จาก "ลูกชาวนา" ต้องรับจ้างแต่เด็ก เดินเท้า 16 กม. ไปเรียนหนังสือ สู่ว่าที่ดอกเตอร์ ผอ.หญิงคนเก่ง!

LIEKR:

เราสร้างคุณค่าให้กับชีวิตตัวเองได้ด้วยการให้ “ให้” เมื่อไหร่ก็ “สุข” เมื่อนั้น 

        แม้มี “ต้นทุนชีวิต” ไม่มาก แต่ ครูขวัญ "ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ" หญิงร่างเล็กชาวนครศรีธรรมราชก็สามารถฝ่าฟันทุกอุปสรรค หมั่นเพียรเรียนจนถึงระดับปริญญาเอกด้วยตนเอง เธอไม่เพียงเป็นเสาหลักของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พึ่งของชุมชนโดยอาศัย “โรงเรียน” เป็นศูนย์รวมใจ

        ปัจจุบันเธอคือผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลมตั้งอยู่ในตำบลชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรดาร ทั้งที่ความสามารถและการศึกษานำพาไปสู่ความเจริญในเมืองใหญ่ได้ แต่ครูขวัญขอเลือกใช้ “ทั้งชีวิต” อยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่

 

Sponsored Ad

 

        เป็นคนนครศรีธรรมราชตั้งแต่กำเนิดเลยไหม

        "ครูเกิดที่ตำบลเขาพระบาท อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อกับแม่เรียนจบชั้น ป.4 มีอาชีพทำนาเหมือนชาวบ้านส่วนใหญ่ ครูเป็นลูกคนกลาง มีพี่สาวหนึ่งคนและน้องสาวเป็นใบ้อีกหนึ่งคน เรามีที่ทำกินน้อยแค่ 4 - 5 ไร่เหลือแค่พอกิน ทุกคนในครอบครัวจึงต้องออกไปรับจ้างทุกอย่าง ครูจึงรับจ้างทำนา เกี่ยวข้าวตั้งแต่เด็กๆ"

        "สมัยก่อนยังไม่มีโรงเรียนอนุบาลของรัฐ ถ้าจะเรียนต้องไปเรียนของเอกชนนอกพื้นที่ ครูจึงไม่ได้เรียนชั้นอนุบาลเริ่มเรียนตอนชั้นประถมเลย จำได้ว่าอยากไปโรงเรียนมากแต่อายุยังไม่ครบเขาก็ไม่รับ แม่ต้องสอนให้หัดอ่านหัดเขียนก่อน ส่วนพ่อมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ สามารถวาดภาพแกะหนังตะลุงได้ก็สอนวาดรูป ทำให้ครูชอบวาดรูปและอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก มักหัดอ่านหัดวาดรูปตามหนังสือการ์ตูนเล่มละบาทสมัยนั้น เมื่ออายุถึงเกณฑ์จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดใกล้บ้าน"

 

Sponsored Ad

 

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ขวัญจิตต์ ชุมแก้ว

        เรียนในโรงเรียนวัดจนถึงเมื่อไหร่

        "เรียนจนถึง ป.6 หลังจากนั้นมีโรงเรียนมัธยมในตำบลมาหาเด็กยากจนไปรับทุนเรียนฟรี ครูมีผลการเรียนดีจึงได้ทุนเรียนจนถึงมัธยมปีที่ 3 แต่โรงเรียนอยู่ไกลจากบ้าน 8 กิโลเมตร ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินไปโรงเรียนให้ทันเวลาครูเดินไปเดินกลับวันละ 16 กิโลเมตรตลอด 3 ปี"

 

Sponsored Ad

 

        "จากนั้นไปสอบคัดเลือกเข้า ม.4 ที่โรงเรียนประจำอำเภอ วันประกาศผลสอบนั่งทำใจอยู่นาน ไม่กล้าไปดูเพราะกลัวสอบตกแล้วทำให้แม่เสียใจ ปรากฏว่ามีคุณครูเดินแหวกกลุ่มคนเข้ามาหาชื่อขวัญจิตต์ ได้ยินแบบนั้นก็ตกใจกลัว เพราะคิดว่าทำอะไรผิด แต่เขากลับบอกว่ายินดีด้วยนะ เธอสอบได้อันดับ 1 ตอนนั้นดีใจมาก ไม่ใช่เพราะได้ที่ 1 แต่เพราะโรงเรียนนอกพื้นที่มีข้อจำกัดหลายอย่างเด็กส่วนใหญ่จึงมีผลการเรียนด้อยกว่าเด็กที่ได้เรียนในเมืองแต่เราทำได้"

