รู้จัก "แมมมอธ" เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ดีกรีแชมป์คัดลายมือระดับประเทศ คว้าชนะเลิศที่ 1 ของไทย เพราะคำพูดของครู

  • 2020-07-30 13:12

LIEKR:

ลายมือสวยขั้นเทพ เหมือนใช้เครื่องพิมพ์

    เป็นเด็กไทยที่มีความสามารถและลายมือสวยเหมือนใช้เครื่องพิมพ์ เลยทีเดียว สำหรับน้องแมม พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์ จาก โรงเรียนสิงห์สมุทร ที่ได้มีการโพสต์ภาพผลงานคัดลายมือของตัวเองลงกลุ่ม คัดลายมือคือปณิธาน ซึ่งเป็นลายมือที่สวยมากๆ จนมีผู้เข้ามาชื่นชมเป็นจำนวนมาก

    เป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียลหลังจากมีการแชร์ตัวอักษรไทยด้วยลายมือที่สวยเป๊ะ เหมือนพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าของลายมือสวยขั้นเทพนี้คือ “แมมมอธ-พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์” วัย 18 ปี ผู้พิชิตรางวัลชนะเลิศการแข่งขันคัดลายมือระดับประเทศ

    เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยน้องได้โพสต์ภาพผลงานคัดลายมือของตัวเองลงกลุ่ม คัดลายมือคือปณิธาน พร้อมกับข้อความที่ว่า "ทำงานส่งครูครับ ติได้ชมได้ครับ ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยครับ"

    โดยโพสต์ดังกล่าวของน้องนั้นมีผู้คนเข้าไปกดไลก์มากกว่า 9,300 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งก็มีแต่คนมาชื่นชมและให้กำลังใจในความสามารถของน้องเป็นอย่างมาก 

    เห็นลายมือน้องแล้ว แอบอดคิดไม่ได้เลยว่าเหมือนพิมพ์ออกมาจากคอมพิวเตอร์กันเลยทีเดียว เพราะสวยงาม เป็นระเบียบ และจัดเรียงได้อย่างถูกต้อง

    หลังจากได้สืบค้นแล้ว บอกเลยว่าน้องคนนี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียวเพราะว่าเขาเคยได้รางวัลคัดลายมือชนะเลิศระดับประเทศมาแล้ว ในปี 2019 ซึ่งเขาเคยได้เข้าแข่งขันไปถึงระดับภาคครั้งแรกเพียงแค่อยู่ มัธยมปีที่ 3 เท่านั้น

    โดยน้องเผยว่าตัวเองไม่ได้ฝึกคัดลายมือแบบจริงจังตั้งแต่เด็ก นอกจากครูให้การบ้านแล้ว ก็ไม่ได้ฝึกเลย ฝึกแบบจริงจังตอน ม.3 เพื่อที่จะไปแข่งศิลปหัตถกรรม และจากนั้นมาตัวของเขาก็ฝึกคัดลายมือมาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จได้รางวัลคัดลายมือชนะเลิศระดับประเทศ

    และล่าสุด น้องได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่าน นิตยสารแพรว ฉบับ 960 ผ่านหัวข้อ... เส้นทางสู่แชมป์ไม่ง่าย “แมมมอธ-พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์” วัย 18 ปี เจ้าของลายมือสวยขั้นเทพ มุ่งมั่นฝึกฝนจนเป็นที่หนึ่งระดับประเทศ

    เป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียลหลังจากมีการแชร์ตัวอักษรไทยด้วยลายมือที่สวยเป๊ะ เหมือนพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าของลายมือสวยขั้นเทพนี้คือ “แมมมอธ-พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์” วัย 18 ปี ผู้พิชิตรางวัลชนะเลิศการแข่งขันคัดลายมือระดับประเทศ

