"น้องน้ำเพชร" เผยเทคนิค คว้า ป.โท นิติศาสตร์ ด้วยวัย 21 ปี รอสอบผู้พิพากษาต่อเลย!

LIEKR:

"น้องน้ำเพชร" เผยเทคนิค คว้า ป.โท นิติศาสตร์ ด้วยวัย 21 ปี รอสอบผู้พิพากษาต่อเลย!

        เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างที่ดีในการศึกษาเล่าเรียนอย่างมาก เพราะเรียนจบระดับปริญญาตรีด้วยวัยเพียงแค่ 18 ปีเท่านั้น สาวน้อยคนนี้มีชื่อว่า ‘น้องน้ำเพชร’ น.ส.ประวีณ์ธิดา จารุนิล นักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่เข้าเรียนในระบบ Pre- degree ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจบ ม.6 และเทียบโอนเหลืออีก 4 วิชาเท่านั้น

        สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้น้องน้ำเพชร เลือกเรียนระดับอุดมศึกษาให้เร็วกว่าเพื่อนคนอื่นนั้น เนื่องจากว่าเธออยากเรียนให้จบปริญญาตรีเร็วๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนต่อปริญญาโทได้เร็วขึ้น รวมทั้งคุณพ่อของเธอก็แนะนำมาเช่นกัน

 

Sponsored Ad

 

        ‘น้องน้ำเพชร’ น.ส.ประวีณ์ธิดา จารุนิล นักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

        “ข้อดีของการจบปริญญาตรีเร็ว ทำให้พัฒนาตัวเองมากขึ้น รู้จักจัดสรรเวลาในการอ่านหนังสือ เพราะเราก็ต้องมีความพยายามและความอดทนที่จะมีเวลาพักน้อยลง แต่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น เพราะว่าถ้าเราเรียนจบปริญญาตรีเร็วก็มีโอกาสจะไปต่อปริญญาโทได้เร็วขึ้น มีโอกาสไปเรียนอย่างอื่นได้มากขึ้น และทำให้มีประสบการณ์มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน” น้องน้ำเพชร เล่าถึงข้อดีของระบบ Pre- degree

 

Sponsored Ad

 

        นอกจากนี้ ชีวิต ม.ปลาย ของน้องน้ำเพชรก็ใช้อย่างเต็มที่ไปเที่ยวกับเพื่อนปกติ โดยรู้จักการแบ่งเวลา ซึ่งช่วงเวลาหลังเลิกเรียนม.ปลาย ก็จะกลับบ้านมาทำการบ้าน อ่านหนังสือสอบ เพราะว่าเรียน Pre- degree จะใช้เวลาแค่ช่วงปิดเทอม ซึ่งเวลาสอบจะตรงกับช่วงปิดเทอมพอดี เพราะฉะนั้น ช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมน้องน้ำเพชรก็จะใช้เวลาอ่านหนังสือที่จะไปสอบกฎหมายแทน โดยการซื้อหนังสือมาอ่านเอง และซื้อข้อสอบเก่ามาฝึกทำ

        การเริ่มเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วยวัยเพียงแค่ 15 ปีนั้น มีความพร้อมแค่ไหน โดยน้องน้ำเพชร ตอบว่า “หนูคิดว่าหนูพร้อมที่จะเรียนค่ะ ซึ่งก็มีเพื่อนๆ เรียนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเรียนถึงชั้น ม.5 พอ ม.6 ก็จะเลือกไปสอบแอดมิดชั่นกัน และหนูก็สอบตรงติดคณะทันตแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ได้ตัดสินใจที่จะเลือกเรียนกฎหมาย เพราะว่าชอบกฎหมายมากกว่าค่ะ”

 

Sponsored Ad

 

‘น้องน้ำเพชร’ จบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ด้วยวัยเพียง 18 ปี

        “หากถามว่าเสียดายไหมที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ หนูก็เสียดายเหมือนกันค่ะ แต่ที่ ม.รามคำแหง ก็มีรับน้องเหมือนกัน ซึ่งแล้วแต่ว่าเราจะไปรับน้องตอนปีไหน ก็จะมีกิจกรรมให้ร่วม”

