"น้องน้ำเพชร" เผยเทคนิค คว้า ป.โท นิติศาสตร์ ด้วยวัย 21 ปี รอสอบผู้พิพากษาต่อเลย!

LIEKR:

"น้องน้ำเพชร" เผยเทคนิค คว้า ป.โท นิติศาสตร์ ด้วยวัย 21 ปี รอสอบผู้พิพากษาต่อเลย!

        เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างที่ดีในการศึกษาเล่าเรียนอย่างมาก เพราะเรียนจบระดับปริญญาตรีด้วยวัยเพียงแค่ 18 ปีเท่านั้น สาวน้อยคนนี้มีชื่อว่า ‘น้องน้ำเพชร’ น.ส.ประวีณ์ธิดา จารุนิล นักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่เข้าเรียนในระบบ Pre- degree ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจบ ม.6 และเทียบโอนเหลืออีก 4 วิชาเท่านั้น

        สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้น้องน้ำเพชร เลือกเรียนระดับอุดมศึกษาให้เร็วกว่าเพื่อนคนอื่นนั้น เนื่องจากว่าเธออยากเรียนให้จบปริญญาตรีเร็วๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนต่อปริญญาโทได้เร็วขึ้น รวมทั้งคุณพ่อของเธอก็แนะนำมาเช่นกัน

        ‘น้องน้ำเพชร’ น.ส.ประวีณ์ธิดา จารุนิล นักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

        “ข้อดีของการจบปริญญาตรีเร็ว ทำให้พัฒนาตัวเองมากขึ้น รู้จักจัดสรรเวลาในการอ่านหนังสือ เพราะเราก็ต้องมีความพยายามและความอดทนที่จะมีเวลาพักน้อยลง แต่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น เพราะว่าถ้าเราเรียนจบปริญญาตรีเร็วก็มีโอกาสจะไปต่อปริญญาโทได้เร็วขึ้น มีโอกาสไปเรียนอย่างอื่นได้มากขึ้น และทำให้มีประสบการณ์มากกว่าเด็กวัยเดียวกัน” น้องน้ำเพชร เล่าถึงข้อดีของระบบ Pre- degree

        นอกจากนี้ ชีวิต ม.ปลาย ของน้องน้ำเพชรก็ใช้อย่างเต็มที่ไปเที่ยวกับเพื่อนปกติ โดยรู้จักการแบ่งเวลา ซึ่งช่วงเวลาหลังเลิกเรียนม.ปลาย ก็จะกลับบ้านมาทำการบ้าน อ่านหนังสือสอบ เพราะว่าเรียน Pre- degree จะใช้เวลาแค่ช่วงปิดเทอม ซึ่งเวลาสอบจะตรงกับช่วงปิดเทอมพอดี เพราะฉะนั้น ช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมน้องน้ำเพชรก็จะใช้เวลาอ่านหนังสือที่จะไปสอบกฎหมายแทน โดยการซื้อหนังสือมาอ่านเอง และซื้อข้อสอบเก่ามาฝึกทำ

        การเริ่มเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วยวัยเพียงแค่ 15 ปีนั้น มีความพร้อมแค่ไหน โดยน้องน้ำเพชร ตอบว่า “หนูคิดว่าหนูพร้อมที่จะเรียนค่ะ ซึ่งก็มีเพื่อนๆ เรียนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเรียนถึงชั้น ม.5 พอ ม.6 ก็จะเลือกไปสอบแอดมิดชั่นกัน และหนูก็สอบตรงติดคณะทันตแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ได้ตัดสินใจที่จะเลือกเรียนกฎหมาย เพราะว่าชอบกฎหมายมากกว่าค่ะ”

‘น้องน้ำเพชร’ จบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ด้วยวัยเพียง 18 ปี

        “หากถามว่าเสียดายไหมที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ หนูก็เสียดายเหมือนกันค่ะ แต่ที่ ม.รามคำแหง ก็มีรับน้องเหมือนกัน ซึ่งแล้วแต่ว่าเราจะไปรับน้องตอนปีไหน ก็จะมีกิจกรรมให้ร่วม”

        อย่างไรก็ตาม น้องน้ำเพชร วางแผนในอนาคตไว้ว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรี จะสานต่อปริญญาโทกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเรียนเนติบัณฑิตต่อไป เพื่อที่จะสอบผู้พิพากษาและสอบอัยการ เพราะว่าความใฝ่ฝันของน้องน้ำเพชรอยากเป็นผู้พิพากษาเพราะเป็นอาชีพที่รักษาความยุติธรรมให้กับสังคม

        กระนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับระบบ Pre-degree คืออะไร เรียนอย่างไร ทำไมจบปริญญาตรีได้เร็ว มีดีแค่ไหน ทำไมใครๆ ถึงอยากเรียน ?