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ขวัญจิตต์ ชุมแก้ว

 

Sponsored Ad

 

        "ตอนเรียน ม.ปลาย ไม่มีเงินขึ้นรถรับส่งประจำ ต้องเดินจากบ้านไปป้ายรถเมล์ 6 กิโลเมตร เพื่อต่อรถประจำทางสายนครศรีธรรมราช - สงขลา ทางก็เป็นถนนดินลูกรังต้องถือถุงเท้ามาสวมที่ป้ายรถเมล์ ไม่อย่างนั้นถุงเท้าสีขาวจะกลายเป็นสีแดง บางทีรถมาช้าทำให้เข้าโรงเรียนสาย ก็โดนทำโทษโดยการร้องเพลงชาติและสวดมนต์คนเดียว"

        "สมัยนั้นค่าเทอมไม่แพง ภาคเรียนละ 500 บาท แต่ก็ยังไม่มีเงิน อาศัยว่าเรียนดี โรงเรียนจึงเมตตาไม่ไล่ออกส่งมาแต่หนังสือทวง จึงขอเรียนให้ครบ 6 เทอม แล้วหาเงินไปจ่ายทีเดียว ครูไปรับจ้างเกี่ยวข้าวทุกวันเสาร์ - อาทิตย์และรับจ้างทุกอย่าง ปิดภาคเรียนก็ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเหมือนคนอื่นๆ ต้องทำงานช่วยพ่อแม่ตลอด"

 

Sponsored Ad

 

        เข้าสู่เส้นทางวิชาชีพครูได้อย่างไร

        "ตอนแรกตั้งใจว่าเรียนให้จบแค่ ม.6 แล้วออกมาทำงานเหมือนพี่สาว ไม่เรียนต่อ เพราะสงสารพ่อกับแม่ที่ต้องทำงานหนักส่งให้เราเรียน แต่ช่วงนั้นครูที่โรงเรียนแนะนำให้สอบเข้าโครงการคุรุทายาทของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตสงขลา ซึ่งเป็นโครงการที่ผลิตครูโดยตรง เวลานั้นถ้าเรียนได้ตามเกณฑ์แล้วจะได้บรรจุเป็นครู มีงานทำแน่นอนจึงลองไปสอบ ก็สอบได้ แต่ก็ยังไม่กล้าบอกที่บ้าน เพราะกลัวว่าพ่อแม่จะกังวลที่ต้องหาเงินมาให้เรียนอีก

 

Sponsored Ad

 

        กระทั่งทางมหาวิทยาลัยมีจดหมายเรียกให้ไปรายงานตัวจึงเล่าให้แม่ฟัง ปรากฏว่าแม่ดีใจมาก บอกว่าไม่ต้องกลัวให้เรียนให้ดี ให้ได้เกรดเฉลี่ยตามเงื่อนไขอย่างเดียว วันธรรมดาหลังเลิกเรียนตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม ก็ไปทำงานที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย วันเสาร์ - อาทิตย์ไปรับจ้างทำวิจัยที่หาดใหญ่ใส่ชุดนักศึกษาตระเวนเดินตามบ้าน เพื่อทำวิจัยเชิงสำรวจความพึงพอใจให้สินค้าต่างๆ นอกจากไม่รบกวนเงินพ่อแม่แล้ว ยังเหลือส่งให้ทางบ้านด้วย"

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ขวัญจิตต์ ชุมแก้ว

Sponsored Ad

        "ตอนแรกคิดแค่ว่าได้เป็นครู ได้อยู่กับเด็ก ๆ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวก็พอแล้ว แต่เหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือได้อยู่ใกล้ครอบครัว เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะเลือกอาชีพที่อยู่ไม่ไกลบ้าน ไม่ไกลพ่อแม่ หากได้บรรจุให้สอนในโรงเรียนก็จะไม่เลือกโรงเรียนในเมืองเพราะคงอยู่ไม่ได้ เราชอบอยู่แบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีอะไรในชีวิตมากก็มีความสุขได้"