        อย่างไรก็ตาม น้องน้ำเพชร วางแผนในอนาคตไว้ว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรี จะสานต่อปริญญาโทกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนเนติบัณฑิตต่อไป เพื่อที่จะสอบผู้พิพากษาและสอบอัยการ เพราะว่าความใฝ่ฝันของน้องน้ำเพชรอยากเป็นผู้พิพากษาเพราะเป็นอาชีพที่รักษาความยุติธรรมให้กับสังคม

 

Sponsored Ad

 

        กระนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับระบบ Pre-degree คืออะไร เรียนอย่างไร ทำไมจบปริญญาตรีได้เร็ว มีดีแค่ไหน ทำไมใครๆ ถึงอยากเรียน ?

        หลักสูตรพรีดีกรี ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดโอกาสให้เด็กๆ

ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.รามคำแหง

 

Sponsored Ad

 

        หลักสูตรการศึกษา Pre-degree คือ ?

        ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.รามคำแหง อธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์เกี่ยวกับหลักสูตร Pre-degree ที่ริเริ่มมาแล้วหลายปี ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าเด็กคนใดที่มีศักยภาพเรียนวิชาในระดับปริญญาตรี ก็สามารถที่จะมาลงทะเบียนเรียนได้ ซึ่ง Pre-degree เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้เรียนปริญญาตรีล่วงหน้า โดยใช้วุฒิ ม.3 และกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นม.ปลาย หรือ ปวช. ปวส. และ กศน. จากนั้น เมื่อจบการศึกษาชั้น ม.6 จึงจะสมัครเป็นนักศึกษาภาคปกติ โดยเทียบโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ตอนเรียน Pre- degree เพื่อเรียนต่อจนครบตามหลักสูตรและสำเร็จการศึกษา

        สำหรับข้อดีของระบบ Pre-degree นั้น ทำให้เด็กที่มีศักยภาพและอยากจะเรียนมีโอกาสได้เรียนอย่างเต็มที่ และหลักสูตรนี้ยังช่วยเสริมในการเรียนระดับชั้น ม.ปลาย ของเด็กด้วย เนื่องจากเนื้อหาจะกว้างกว่าในหลักสูตรชั้น ม.ปลาย ทำให้เด็กเปิดโลกวิชาการมีความรู้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้สำเร็จการศึกษาได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาหลังจากเรียนจบ ม.6 เพียงแค่ 1 เทอม และไม่ได้ทิ้งมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา

 

Sponsored Ad

 

        กฎระเบียบของม.รามฯ ห้ามนำข้อสอบออกนอกพื้นที่

        ส่วนเกณฑ์คะแนนสอบของ หลักสูตร Pre-degree ส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบ 100% แบ่งเป็นเกรด A B C D เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ขณะที่บางรายวิชา อาจารย์มอบหมายงานให้ไปทำก็จะมีคะแนนงานด้วย เนื่องจากว่า ม.รามฯ ใครจะมาเรียนหรือไม่มาเรียนก็ได้ เด็กว่างก็จะมาเรียน และปัจจุบันนี้ก็มีวิชาปริญญาตรีในวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเด็กอยากมาเข้าเรียนก็ทำได้

        “เด็กที่มาเรียน ไม่ใช่ว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้เข้าเรียน เป็นเพราะกฎหมายปี 2514 ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้มหาวิทยาลัยบังคับให้เด็กเข้าเรียน เด็กจะอ่านหนังสือจากตำราที่มีแต่ละวิชา ม.รามฯ ทุกวิชาจะต้องมีตำรา เด็กจะซื้อหนังสือมาอ่านสอบก็ได้หรือจะฟังวิดีโอคำบรรยายในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็ได้” อธิการบดี ม.รามคำแหง ระบุ

Sponsored Ad

ร้านขายชีทเกลื่อนหน้าราม

        บทสรุป-แนวข้อสอบ สินค้าสุดฮิต เกลื่อนหน้าราม

        ต่อมา ทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจร้านขายหนังสือและชีทแนวข้อสอบบริเวณหน้า ม.รามคำแหง พบว่า ในร้านจะมีหนังสือของวิชาต่างๆ ให้นักศึกษาเลือกซื้อ ขณะที่ สินค้าสุดฮิตกลับเป็นเอกสารบทสรุปและแนวข้อสอบที่เย็บไว้เป็นชุดๆ ราคาประมาณ 30-60 บาท แล้วแต่รายวิชา ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มักจะซื้อคู่กันไป โดยอ่านสรุปเสร็จแล้วก็ฝึกทำข้อสอบ