        หลักสูตรพรีดีกรี ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดโอกาสให้เด็กๆ

ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.รามคำแหง

        หลักสูตรการศึกษา Pre-degree คือ ?

        ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.รามคำแหง อธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์เกี่ยวกับหลักสูตร Pre-degree ที่ริเริ่มมาแล้วหลายปี ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าเด็กคนใดที่มีศักยภาพเรียนวิชาในระดับปริญญาตรี ก็สามารถที่จะมาลงทะเบียนเรียนได้ ซึ่ง Pre-degree เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้เรียนปริญญาตรีล่วงหน้า โดยใช้วุฒิ ม.3 และกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นม.ปลาย หรือ ปวช. ปวส. และ กศน. จากนั้น เมื่อจบการศึกษาชั้น ม.6 จึงจะสมัครเป็นนักศึกษาภาคปกติ โดยเทียบโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ตอนเรียน Pre- degree เพื่อเรียนต่อจนครบตามหลักสูตรและสำเร็จการศึกษา         สำหรับข้อดีของระบบ Pre-degree นั้น ทำให้เด็กที่มีศักยภาพและอยากจะเรียนมีโอกาสได้เรียนอย่างเต็มที่ และหลักสูตรนี้ยังช่วยเสริมในการเรียนระดับชั้น ม.ปลาย ของเด็กด้วย เนื่องจากเนื้อหาจะกว้างกว่าในหลักสูตรชั้น ม.ปลาย ทำให้เด็กเปิดโลกวิชาการมีความรู้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้สำเร็จการศึกษาได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาหลังจากเรียนจบ ม.6 เพียงแค่ 1 เทอม และไม่ได้ทิ้งมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา

        กฎระเบียบของม.รามฯ ห้ามนำข้อสอบออกนอกพื้นที่

        ส่วนเกณฑ์คะแนนสอบของ หลักสูตร Pre-degree ส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบ 100% แบ่งเป็นเกรด A B C D เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ขณะที่บางรายวิชา อาจารย์มอบหมายงานให้ไปทำก็จะมีคะแนนงานด้วย เนื่องจากว่า ม.รามฯ ใครจะมาเรียนหรือไม่มาเรียนก็ได้ เด็กว่างก็จะมาเรียน และปัจจุบันนี้ก็มีวิชาปริญญาตรีในวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเด็กอยากมาเข้าเรียนก็ทำได้

        “เด็กที่มาเรียน ไม่ใช่ว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้เข้าเรียน เป็นเพราะกฎหมายปี 2514 ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้มหาวิทยาลัยบังคับให้เด็กเข้าเรียน เด็กจะอ่านหนังสือจากตำราที่มีแต่ละวิชา ม.รามฯ ทุกวิชาจะต้องมีตำรา เด็กจะซื้อหนังสือมาอ่านสอบก็ได้หรือจะฟังวิดีโอคำบรรยายในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยก็ได้” อธิการบดี ม.รามคำแหง ระบุ

ร้านขายชีทเกลื่อนหน้าราม

        บทสรุป-แนวข้อสอบ สินค้าสุดฮิต เกลื่อนหน้าราม

        ต่อมา ทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจร้านขายหนังสือและชีทแนวข้อสอบบริเวณหน้า ม.รามคำแหง พบว่า ในร้านจะมีหนังสือของวิชาต่างๆ ให้นักศึกษาเลือกซื้อ ขณะที่ สินค้าสุดฮิตกลับเป็นเอกสารบทสรุปและแนวข้อสอบที่เย็บไว้เป็นชุดๆ ราคาประมาณ 30-60 บาท แล้วแต่รายวิชา ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มักจะซื้อคู่กันไป โดยอ่านสรุปเสร็จแล้วก็ฝึกทำข้อสอบ

        ทั้งนี้ พนักงานขายหนังสือ หน้า ม.รามคำแหง ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า สำหรับวิชาพื้นฐานนักศึกษาส่วนใหญ่มักจะซื้อชีทมากกว่าหนังสือ โดยแต่ละวิชาจะประกอบไปด้วย ชีทบทสรุป จะเป็นเอกสารที่ย่อเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือและคาดว่าจะออกสอบมาให้เรียบร้อยแล้ว เน้นแต่สาระสำคัญ ไม่ต้องนั่งอ่านหนังสือเล่มหนาให้เสียเวลา และเฉลยข้อสอบ จะเป็นข้อสอบเก่าที่คนใน ม.รามคำแหง นำออกมาเผยแพร่

        “พี่ก็เรียนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ แต่ไม่ได้เข้าเรียนแค่ซื้อบทสรุปมาอ่านก็ทำข้อสอบได้แล้ว อ่านแค่บทสรุปกับแนวข้อสอบ 2 ฉบับก็พอ สอบได้แน่นอน ไม่ต้องไปติวก็ได้นอกจากว่าจะไม่เข้าใจจริงๆ” พนักงานขายหนังสือ บอกกับทีมข่าว

ชีทหน้าราม จากชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์

        ชีทจากชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์...ว่ากันว่าแม่นมาก !?