        "ครูอยู่โรงเรียนวัดทองพูน 13 ปี นอกจากสอนได้ทุกวิชาแล้ว ยังต้องช่วยงานผู้อำนวยการโรงเรียนบ่อยๆ จนคิดได้ว่าเราทำงานผิดไหม เช่น แผนงานนี้ เอกสารนี้ถูกต้องหรือเปล่า จึงไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โชคดีที่หลังเรียนจบโทมีเปิดสอบผู้บริหาร ครูจึงสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้เมื่อปี 2555"

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ขวัญจิตต์ ชุมแก้ว

        "ตอนนั้นมีรายชื่อให้เลือก 3 โรงเรียน ครูก็ขับรถไปตระเวนดูโรงเรียนทั้ง 3 แห่ง เห็นว่าที่นี่ค่อนข้างด้อยกว่าโรงเรียนอื่นๆ จึงคิดว่ามาอยู่ในพื้นที่ลำบากค่อนข้างขาดแคลนแบบนี้ เราอาจได้ทำประโยชน์มากกว่าไปอยู่ในโรงเรียนที่มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว

        วันเปิดเรียนวันแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อต้นปีนี้โรงเรียนเสียหายหนัก ครูไม่กล้าชวนใครมาช่วยขัดล้าง เพราะบ้านทุกคนต่างเสียหายจากน้ำท่วมเยอะเหมือนกัน ปรากฏว่าชาวบ้านพากันมาเองเต็มเลย มาช่วยกันขัดล้างเช็ดถู เป็นน้ำใจที่เราคาดไม่ถึง ทั้งที่เขาเองก็ลำบาก"

ภาพจาก เฟสบุ๊ค ขวัญจิตต์ ชุมแก้ว

        ชีวิตส่วนตัวของครูขวัญตั้งใจอย่างไรไว้บ้าง

        "ครูยังไม่มีความคิดว่าจะต้องย้ายไปที่อื่นเลยครอบครัวทางบ้านก็ดีขึ้นแล้ว ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน ครูปลูกบ้านให้พ่อแม่ ซื้อที่ให้น้องสาวทำสวนปาล์มให้เขาดูแลตัวเองได้ ญาติ ๆ หลายคนเป็นห่วงพยายามผลักดันให้เราไปอยู่ในที่สบาย แต่เราก็ยังขอยืนหยัดอยู่ตรงนี้ เพราะอยากให้อะไรแก่เด็ก ๆ และชุมชน มันคุ้มค่ากว่าไปนั่งสบายแต่ไม่เกิดประโยชน์กับใคร คงเพราะเบื้องหลังชีวิตของเรามาจากเด็กบ้านนอกยากจน จึงอยากให้โอกาสเด็ก ๆ อยากให้เขามั่นใจและภูมิใจในตัวเอง ให้เรื่องของเราและสิ่งที่เราทำเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งใจเรียน"

        "ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอก มสธ. เป้าหมายของการเรียนจบปริญญาเอก คือ ทำให้เด็ก ๆ แถวนี้เห็นว่า ครูขวัญหรือคนที่ใส่ผ้าถุงเดินพบกันในตลาดก็จบดอกเตอร์ได้ ถ้าคุณอยากจะไปไหน หรืออยากจะเป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับความคิดความมั่นใจความพยายามของตัวเอง"

        อีกอย่างคือ อยากให้เขารู้สึกว่าเรียนจบดอกเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานในที่หรูหราหรือสะดวกสบายก็ได้มันขึ้นอยู่กับใจ ถ้าเรามีความสุขอยู่ตรงไหน ก็เป็นกำไรชีวิตของเราแล้ว

        เราสร้างคุณค่าให้กับชีวิตตัวเองได้ด้วยการให้ “ให้” เมื่อไหร่ก็ “สุข” เมื่อนั้น 


ข้อมูลและภาพจาก goodlifeupdate

บทความที่คุณอาจสนใจ