        ทั้งนี้ พนักงานขายหนังสือ หน้า ม.รามคำแหง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า สำหรับวิชาพื้นฐานนักศึกษาส่วนใหญ่มักจะซื้อชีทมากกว่าหนังสือ โดยแต่ละวิชาจะประกอบไปด้วย ชีทบทสรุป จะเป็นเอกสารที่ย่อเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือและคาดว่าจะออกสอบมาให้เรียบร้อยแล้ว เน้นแต่สาระสำคัญ ไม่ต้องนั่งอ่านหนังสือเล่มหนาให้เสียเวลา และเฉลยข้อสอบ จะเป็นข้อสอบเก่าที่คนใน ม.รามคำแหง นำออกมาเผยแพร่

        “พี่ก็เรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ แต่ไม่ได้เข้าเรียนแค่ซื้อบทสรุปมาอ่านก็ทำข้อสอบได้แล้ว อ่านแค่บทสรุปกับแนวข้อสอบ 2 ฉบับก็พอ สอบได้แน่นอน ไม่ต้องไปติวก็ได้นอกจากว่าจะไม่เข้าใจจริงๆ” พนักงานขายหนังสือ บอกกับทีมข่าว

ชีทหน้าราม จากชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์

        ชีทจากชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์...ว่ากันว่าแม่นมาก !?

        ชีทดังกล่าวนั้น จะมี 2 ประเภท คือ ชมรมพ่อขุนประยุกต์ ถือว่าดังมากสำหรับเด็กราม พนักงานขายหนังสือเล่าว่า ชีทของชมรมพ่อขุนประยุกต์จะเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นชมรมที่สามารถนำข้อสอบเก่าออกมาเผยแพร่ได้ อีกทั้งบทสรุปและข้อสอบว่ากันว่าแม่นมาก นอกจากนี้ ยังมีชีทของติวเตอร์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาที่ในชมรมพ่อขุนประยุกต์ไม่ได้นำมาเรียบเรียงไว้

        “นักศึกษาบางคนเมื่อซื้อชีทของชมรมพ่อขุนประยุกต์ไปและไม่มีเนื้อหาในบางบทก็จะซื้อของติวเตอร์เสริมเข้าไปด้วย ก็แล้วแต่ว่านักศึกษาจะเลือกแบบใด หลักๆ จะซื้อของชมรมมากกว่า” พนักงานขายหนังสือ หน้า ม.รามคำแหง ระบุ

ชีทบทสรุปและแนวข้อสอบขายดีที่สุด

        เมื่อทีมข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า หากเป็นข้อสอบแบบอัตนัย จะมีชีทให้อ่านสอบบ้างไหม โดยพนักงานขายหนังสือ หน้า ม.รามคำแหง ให้คำตอบว่า หากเป็นวิชากฎหมายจะเป็นข้อสอบแบบอัตนัย จะมีชีทบทสรุปเนื้อหาจากในหนังสือและชีทข้อสอบเก่า ซึ่งข้อสอบก็จะมีเฉลยและแนวคำตอบไว้ให้นักศึกษาทำความเข้าใจ โดยถ้าอ่านเฉลยข้อสอบเก่า เมื่อไปทำข้อสอบจริงในห้องสอบก็สามารถทำได้ เนื่องจากว่าข้อสอบออกคล้ายๆ กัน

        นักศึกษา เผย ชีทหน้ารามตรงกับข้อสอบกว่า 100 ข้อ !?

