เปิดที่มา พระมาลาทรงเบเร่ต์ ของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เป็นผ้าปักฝีมือชาวไทยภูเขา แรงบันดาลใจจากทูลกระหม่อมย่า

LIEKR:

พระมาลาทรงเบเร่ต์ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงงดงามตามรอยทูลกระหม่อมย่า

    ปีติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงหมวกเบเรต์ฝีมือชาวไทยภูเขา ทอดพระเนตรโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ โดยทางเพจเฟซบุ๊กโครงการหลวง ได้โพสต์รูปภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา 

    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นตั้งพระทัยในการทอดพระเนตรแปลงรวบรวมและผลิตกุหลาบในโรงเรือน ที่หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้นำพันธุ์กุหลาบตัดดอกจากต่างประเทศมาศึกษาวิจัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2545

    และเสด็จไปทอดพระเนตรงานวิจัยประมงบนพื้นที่สูง โดยมูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับกรมประมง ทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ และปลาสเตอร์เจียน จนสามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์เป็นผลสำเร็จ ทำให้ลดการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ

    นอกจากพระองค์จะมุ่งมั่นตั้งพระทัยในการทอดพระเนตรและทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก คือพระสไตล์อันงดงามและดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

    พระมาลาทรงเบเร่ต์สีม่วงลวดลายอ่อนช้อย ที่แมตช์อย่างลงตัวกับฉลองพระองค์แบรนด์ Chanel รวมถึงพระกระเป๋าเป้สีแดงก็เป็นของแบรนด์ Chanel เช่นกัน ส่วนเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ฉลองพระเนตรกันแดด รัดพระองค์ และฉลองพระบาท เป็นของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ซึ่งเป็นแบรนด์ในพระองค์เอง

โดยที่มาของพระมาลานี้ ทางพจ Queen Sirikit Museum of Textiles ได้เปิดเผยข้อมูลว่า...

    "พระมาลาทรงเบเร่ต์นี้ตัดเย็บจากผ้าปักชาวไทยภูเขา และเป็นผลงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากพระมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่นิทรรศการ 'ด้วยพลังแห่งรัก' ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ"

    อีกทั้งพระมาลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสวมใส่นี้ ยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หากใครสนใจและอยากสนับสนุนสินค้าฝีมือคนไทย ก็สามารถสอบถามหรือสั่งซื้อได้เลยที่ โทร. 0-2225-9430 ต่อ 400 และสามารถอินบ็อกซ์ไปที่ https://www.facebook.com/qsmtshop/หรือแอดไลน์ @qsmtshop

.

ที่มา : Queen Sirikit Museum of Textiles, โครงการหลวง, praew