ต่างชาติกับวิธีการรับมือ ‘ปัญหาฝุ่น PM 2.5’ มลพิษทางอากาศที่คุกคามสุขภาพประชาชน

LIEKR:

วิธีไหนสู้ฝุ่นพิษได้ผลที่สุด ไทยเราสามารถนำมาปรับใช้ได้หรือไม่

    นับว่าเป็นปัญหาใหญ่อย่างมากสำหรับ “ปัญหาฝุ่น PM 2.5” ที่กำลังคุกคามชีวิตคนเมืองอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้กรมควบคุมมลพิษ ได้ออกรายงานแจ้งเตือนว่า ค่าฝุ่นอาจพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศปิดมากที่สุดในรอบเดือนนี้ โดยเฉพาะในช่วงเย็นที่มีการจราจรหนาแน่น อาจจะมีการสะสมของฝุ่นและมลพิษที่สูงเป็นพิเศษ

    แต่ก็ใช่ว่าจะมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้เท่านั้น ในต่างประเทศหลายประเทศก็เคยประสบปัญหานี้เช่นกัน แล้วพวกเขามีวิธีการรับมือกับวิกฤตฝุ่นนี้กันอย่างไรไปดูกัน

 

Sponsored Ad

 

จีน พลิก ‘ปัญหาฝุ่น PM 2.5′ เป็นโอกาส รับมือวิกฤตฝุ่นอย่างสร้างสรรค์ ครบทุกมิติ

    ในอดีต กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เคยเผชิญวิกฤตฝุ่น PM 2.5 โดยพบว่ามีสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งที่เกิดจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวของพลเมือง ทำให้เกิดความแออัด การจราจรติดขัด และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของจีนที่ล้วนมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแทบทั้งสิ้น

 

Sponsored Ad

 

    ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนจึงประกาศสงครามกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันมาโดยตลอด ชนิดที่วางแผนว่าจะใช้งบประมาณราว 2 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท เพื่อลดปัญหาหมอกควันให้ได้

    เฉพาะที่ ปักกิ่ง แค่เมืองเดียว ทางการจีนก็เตรียมโครงการลดปัญหาหมอกควันภายใน 5 ปี ไว้มากถึง 81 โครงการ โดยมีโครงการเด่นๆ ที่ได้ลงมือทำและเกิดผลดีทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ ที่ประเทศไทยควรศึกษาไว้เป็นต้นแบบ ดังนี้

โฟกัสที่ตัวการ ลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ ทั้งระบบ

 

Sponsored Ad

 

    ทางการจีนประกาศสงครามต่อสู้กับฝุ่น PM 2.5 โดยโฟกัสไปที่การลดมลพิษที่ปล่อยจากรถยนต์ในเมืองใหญ่ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ดีขึ้น การตรวจสอบการปล่อยไอเสียให้ได้ตามมาตรฐาน

    และด้วยการดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ทำให้จีนซึ่งมีปัญหามลพิษติดอันดับต้นๆ ของโลก สามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในปี 2018 ลง 9.3%YOY เหลือ 39 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยใช้มาตรการหลักในการเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ปล่อยซัลเฟอร์ได้ไม่เกิน 10 ppm จากเดิม 50 ppm

    และล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2018 จีนได้ออก China VI emission standard กำหนดให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วางจำหน่ายในตลาดหลังเดือนกรกฎาคม 2021 จะต้องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นจากดีเซล (Diesel Particulate Filters: DPF) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อย PM 2.5 จากรถบรรทุกได้มากถึง 82% ภายในปี 2030

 

Sponsored Ad

 

    ส่วนในเมืองใหญ่ของจีนได้ออกมาตรการลดมลพิษของตัวเองเช่นกัน เช่น ปักกิ่งห้ามรถบรรทุกดีเซลที่ไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียวิ่งเข้าถนนวงแหวนที่ 6 ของปักกิ่ง และกวางโจวกำลังพิจารณาห้ามรถบรรทุกต่างๆ วิ่งเข้าในตัวเมือง ส่วนรถอื่นๆ ให้ใช้ระบบป้ายทะเบียนเลขคู่-เลขคี่ ในวันที่มีการประกาศแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศเข้าสู่ระดับสูงสุด เป็นต้น

หาญกล้า ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว เพื่อลดฝุ่นจากภาคอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าให้ได้

    จากบทความของ ภากร กัทชลี เจ้าของเพจอ้ายจง นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยซีเตี้ยน เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ได้เขียนถึงความตั้งใจในการลดมลพิษจากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าให้ได้ ด้วยการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า ประเทศจีนในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็นมาก หลายพื้นที่อุณหภูมิติดลบ บางแห่ง -20 -30 ก็มี -43 องศาเซลเซียส ก็มีมาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องการสำหรับคนจีนในช่วงฤดูหนาวคือ “ฮีตเตอร์ระบบทำความร้อน” โดยตามเมืองทางเหนือของจีน ทางการจีนจะปล่อยความร้อนผ่านทางระบบทำความร้อนสาธารณะไปยังเครื่องทำความร้อนที่ติดตั้งตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งปล่อยออกมาเป็นน้ำร้อนผ่านทางท่อ คล้ายท่อประปา