        น้องเอ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) นักศึกษา ปี 2 ม.รามคำแหง เผยว่า วิธีเลือกซื้อสรุปและแนวข้อสอบให้ดูตามรายวิชา จะมีรหัสบอกอยู่ว่าเป็นวิชาอะไร หากเป็นของชมรมพ่อขุนประยุกต์ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวข้อสอบจริงๆ ของปีที่แล้ว จะตรงกว่า ส่วนที่เป็นบทสรุปและแนวข้อสอบของติวเตอร์จะไม่เคยซื้อ จะซื้อของชมรมพ่อขุนประยุกต์จะดีที่สุด

ชีทจากติวเตอร์ต่างๆ

        ขณะที่ น้องบี (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) นักศึกษา ปี 4 ม.รามคำแหง เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ถ้าเป็นของ ปี 1 วิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนจะออกตามบทสรุปและชีทแนวข้อสอบ โดยน้องบี แนะนำว่า ให้ซื้อของชมรมพ่อขุนประยุกต์มากกว่า โดยซื้อทั้งบทสรุปจากในหนังสือ รวมทั้งชีทแนวข้อสอบมาอ่านทั้งสองอย่าง เนื่องจากว่าทั้งบทสรุปและชีทแนวข้อสอบจะตรงกับข้อสอบจริงมาก

        “ข้อสอบปรนัยวิชาพื้นฐานของปี 1 รุ่นหนูจากข้อสอบจริง 120 ข้อ มีในชีทแนวข้อสอบและบทสรุปของชมรมพ่อขุนประยุกต์ ประมาณ 100 ข้อได้” น้องบี ยืนยันจากประสบการณ์

อธิการฯ ลูกพ่อขุน ปัด ข้อสอบไม่ซ้ำ ห้ามนำของเก่ามาเผยแพร่ !

        ด้าน อธิการบดี ม.รามคำแหง ปฏิเสธเรื่องข้อสอบเก่าที่เผยแพร่ออกมา โดยให้เหตุผลว่า กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยห้ามนำข้อสอบออกนอกพื้นที่ ส่วนข้อสอบที่นำมาเผยแพร่ให้นักศึกษาซื้อไปอ่านนั้นไม่ทราบว่าตั้งแต่สมัยใดแล้ว อีกทั้งยังไม่ทราบว่า ชมรมพ่อขุนประยุกต์ ผู้ทำบทสรุปและแนวข้อสอบหน้ารามเป็นใคร

        แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสอบของม.รามคำแหงในแต่ละเทอมจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งในกติกาของมหาวิทยาลัยระบุไว้ว่า อาจารย์ทุกวิชาจะต้องเปลี่ยนข้อสอบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ข้อสอบจะไม่ซ้ำกัน และมหาวิทยาลัยก็ไม่อนุญาตให้นำข้อสอบออกไปเผยแพร่โดยเด็ดขาดด้วย

ชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์ ผู้ทำชีทเผยแพร่

       ร้านขายชีทชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์ ลั่น ไม่รู้เรื่องข้อสอบเก่า แค่รับมาจัดพิมพ์ขายเท่านั้น !

        ทีมข่าวได้ติดต่อไปยังร้านขายชีทชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์ ปลายสายให้คำตอบว่า เป็นฝ่ายที่รับชีทต้นฉบับจากคนที่เอามาขายให้เท่านั้น และทำการจัดพิมพ์ส่งขายต่อ ไม่ทราบว่าคนที่เอาชีทมาขายให้เป็นใครและไม่มีเบอร์ติดต่อ พร้อมระบุว่า ไม่ทราบเรื่องการนำข้อสอบเก่าของม.รามคำแหง มาเผยแพร่แต่อย่างใด

        เลขาฯ กกอ. เผย จบเร็ว วุฒิภาวะไม่พอ !?

        การเริ่มเรียนปริญญาตรีเร็วขึ้น ด้วยอายุเพียง 15-16 ปี เป็นผลดีกับเด็กจริงหรือไม่ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า หลักสูตร Pre-degree เหมาะสำหรับเด็กที่มีศักยภาพพิเศษเท่านั้น หากต้องการเปิดโอกาสให้เด็กเรียน อาจจะต้องจำกัดให้เรียนได้เฉพาะในรายวิชาปี 1 หมวดรายวิชาพื้นฐานทั่วไป ไม่ควรจะให้เรียนลึกมากเกินไปกว่านี้

        รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

        ด็กจบมาจะมีคุณภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวของเด็กเองด้วยว่าได้รับความรู้จากการเรียนในหลักสูตรนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแม้ว่าจะได้วุฒิปริญญาตรีภายในอายุ 18 ปี แต่วุฒิภาวะอาจจะยังไม่ถึง ความสามารถในการตัดสินใจอาจจะยังไม่ดีเท่าเด็กที่จบปริญญาตรีตอนอายุ 22 ปีก็ได้

        “ถ้าเด็กอัจริยะจริงผมมองว่าอาจเป็นสิ่งดีสำหรับเขา เพราะว่าเขาเรียนในระบบปกติไม่ได้ก็ต้องไปเรียนแบบนี้ แต่ว่าถ้าเป็นเด็กปกติผมยังคิดว่าน่าจะเรียนไปตามขั้นตอน ถ้าจะเร็วไปปีหรือครึ่งปีไม่น่าเป็นอะไร แต่ไม่ใช่ว่าจะเร็วไป 3-4 ปี ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยในส่วนนี้ เด็กควรจะมีวุฒิภาวะในระดับหนึ่ง”

        ม.รามฯ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2514

        Pre-degree เร่งรัดเด็ก จริงหรือ ?

        ลายคนมองว่าหลักสูตร Pre-degree เป็นหลักสูตรที่เร่งรัดเด็ก รศ.ดร.พินิติ ให้ความเห็นว่า ไม่เหมาะที่จะให้เด็กเรียนปริญญาตรีเร็วกว่าปกติ ในทางกลับกันถ้าเปิดให้เรียนเฉพาะรายวิชาพื้นฐาน เด็กอาจจะอยากรู้ว่าในมหาวิทยาลัยหลักสูตรแบบนี้เป็นอย่างไรไปลองเรียนดูและอาจจะพบว่าตัวเองไม่ใช่ก็อาจมีความเป็นไปได้ แต่เรียนทั้งคอร์สจนจบปริญญาแบบนี้มันคงไม่ใช่

        “หลักสูตรนี้น่าสนับสนุนหากเป็นเด็กที่มีศักยภาพพิเศษจริงๆ แต่ทางม.รามฯ ไปโฆษณาว่าเด็กจบปริญญาตรีด้วยวัยเพียง 17-18 ปี แล้วสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงทำให้หลักสูตรนี้หวือหวาขึ้นมา เด็กคนอื่นๆ ก็อยากเรียนเพราะว่าจบเร็ว แต่ผมคิดว่าการเรียนแบบนี้ ควรจะเปิดให้เด็กเรียนเฉพาะในหลักสูตรเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ควรเปิดให้เรียนในวิชาเฉพาะที่มีเนื้อหาลึกกว่านี้” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทิ้งท้าย

        และในปัจจุบันนี้ แฟนเพจ PR Ramkhamhaeng University โพสต์ข้อความภาพของ นางสาวประวีณ์ธิดา จารุนิล หรือ น้ำเพชร ระบุว่า มหาบัณฑิตนิติศาสตร์สุดเจ๋ง คว้าปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต ด้วยวัยเพียง 21 ปี โดยเริ่มเรียนปริญญาตรีในระบบ Pre-degree ตั้งแต่ ม.4 จบปริญญาตรี ตอนอายุ 18 ปี พร้อมความฝันเป็นผู้พิพากษา

มหาบัณฑิตคนเก่ง บอกว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีก็เรียนต่อปริญญาโททันที อาศัยความมุ่งมั่น เพียรพยายามจนสำเร็จ เทคนิคสำคัญคือการแบ่งเวลา วางแผนชีวิต น้ำเพชรเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือตลอดเวลา มีช่วงที่เรียน และช่วงที่ผ่อนคลาย หากมีข้อสงสัยอะไรก็จะถามอาจารย์ทันที และกลับมาทบทวน หลังจากนี้วางแผนชีวิตว่าจะเรียนต่อเนติบัณฑิตยสภา เพื่อรอสอบผู้พิพากษาตอนอายุ 25 ปี

จากโพสต์

ข้อมูลและภาพ จาก PR Ramkhamhaeng University 

บทความที่คุณอาจสนใจ