็บซองกลับคืนมาไม่ครบก็ผิดใจกันอีก

        2) แม้แต่คนที่เคยเต็มใจให้ก็อาจเปลี่ยนใจได้ ตอนที่ปวารณานั่นคือเขามีศรัทธาแล้วรู้ได้ไงว่าเมื่อเวลาผ่านมานานเขายังต้องการจะให้เราหรือเปล่า ขนาดคนเคยรักจนแต่งงานกันก็ยังมีวันรักสลายแล้วนับประสาอะไรกับการปวารณา

        3) เคยถูกมอบหมายไปยื่นหนังสือขอเงินจากบริษัทห้างร้านที่ปวารณาปรากฏว่าเขาจำการปวารณาไม่ได้ และบางที่ไม่มีเจ้าของร้านพนักงานก็ลำบากใจในการที่จะคุยกับเราเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของเงิน

        4) เคยร่วมแกะซองผ้าป่าหน้าซองเขียนว่า 1,000 บาท แต่พอเปิดออกมาปรากฏว่ามีเงินแค่ 100 บาท กรรมการวัดก็กล่าวหาว่ามีคนไม่ซื่อตรงโกงเอาเงินไปก่อนแล้ว

        5) ในชีวิตสามเณรพบเห็นความลำยากยากจนของชาวบ้านเพราะรับบิณฑบาตและรับส่งปิ่นโตในชุมชนทุกวัน ชอบนั่งรถสองแถวโดยสารสัมผัสชีวิตชาวบ้าน สนทนากับคนขายของที่ต้องกู้หนี้รายวัน พบเจอพวกรับจ้างทวงหนี้ที่รู้สึกว่าตัวเองบาปแต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด

        6) พระเณรพากันถือกระสอบออกไปรับบริจาคข้าวเปลือกตามประเพณีท้องถิ่นและมีครั้งหนึ่งข้าพเจ้าก็ได้ยินบทสนทนาอันพิลึกกึกกือ ฮ่าๆๆ

        ผัว : เอาเงินมาบริจาคแหน่เฒ่า เฮือนเฮาบ่มีข้าวสิออกบุญนำหมู่

        เมีย : สิเอาเงินไสมาออกบุญ มึงเอาไปสิแตกเหล้าเบิ๊ดแล้ว

        ผัว : เอามา ๆ ยี่สิบบาท อย่าเว้าหลายอายเณรเพิ่นแหน่

        เมีย : เรื่องมากแม่มึงแท้ อ่ะนี่ เอาไปโลดร้อยหนึ่ง

        - ผัวยกเงินท่วมหัวอธิษฐานเสียงดังว่า “สาธุเด้อ เกิดชาติหน้าอย่าให้ผู้ข้าได้เมียขี่ถี่”

        ข้าพเจ้านี่ขำลั่นแล้วรีบรับเงินนั้นเดินจากไปเพราะกลัวเขาจะเปลี่ยนใจถามหาเงินทอน ฮ่า ๆ

        7) พระผู้ใหญ่ที่ได้รับยศใหม่แจ้งเจ้าภาพไปว่าในวันจัดงานจะถวายพระผู้มาเป็นประธานพิธี 50,000 บาท แต่พอใกล้ถึงวันงานพระที่รับยศขั้นต่ำกว่าก็บอกว่าจะถวายเท่ากันพระคุณท่านเลยขอเจ้าภาพเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท ข้าพเจ้าถึงกับอนาถใจไร้ที่พึ่งเมื่อพบเหตุการณ์ครั้งนั้นแต่ก็คิดว่าพระกับเจ้าภาพคงคุ้นเคยกันจึงขอกันได้ซึ่งเมื่อรู้ข้อมูลวงในก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหากแต่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่ทำมาหากินรับเหมาก่อสร้างอย่างแทบจะผูกขาดกับวัดใหญ่ ๆ ที่พระได้ยศใหม่นั่นเอง

        8) อาจารย์ของข้าพเจ้ารูปหนึ่งทำเงินที่เตรียมไว้ถวายพระผู้ใหญ่หายไปในวันฉลองตำแหน่งซึ่งนับว่าน่าเห็นใจมากแต่เมื่อเสร็จงานท่านก็พยายามปลดหนี้หาวิธีจนมีเงินเท่าจำนวนนั้นไปถวายพระผู้ใหญ่ตามที่แจ้งไว้ตั้งแต่วันงานซึ่งพระผู้ใหญ่ก็รับเงินนั้นไว้หน้าตาเฉยโดยไม่เอ่ยถามถึงความลำบากหรือคืนเงินให้แม้แต่บาทเดียว ฮ่า ๆ ใต้เสียงฮ่า ๆ อาจมีน้ำตาซ่อนอยู่ อิอิอิ

        9) ขณะนั่งฉันข้าวอยู่กับอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมีบุญคุณต่อข้าพเจ้ายาวนานก็มีชาวบ้านที่มาถวายอาหารบอกท่านตรง ๆ ต่อหน้าว่าการแจกซองผ้าป่าทุกปีทำให้ลูกหลานหลายที่ลำบากใจหาเงิน อาจารย์ถึงกับหน้าชาแต่ก็ชี้แจงว่า “อย่าพูดในทางไม่ดีเลย เรามันวัดบ้านนอกถ้าไม่อาศัยลูกหลานที่ไปทำงานไกล ๆ จะได้เงินจากที่ไหนมาพัฒนาวัด สร้างไว้ให้แล้วก็ไม่เอาไปด้วยหรอกก็สร้างไว้เพื่อวัดบ้านของเรานี่แหละ” ข้าพเจ้ากลืนข้าวไม่ลงเพราะโยมเองก็พูดไม่หยุด เป็นครั้งหนึ่งที่สะดุดความรู้สึกลึก ๆ อย่างมากและคิดหนักกับการบริหารงานวัดพอสมควร

        10) เติบโตมาในสังคมวัดประจำหมู่บ้านจึงเห็นการบริหารงานของครูบาอาจารย์หลากหลายรูปแบบซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่เมื่อถึงคราวที่ต้องนำทีมบริหารงานวัดจึงจัดระเบียบไว้ว่า ไม่ให้ทำการเรี่ยไรแต่ให้รับเฉพาะปัจจัยที่คนตั้งใจบริจาคมา ไม่ใช่ว่าอวดเก่งเคร่งครัดธรรมวินัยแต่ชีวิตจริงสอนให้เห็นใจชาวบ้านดังประสบการณ์บางเรื่องที่เล่ามา

        ยิ่งไปบังคับให้เขาใส่ชุดขาวเขาจะยิ่งก้าวออกจากความเป็นพุทธแต่ถ้ายิ่งฝึกใจเราให้บริสุทธิ์เขาจะสัมผัสความเป็นพุทธได้ดีเอง

โพสต์ดังกล่าว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก ชุมพร รำไพ, talokla