        ชีทดังกล่าวนั้น จะมี 2 ประเภท คือ ชมรมพ่อขุนประยุกต์ ถือว่าดังมากสำหรับเด็กราม พนักงานขายหนังสือเล่าว่า ชีทของชมรมพ่อขุนประยุกต์จะเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นชมรมที่สามารถนำข้อสอบเก่าออกมาเผยแพร่ได้ อีกทั้งบทสรุปและข้อสอบว่ากันว่าแม่นมาก นอกจากนี้ ยังมีชีทของติวเตอร์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นเนื้อหาที่ในชมรมพ่อขุนประยุกต์ไม่ได้นำมาเรียบเรียงไว้

        “นักศึกษาบางคนเมื่อซื้อชีทของชมรมพ่อขุนประยุกต์ไปและไม่มีเนื้อหาในบางบทก็จะซื้อของติวเตอร์เสริมเข้าไปด้วย ก็แล้วแต่ว่านักศึกษาจะเลือกแบบใด หลักๆ จะซื้อของชมรมมากกว่า” พนักงานขายหนังสือ หน้า ม.รามคำแหง ระบุ

ชีทบทสรุปและแนวข้อสอบขายดีที่สุด

        เมื่อทีมข่าวสอบถามเพิ่มเติมว่า หากเป็นข้อสอบแบบอัตนัย จะมีชีทให้อ่านสอบบ้างไหม โดยพนักงานขายหนังสือ หน้า ม.รามคำแหง ให้คำตอบว่า หากเป็นวิชากฎหมายจะเป็นข้อสอบแบบอัตนัย จะมีชีทบทสรุปเนื้อหาจากในหนังสือและชีทข้อสอบเก่า ซึ่งข้อสอบก็จะมีเฉลยและแนวคำตอบไว้ให้นักศึกษาทำความเข้าใจ โดยถ้าอ่านเฉลยข้อสอบเก่า เมื่อไปทำข้อสอบจริงในห้องสอบก็สามารถทำได้ เนื่องจากว่าข้อสอบออกคล้ายๆ กัน

        นักศึกษา เผย ชีทหน้ารามตรงกับข้อสอบกว่า 100 ข้อ !?

        น้องเอ (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) นักศึกษา ปี 2 ม.รามคำแหง เผยว่า วิธีเลือกซื้อสรุปและแนวข้อสอบให้ดูตามรายวิชา จะมีรหัสบอกอยู่ว่าเป็นวิชาอะไร หากเป็นของชมรมพ่อขุนประยุกต์ ส่วนใหญ่จะเป็นแนวข้อสอบจริงๆ ของปีที่แล้ว จะตรงกว่า ส่วนที่เป็นบทสรุปและแนวข้อสอบของติวเตอร์จะไม่เคยซื้อ จะซื้อของชมรมพ่อขุนประยุกต์จะดีที่สุด

ชีทจากติวเตอร์ต่างๆ

        ขณะที่ น้องบี (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ) นักศึกษา ปี 4 ม.รามคำแหง เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ถ้าเป็นของ ปี 1 วิชาพื้นฐานที่ต้องเรียนจะออกตามบทสรุปและชีทแนวข้อสอบ โดยน้องบี แนะนำว่า ให้ซื้อของชมรมพ่อขุนประยุกต์มากกว่า โดยซื้อทั้งบทสรุปจากในหนังสือ รวมทั้งชีทแนวข้อสอบมาอ่านทั้งสองอย่าง เนื่องจากว่าทั้งบทสรุปและชีทแนวข้อสอบจะตรงกับข้อสอบจริงมาก

        “ข้อสอบปรนัยวิชาพื้นฐานของปี 1 รุ่นหนูจากข้อสอบจริง 120 ข้อ มีในชีทแนวข้อสอบและบทสรุปของชมรมพ่อขุนประยุกต์ ประมาณ 100 ข้อได้” น้องบี ยืนยันจากประสบการณ์

อธิการฯ ลูกพ่อขุน ปัด ข้อสอบไม่ซ้ำ ห้ามนำของเก่ามาเผยแพร่ !