 

Sponsored Ad

 

    สำหรับเมืองไหน หรือบ้านเรือนไหนไม่มีระบบทำความร้อนสาธารณะ และทนหนาวไม่ไหวก็ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามาปล่อยความร้อนให้กับเราแทน เช่น ฮีตเตอร์แบบใช้พลังงานไฟฟ้า การเปิดเครื่องปรับอากาศแบบโหมดทำความร้อน ทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในช่วงฤดูหนาว

    และเบื้องหลังของพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนในจีนก็ล้วนมาจากถ่านหินทั้งนั้น ซึ่งพี่จีนของเราเป็นประเทศที่มีการใช้ถ่านหินมากที่สุดในโลก

    แม้จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีแผนปรับลดใช้ถ่านหินไปแล้วแต่สุดท้ายก็กลับมาใช้ในปริมาณมากอยู่ดี เพราะในอุตสาหกรรมต่างๆ ของจีน ก็ยังต้องพึ่งพาถ่านหิน ซึ่งการใช้ถ่านหิน จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดปัญหาควันพิษในจีน ยิ่งเข้าช่วงฤดูหนาว ยิ่งใช้เยอะ เพื่อนำมาทำไฟฟ้าและความร้อน

 

Sponsored Ad

 

    นี่เอง เป็นสาเหตุให้ทางจีนจะสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองที่มีปัญหาหมอกควันเป็นการชั่วคราว แต่ก็ไม่ใช่ว่าปิดหมด เพราะในบางอุตสาหกรรมก็ยังจำเป็นในการผลิตสินค้า-ผลผลิตต่างๆ โดยทางการจีนยังมีคำสั่งปิดเหมืองถ่านหินกว่า 1,000 แห่ง ในปี 2016 โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหมืองขนาดเล็กและเหมืองที่เปิดมานาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ค่อยๆ ลดการใช้ถ่านหินของจีนลง

พัฒนาแอปพลิเคชันตรวจเช็คสภาพอากาศ มอนิเตอร์ไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

    แน่นอนว่าการสร้างแอปพลิเคชันรายงานสภาพอากาศ หรือตรวจเช็คปริมาณมลพิษในอากาศ อาจไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่เพราะประเทศอื่นก็ใช้กัน แต่บริบทที่จีนได้ออกแบบแอปพลิเคชันรายงานสภาพอากาศ นับเป็นการนำเสนอผลลัพธ์ในอีกแง่มุมที่น่าสนใจและน่าศึกษาไม่น้อย

Sponsored Ad

    เพราะในเมื่อตัวการที่ก่อปัญหาฝุ่นควันพิษในอากาศที่สำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงควรมีแอปพลิเคชันเฉพาะ เพื่อตรวจเช็คสภาพอากาศ ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ปล่อยควันเสีย และเมื่อแอปนี้ตรวจเช็คเจอฝุ่นหรือควันเสียเกินปริมาณที่กำหนดก็ต้องมีบทลงโทษทางกฎหมายด้วย

    แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างแอปพลิเคชันทำนองนี้และนำไปบังคับใช้ ก็พบว่ามีปัญหา เพราะโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้ตรวจพบการกระทำผิด ผลในการบังคับใช้จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่จำเป็นต้องทำ ต้องต่อสู้และรณรงค์เพื่อให้มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ และสามารถบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาวต่อไป

ผลักดันให้พลเมืองเปลี่ยนมาใช้ รถยนต์ไฟฟ้า

    ยานยนต์ทางเลือก ถูกผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติที่ไม่เพียงสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย ไฮเทคโนโลยี ให้จีนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่นพิษด้วยการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองใหญ่อย่างได้ผลด้วย

    ยืนยันได้ด้วยผลสำเร็จที่เห็นเด่นชัดในเมืองใหญ่อย่างเซินเจิ้น ที่มีการผลักดันให้ทุกภาคส่วนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งยกเครื่องรถบัสโดยสารให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEVs) ทั้งหมด ซึ่งเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆ ดำเนินรอยตาม ขณะที่ยานยนต์ลูกผสมอย่างรถไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEVs) ก็กำลังหายไปจากท้องถนนในจีนอย่างรวดเร็ว

    นอกจากนั้น หากอ้างอิงตามข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีนเผยว่าจีน พบว่ามียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 800,000 คัน ในปี 2017 นับว่าเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด จากในปี 2014 ที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพียง 100,000 คัน เท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและสร้างแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายว่าจะทำให้รถ BEVs วิ่งได้ไกลเกิน 160 กิโลเมตร (100 ไมล์) ต่อการชาร์จแบต 1 ครั้ง

