เปิดตำนาน "มกร" ตัวกินพญานาค ศิลป์แห่งดินแดนล้านนา

LIEKR:

สุดยอดเลยค่ะ ไม่เคยสังเกตมาก่อนเลย

    หากใครได้แวะไปทางภาคเหนือ หลายๆท่านส่วนใหญ่คงพลาดไม่ได้ที่จะแวะทำบุญตามวัดต่างๆ ซึ่งถือว่ามีความสวยและงดงามในรูปแบบศิลปะล้านนา ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายฝาผนัง ตัวหน้าบัน ช่อฟ้า หรือแม้แต่ "บันไดนาค" แต่ท่านสังเกตมั้ยครับว่า รูปปั้นตัวนาคที่ประดับอยู่ตรงบันไดทางขึ้นทั้ง 2 นั้น มันออกมาจากปากตัวอะไรซักอย่าง วันนี้ LIEKR มีคำตอบมาเล่าให้ฟังกัน

    ในแถบอุษาคเนย์ทั้งไทย ลาว เขมร และพม่า ต่างมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชางู โดยเฉพาะงูใหญ่อย่าง “พญานาค” ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา ซึ่งรูปร่างพญานาคตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน 

    ส่วนในดินแดนล้านนาพญานาคมีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์

มกรคายพญานาคเจ็ดเศียร เชิงบันไดวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ 

  มกร เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะภายนอกจะผสมระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้น เป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำมกรไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด และที่สำคัญคือมีคนจำนวนไม่น้อยสับสนคิดว่า “ตัวมอม” เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับตัว “มกร” หรือ “เหรา” ที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถานในภาคเหนือ แต่หากพิจารณาลักษณะภายนอกของมกรแล้วจะพบว่ามีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

    “มกร” มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า “เหรา” (เห–รา) เหราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแมงดาทะเล แต่เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อาทิ พระธาตุ โบสถ์ และวิหาร ที่สื่อว่าเป็นเขาพระสุเมรุ ตามคติจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ ดังนั้น จึงต้องมีสัตว์ในป่าหิมพานต์เฝ้าอยู่เชิงเขาพระสุเมรุไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ ส่วนคำว่ามกรนั้น เข้าใจว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากมังกรของจีน เพราะเราเคยเห็นแต่พญานาคที่ไม่มีขา พอเห็นตัวที่มีหัวเป็นพญานาคหรือสำรอกพญานาคและมีขาด้วยก็เลยเรียกตามจีนไป

    ตามตำนานเล่าว่า มกร มีความโกรธ และอาฆาตแค้นพญานาค มากหาทางจะเอาชนะพญานาคให้ได้ ได้ท้าทายประลองกำลังกัน

    มกร..กลืนกิน พญานาคทั้งตัว แต่ไม่สามารถกลืนส่วนหัวของพญานาคได้ เราจึงเห็นหัวพญานาค ที่บันไดทางขึ้นวิหาร ส่วนลำตัวที่เห็นคือ ลำตัวของเงือก ที่วิหารแห่งนี้ มีเงือกกลืนกินกันถึง 2 ตัว อีกตัวกลืนกินส่วนหาง 

แล้วมันกินหรือคายพญานาค ?

    มีผู้ตีความว่าเหราหรือมกรมันคายพญานาคออกมาจากปากนะครับ ไม่ใช่กำลังกิน ซึ่งการคายพญานาคของเหรานี้ คงมองได้ 2 แบบ

แบบที่ 1: ทางด้านการเมืองและศิลปะ

    เหราคายนาคในศิลปะทางภาคเหนือนั้น ก็พอจะกล่าวได้ว่า สมัยที่พม่าปกครองล้านนาอยู่นั้น พม่าต้องการข่มอาณาจักรล้านนาหรือชนเผ่าทางตอนเหนือของประเทศไทย ที่เรียกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันว่า “โยนก”  ซึ่งเมืองโยนกเชียงแสนเดิมมีพระเจ้าสิงหนวัติกุมาร ต้นตระกูลของพระเจ้าพรหมมหาราชปกครองอยู่ ก็มีตำนานเกี่ยวพันกับ “พญานาค” 

    สมัยที่พม่าปกครองล้านนา พม่าต้องการข่มอาณาจักรล้านนาให้อยู่ภายใต้การปกครอง ประมาณว่า "เอ็งอยู่ในปากข้าแล้ว จะกัดให้ตายเมื่อไหร่ก็ได้" หรือถ้ามองในด้านศิลปะ จะหมายถึงเป็นการหลุดพ้นจากอิทธิพลศิลปะและการเมืองของพม่าที่เข้ามาครอบครองอาณาจักรล้านนาถึง 200 ปี

แบบที่ 2: ทางด้านพุทธศาสนา

    มกรหรือตัวเหราในทางพุทธศาสนา หมายถึง "อุปทาน ความยึดติด ความลุ่มหลง" ส่วนนาคนั้น หมายถึง "ความมีชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรา" ถ้าอุปทาน ความลุ่มหลง(ตัวเหรา) มันจับเราไว้(พญานาค) เราก็จะรู้สึกเจ็บปวด ไปไหนไม่ได้ เพราะว่าเรายังยึดติดอยู่ ดังนั้น หากไม่อยากเจ็บปวดก็ต้องปล่อยวางจากสิ่งยึดติดต่างๆ (หลุดออกจากปากเหราให้ได้) นี่จึงเป็นกุศโลบายที่คนโบราณสอนทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง

    ซึ่งศิลปกรรมมกรคายนาคนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยสังเกตุได้จากตัวพญานาค ในสมัยราชวงศ์มังราย พญานาคมีกระบังหน้าขนาดใหญ่ สวมกรองศอ ซึ่งสืบมาจากศิลปะบายนของเขมรอีกทอดหนึ่ง ครั้นพม่าเข้ามาปกครองดินแดนล้านนา มกรคายนาคก็มีลักษณะเป็นศิลปะแบบพม่า เป็นปูนปั้นทาสีขาว และพญานาคจะทรงเครื่องแบบพม่า

    มกรคายนาคยังคงยึดถือเป็นศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนามาจนปัจจุบัน มกรคายนาคปรากฏอยู่ทั่วในวัดหลายแห่งทางภาคเหนือหลายแห่ง อาทิ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดบุพพาราม จังหวัดเชียงใหม่ วัดศรีคิรินทราราม จังหวัดแพร่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง เป็นต้น 

ข้อมูลและภาพจาก silpa-mag / Lanna