    ก่อนจะสวยก็เคยแย่

    “สมัยเรียนประถมต้น (โรงเรียนธัมมสิริศึกษา สัตหีบ) ลายมือผมไม่สวยเลยครับ จำได้ว่าครูเคยประกาศหน้าห้องว่าคนที่มีรายชื่อต่อไปนี้ต้องปรับปรุงลายมือ ซึ่งมีชื่อของผมอยู่ด้วย ฟังแล้วก็ไม่ได้น้อยใจอะไรนะครับ คิดแค่ว่าเมื่อครูตำหนิ เราก็อยากปรับลายมือให้สวยขึ้น แล้วเริ่มฝึกเอง โดยยึดต้นแบบลายมือจากหนังสือเรียน จากที่เคยรีบเขียนทำให้ตัวหนังสือหวัดๆ ไม่มีหัว ดูสะเปะสะปะ ก็พยายามเขียนให้ช้าลงและเขียนให้มีหัวชัดเจน หรือลักษณะพยัญชนะบางตัวที่เคยเขียนไม่สวย เช่น พ.พาน ที่ปกติผมลากเส้นตรงกลางขึ้นไปเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ลากให้สุด ทำให้ดูตัวป้อมๆ ไม่สวย ผมค่อยๆ สังเกตแล้วฝึกเขียนใหม่ไปทีละตัว จนในที่สุดลายมือก็ดีขึ้น แต่ติดปัญหาว่าพอพยายามเขียนบรรจงมากๆ ผมก็จดตามที่ครูสอนไม่ทัน จึงต้องหาวิธีใหม่เพื่อให้ยังเขียนสวยและเขียนเร็วไปพร้อมๆ กัน ที่สุดใช้การลดทอนโครงสร้างของพยัญชนะลงครับ เช่น ช.ช้าง ปกติตรงหัวต้องมีการโค้งหยัก ผมก็จะเขียนลงมาตรงๆ เลย กับอาศัยเขียนให้ตัวใหญ่ มีหัวกลมชัดเจน ก็จะเขียนสวยและเร็วได้เอง (ยิ้ม)

    “ผมไม่คิดว่าการฝึกให้เขียนสวยเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะเราสามารถใช้ช่วงเวลาที่ทำการบ้านฝึกไปได้ในตัว อีกอย่างคือการเขียนสวยมีประโยชน์ ทำให้ลายมือเป็นระเบียบและมีผลต่อการเรียน คือพอเราเขียนถูกต้อง ชัดเจน คุณครูก็จะอ่านรู้เรื่อง ไม่แปลความหมายคำตอบของเราผิดครับ”

    ก้าวแรก…ประกวดคัดลายมือระดับเขต

    “หลังจากครูหลายท่านชมว่าผมเขียนสวย เป็นระเบียบ พอขึ้นชั้น ม.3 (โรงเรียนเลิศปัญญา) ผมก็มีโอกาสได้ไปประกวดคัดลายมือระดับเขตที่จังหวัดชลบุรี จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการประกวดครั้งแรกในชีวิต กติกาคือต้องเขียนตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นลักษณะตัวกลมทั้งตัว โดยใช้ปากกาลูกลื่นสีดำหรือสีน้ำเงินขนาด 0.5 เขียนลงบนกระดาษสำหรับทำรายงานขนาด A4 ผมจึงซื้อกระดาษกับปากกามาฝึกเขียน สำหรับปากกาผมชอบใช้ของยี่ห้อ Lancer หรือไม่ก็ Faber-Castell เพราะเส้นเล็กและเขียนลื่นครับ หลายคนที่เจอปัญหาหมึกซึมเลอะ ลองใช้วิธีเช็ดตรงหัวปากกาก่อนเขียนจะได้ไม่เลอะ

    “ผมฝึกเขียนหลังทำการบ้านโดยจับเวลาไปด้วย ปกติเวลาแข่งจะมีเวลาให้ 1 ชั่วโมงครึ่ง เขียนทั้งหมดประมาณ 25-30 บรรทัด ครูจะดูให้ว่าต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง อาศัยโหลดตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการจากอินเทอร์เน็ตมาฝึกเขียน ซึ่งความยากคือต้องเขียนเป็นตัวกลมทั้งตัว เช่น อ.อ่าง ตรงฐานต้องเป็นเส้นโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งที่ผ่านมาผมเขียนแบบเป็นฐานแบนเส้นตรงมาตลอด กว่าจะเขียนฐานให้กลมได้ก็ใช้เวลาพอสมควร อีกเทคนิคที่ช่วยได้คือ เวลาเขียนต้องนั่งหลังตรง เพื่อให้เห็นภาพรวมของตัวอักษรทั้งหมดว่าสมดุลกันหรือไม่ บวกกับการกดปากกาก็มีผล ต้องไม่หนักไปหรือเบาไปจึงจะได้เส้นที่ชัดเจน สิ่งที่ยากที่สุดในการฝึกเขียนอีกอย่างคือ ต้องบังคับมือไม่ให้สั่นครับ ถ้าช่วงไหนเกิดหงุดหงิดมือจะสั่น ลายมือไม่เหมือนเดิมแน่นอน เพราะฉะนั้นระหว่างฝึกเขียน ผมจะเปิดเพลงไปด้วย ส่วนใหญ่ชอบฟังเพลงลูกทุ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย

    “นอกจากฝึกเขียนที่โรงเรียนแล้ว ผมกลับมาฝึกต่อที่บ้านด้วยวันละ 1-2 ชั่วโมง มีบางวันเหมือนกันครับที่ท้อว่าทำไมต้องมานั่งฝึกอะไรอย่างนี้ เพราะเมื่อยมือมาก เวลาเหนื่อยมากๆ ผมจะคิดถึงความรู้สึกที่ผมอยากจะเขียนให้เหมือนลายมือผู้ชนะระดับประเทศเมื่อปี 2559 พี่เขาเขียนตัวตรง อ่านง่าย และถูกต้อง ตามหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผมพยายามเขียนให้ได้อย่างนั้น อยากประสบ ความสำเร็จแบบนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมฮึด

    “พอถึงวันแข่งจริงมีผู้เข้าแข่งขันระดับเขตทั้งหมด 22 คนจาก 22 โรงเรียน ในจังหวัดชลบุรี ยอมรับว่าตื่นเต้นมาก เพราะคาดหวังว่าอยากจะได้ที่ 1 แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจนะ เพราะฝึกมาเยอะ บวกกับคนรอบข้างชมเยอะว่าสวย จึงคิดว่าน่าจะมีโอกาสได้รางวัล แต่อุปสรรคในวันนั้นก็คือโต๊ะที่นั่งเขียนเป็นแบบเลกเชอร์ คือสามารถพับขึ้นได้ มีพื้นที่ให้วางแขนแค่ด้านขวา ซึ่งที่ผ่านมาผมนั่งเขียนกับโต๊ะเรียนธรรมดาที่สามารถวางแขนได้สองข้าง จึงเขียนไม่ค่อยถนัด รู้สึกใจไม่ดีละ แต่ก็พยายามทำใจให้นิ่งแล้วตั้งใจเขียน พยายามเขียนไม่ให้ผิด เพราะถ้าใช้ลิควิดลบจะโดนหักจุดละ 1 คะแนน ซึ่งคะแนนเต็มคือ 100 คะแนน เนื้อหาที่ผมต้องเขียนคือพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวประมาณ 30 บรรทัด มีเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดผมก็ได้รางวัลระดับเขตครับ (ยิ้ม) จากนั้นก็มีโอกาสไปแข่งขันต่อระดับภาค แต่ได้อันดับที่ 27 จึงไม่ได้ไปประกวดต่อระดับประเทศ”

ก้าวสู่ที่ 1 ของประเทศ

    “นอกจากการเขียนแบบกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังมีการแข่งแบบอาลักษณ์ ซึ่งเป็นตัวอักษรไทยแบบตัวเหลี่ยม และแบบสปีดบอล ซึ่งเป็นการเขียนตัวอักษรไทยเมจิกหมึกซึม ซึ่งหลังจากที่ผ่านการแข่งระดับเขตแล้ว ผมก็มีโอกาสฝึกและไปแข่งการเขียนแบบอาลักษณ์ต่อ ซึ่งผมคิดว่าฝึกเขียนง่ายกว่าตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากตรงฐานและหัวเป็นเหลี่ยม ระหว่างที่เขียนยังสามารถพักมือได้ ไม่ต้องวาดเส้นโค้งติดต่อกัน สุดท้ายก็ได้ที่ 1 มาครอง ส่วนตัวอักษรที่เขียนยากที่สุดคือตัวอักษรแบบสปีดบอลครับ เพราะต้องใช้ปากกาเมจิกหัวใหญ่ เป็นเรื่องยากที่จะบังคับปากกาให้ออกมาสวย ซึ่งผมเองยังไม่เคยมีโอกาสลองแข่งเลย

    “ช่วง ม.4 กับ ม.5 (โรงเรียนสิงห์สมุทร) ผมก็มีโอกาสไปแข่งระดับเขตอีก แต่ได้รางวัลที่ 2 และกลับมาแข่งขันอีกครั้งตอน ม.6 คราวนี้ได้รางวัลที่ 1 ระดับเขต จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 50 คน จากนั้นทางสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาได้รวมผู้ชนะจากเขตต่างๆ ทั่วประเทศ 42 คน ส่งผลงานไปให้ทางกระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกก่อน เพื่อให้สุดท้ายเหลือผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 10 คน เพื่อไปแข่งต่อระดับประเทศ ครั้งนี้ผมก็ซ้อมทุกวันสม่ำเสมอเหมือนเดิมเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม โดยคุณครูแนะเทคนิคว่า ถ้าเขียนผิดไม่ต้องใช้ลิควิดลบ เพราะจะถูกหักทั้งคะแนนความสะอาดและคะแนนที่เขียนผิด ให้ปล่อยไปเลย จะได้โดนหักแค่คะแนนเขียนผิดอย่างเดียว วันแข่งผมจึงไม่พกลิควิดไปด้วย แต่ยังไงใจก็กังวลมากครับ เพราะเป็นการแข่งขันระดับประเทศ มือสั่น เหงื่อออก จำได้ว่าเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกร ศัพท์ยาก ความยาวทั้งหมด 26 บรรทัด ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 5 นาที เขียนเสร็จเป็นคนแรก ซึ่งจริงๆ เขาให้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ตอนนั้นก็กังวลอีกว่าเขียนเร็วไปหรือเปล่า เพื่อนคนอื่นอาจจะใช้เวลาเต็มที่แล้วเขียนได้ดีกว่า พอตอนที่คณะกรรมการประกาศผลว่าผมได้ที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนนั้นแทบไม่เชื่อเลยครับ รู้สึกดีใจมากๆ ได้รางวัลเป็นเกียรติบัตร โล่ และเงินรางวัล 5,000 บาท