    ควบคู่ไปกับการรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยจีนตั้งเป้าเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะให้ได้ 500,000 จุด ภายในปี 2020 โดยเน้นติดตั้งสถานีชาร์จฯเพิ่มตามเมืองใหญ่ต่างๆ เพราะยิ่งมีจุดชาร์จแบตกระจายไปทั่วมากเท่าใดก็ยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ขับขี่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดใจผู้ใช้รถให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น

    ทางด้านเพจ China Report ASEAN - Thailand ก็ได้สรุปเหตุการณ์และวิธีการแก้ปัญหามหันตภัยฝุ่น PM 2.5 โดยเผยว่า...ย้อนกลับไป ‘ครั้งหนึ่ง...ชาวปักกิ่งเคยเรียกร้องสิทธิ์ ในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ’

    ในอดีต กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เคยเผชิญวิกฤตฝุ่น PM 2.5 แต่ด้วยความจริงจังของรัฐบาลจีน อากาศในปักกิ่งวันนี้ ดีขึ้นมาก ความจริงจังในการแก้ปัญหายังคงดำเนินต่อเนื่อง จนมาถึงแผนแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมประจำปี 2020
    ล่าสุด กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนประชุมประจำปีเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เน้นย้ำนโยบายต่อสู้กับมลภาวะตลอดปี 2020 เดินหน้าสานต่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินมาตลอด และเห็นผลบวกชัดเจน
    โดยเฉพาะเรื่อง ความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของจีน ปัจจุบันลดลงมาก ทุกมณฑลของจีน มีอัตราส่วนวันที่คุณภาพอากาศดีมากกว่าร้อยละ 80 และวันที่มลพิษรุนแรง ลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2015
    ตลอด 11 เดือนแรกของปี 2019 ผลการปรับปรุงคุณภาพอากาศในทุกมณฑลเป็น ‘บวก’ ความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ลดลง
    สำหรับกรุงปักกิ่ง: ปี 2019 ค่า PM 2.5 โดยเฉลี่ยในกรุงปักกิ่งอยู่ที่ 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นค่าที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 ทำให้ปักกิ่งมีวันที่อากาศดีไร้มลพิษมากถึง 240 วัน
    สำนักสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยากรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า ค่า PM 2.5 โดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีของกรุงปักกิ่งในปี 2019 ลดต่ำลงจากปี 2013 ถึง 53% เป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจจากการพยายามอย่างหนักของจีนที่จะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ


จีนทำอะไรบ้าง? โดยเฉพาะกับเมืองหลวง 'กรุงปักกิ่ง'

    -เปลี่ยนการใช้พลังงานถ่านหิน มาใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นตามที่พักอาศัย การคมนาคม ขนส่งมวลชนสาธารณะ รถแท๊กซี่ไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้ามีสัดส่วนมากขึ้น
    -รถยนต์เก่าที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ถูกจำกัดการนำมาใช้งาน
    -โรงงานเก่าที่มีปัญหาด้านมลพิษถูกสั่งปิดถาวรหรือให้ปรับปรุง
    -จีนทำฝนเทียม นอกจากจะแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันมลพิษ เคลียร์ท้องฟ้าให้ใส ล้างหมอกควันออกไป
    -ห้ามจุดประทัด พลุ ห้ามเผา ในช่วงที่ระดับควันพิษพุ่งสูง
    -เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปักกิ่งตอนนี้มีพื้นที่สีเขียวเกิน 50% แล้ว
    -ปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปรับจริง จับจริง ผู้ที่กระทำผิดที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
    -ปัจจุบัน ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 13,000 คดี รวมค่าปรับแล้วกว่า 150 ล้านหยวน ราวๆ 750 ล้านบาท
    -ข้อนี้สำคัญมาก: ปลุกจิตสำนึกให้คนในประเทศเคารพกฎระเบียบ ช่วยกันลดมลพิษ

    สิ่งที่รัฐบาลจีนใช้คือ หลีกเลี่ยง ‘วิธีเดียวสำหรับทุกปัญหา : One-sized-fits-all Approach’ ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ใช้ ‘หลากหลายวิธี ที่ได้ผลแม่นยำด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์’

    ทำให้รัฐบาลจีนมีทิศทางการควบคุมมลพิษที่ถูกต้อง และพัฒนาขึ้นทุกปี เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว เช่น บังคับลดการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ ลดลงให้ได้มากกว่าร้อยละ 15 ตลอดปี 2020

    นอกจากนี้จีนจะเดินหน้าจริงจัง ควบคุมมลพิษทางน้ำ อัตราการนำเข้าขยะมูลฝอยเป็นศูนย์ เปิดตัวกองทุนเพื่อการพัฒนาสีเขียวแห่งชาติ เป็นต้น

    ปี 2020 เป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 / หนึ่งในเป้าหมายของจีนคือ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม บรรลุการสร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางในทุกด้าน เป็นปีที่รัฐบาลจีนจะชี้ขาดการต่อสู้กับมลพิษ
    

ข้อมูลและภาพจาก salika,xinhuanet,aizhongchina,ChinaReportAseanThailand

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