    “หลังจากได้ที่ 1 ระดับประเทศมาแล้ว ครูให้ผมเขียนคำแปลจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงให้รุ่นน้องดู โดยใช้กระดาษร้อยปอนด์แผ่นใหญ่ วัดได้ความยาวประมาณศีรษะจนถึงหัวเข่า ผมใช้ปากกาเคมีหัวดำขนาด 0.5 ของยี่ห้อ My Color เพราะสีคมชัด ก่อนเขียนผมลากเส้นบรรทัดด้วยดินสอ แล้วก็เขียนลงไปเลยครับ แต่ความที่กระดาษแผ่นใหญ่ นั่งเขียนลำบาก จึงใช้วิธีนอนเขียนแทน ข้อเสียคือทำให้เราเห็นชัดเพียงแค่ตัวอักษรเพียงตัวเดียว ถ้าสังเกตดีๆ ตัวอักษรบางตัวก็จะไม่ค่อยสมดุลกันเท่าไร โดยเฉลี่ยผมเขียนตัวอักษรละ 2-3 วินาที ใช้เวลาเขียนอยู่ 2-3 วัน ก่อนส่งอาจารย์ผมถ่ายรูปแชร์ลงในเพจ ‘คัดลายมือคือปณิธาน’ จากนั้นก็มีคนนำไปแชร์ต่อมากมาย พร้อมกับอินบ็อกซ์มาถามว่ามีเทคนิคอย่างไร จึงจะเขียนได้สวยอย่างนี้บ้าง (ยิ้ม) ผมว่าการเขียนให้สวยเป็นเรื่องที่ฝึกหัดกันได้ ถ้ามีความตั้งใจมากพอ”

พรสวรรค์ + พรแสวง

    “ผมเคยคิดว่าพรสวรรค์อาจมีส่วนให้ลายมือสวย เพราะคุณพ่อคุณแม่ลายมือสวยทั้งคู่ บวกกับคุณพ่อชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรก ผมก็เช่นกัน โดยเฉพาะรูปแนวสถาปัตยกรรมยุโรปที่ใช้ลายเส้นขาว-ดำ เช่น อาคารบ้านเรือนในยุโรป ฝีมือวาดรูปของผมก็พอใช้ได้ แต่ถ้าเทียบกันแล้วผมชอบการคัดลายมือมากกว่า (ยิ้ม) การวาดรูปก็ช่วยเสริมทักษะการคัดลายมือด้วยนะครับ ช่วยให้เขียนเส้นพยัญชนะ ได้ตรง กะระยะห่างระหว่างบรรทัดได้ดี

    “ผมเคยคิดอยากทำอาชีพนักเขียนคัดลายมือเป็นงานเสริม เช่น รับเขียนการ์ดงานแต่งงาน หรือเขียนให้แบรนด์ต่างๆ แต่ยังไม่มีใครจ้างผมแบบเป็นอาชีพ มีแค่เขียนหน้าปกรายงานให้เพื่อนบ้าง ตอนนี้จึงมุ่งเรียนด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปก่อนครับ

    “และผมยังคงฝึกคัดลายมือโดยอาศัยช่วงที่เขียนไดอะรี่คัดลายมือไปด้วยวันละ 1-2 ชั่วโมง ผมคิดว่ามันช่วยเรื่องสมาธิ ให้ใจเราเย็นลง และยังเป็นความเพลิดเพลิน จนกลายเป็นงานอดิเรกไปแล้ว ซึ่งนอกจากตัวอักษรภาษาไทย ผมยังคัดลายมือตัวเขียนภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาอาหรับได้ด้วย แต่สวยสู้ภาษาไทยไม่ได้นะครับ อาจเพราะใจผมชอบความเป็นไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใดในโลก (ยิ้ม) การคัดลายมือนอกจากความสวยงามด้านศิลปะแล้ว ยังสื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจครับ”

ความเห็นจากชาวเน็ต

.

.

.

ที่มา : นิตยสารแพรว, Sanook, Phichaiyuth Ketsuwan : | เรียบเรียงโดย LIEKR