        ด้าน อธิการบดี ม.รามคำแหง ปฏิเสธเรื่องข้อสอบเก่าที่เผยแพร่ออกมา โดยให้เหตุผลว่า กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยห้ามนำข้อสอบออกนอกพื้นที่ ส่วนข้อสอบที่นำมาเผยแพร่ให้นักศึกษาซื้อไปอ่านนั้นไม่ทราบว่าตั้งแต่สมัยใดแล้ว อีกทั้งยังไม่ทราบว่า ชมรมพ่อขุนประยุกต์ ผู้ทำบทสรุปและแนวข้อสอบหน้ารามเป็นใคร

        แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสอบของม.รามคำแหงในแต่ละเทอมจะไม่เหมือนเดิม ซึ่งในกติกาของมหาวิทยาลัยระบุไว้ว่า อาจารย์ทุกวิชาจะต้องเปลี่ยนข้อสอบอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น ข้อสอบจะไม่ซ้ำกัน และมหาวิทยาลัยก็ไม่อนุญาตให้นำข้อสอบออกไปเผยแพร่โดยเด็ดขาดด้วย

ชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์ ผู้ทำชีทเผยแพร่

       ร้านขายชีทชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์ ลั่น ไม่รู้เรื่องข้อสอบเก่า แค่รับมาจัดพิมพ์ขายเท่านั้น !

        ทีมข่าวได้ติดต่อไปยังร้านขายชีทชมรมลูกพ่อขุนประยุกต์ ปลายสายให้คำตอบว่า เป็นฝ่ายที่รับชีทต้นฉบับจากคนที่เอามาขายให้เท่านั้น และทำการจัดพิมพ์ส่งขายต่อ ไม่ทราบว่าคนที่เอาชีทมาขายให้เป็นใครและไม่มีเบอร์ติดต่อ พร้อมระบุว่า ไม่ทราบเรื่องการนำข้อสอบเก่าของม.รามคำแหง มาเผยแพร่แต่อย่างใด

        เลขาฯ กกอ. เผย จบเร็ว วุฒิภาวะไม่พอ !?

        การเริ่มเรียนปริญญาตรีเร็วขึ้น ด้วยอายุเพียง 15-16 ปี เป็นผลดีกับเด็กจริงหรือไม่ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า หลักสูตร Pre-degree เหมาะสำหรับเด็กที่มีศักยภาพพิเศษเท่านั้น หากต้องการเปิดโอกาสให้เด็กเรียน อาจจะต้องจำกัดให้เรียนได้เฉพาะในรายวิชาปี 1 หมวดรายวิชาพื้นฐานทั่วไป ไม่ควรจะให้เรียนลึกมากเกินไปกว่านี้

        รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)

        ด็กจบมาจะมีคุณภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวของเด็กเองด้วยว่าได้รับความรู้จากการเรียนในหลักสูตรนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแม้ว่าจะได้วุฒิปริญญาตรีภายในอายุ 18 ปี แต่วุฒิภาวะอาจจะยังไม่ถึง ความสามารถในการตัดสินใจอาจจะยังไม่ดีเท่าเด็กที่จบปริญญาตรีตอนอายุ 22 ปีก็ได้

        “ถ้าเด็กอัจริยะจริงผมมองว่าอาจเป็นสิ่งดีสำหรับเขา เพราะว่าเขาเรียนในระบบปกติไม่ได้ก็ต้องไปเรียนแบบนี้ แต่ว่าถ้าเป็นเด็กปกติผมยังคิดว่าน่าจะเรียนไปตามขั้นตอน ถ้าจะเร็วไปปีหรือครึ่งปีไม่น่าเป็นอะไร แต่ไม่ใช่ว่าจะเร็วไป 3-4 ปี ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยในส่วนนี้ เด็กควรจะมีวุฒิภาวะในระดับหนึ่ง”

        ม.รามฯ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2514

        Pre-degree เร่งรัดเด็ก จริงหรือ ?

        ลายคนมองว่าหลักสูตร Pre-degree เป็นหลักสูตรที่เร่งรัดเด็ก รศ.ดร.พินิติ ให้ความเห็นว่า ไม่เหมาะที่จะให้เด็กเรียนปริญญาตรีเร็วกว่าปกติ ในทางกลับกันถ้าเปิดให้เรียนเฉพาะรายวิชาพื้นฐาน เด็กอาจจะอยากรู้ว่าในมหาวิทยาลัยหลักสูตรแบบนี้เป็นอย่างไรไปลองเรียนดูและอาจจะพบว่าตัวเองไม่ใช่ก็อาจมีความเป็นไปได้ แต่เรียนทั้งคอร์สจนจบปริญญาแบบนี้มันคงไม่ใช่

        “หลักสูตรนี้น่าสนับสนุนหากเป็นเด็กที่มีศักยภาพพิเศษจริงๆ แต่ทางม.รามฯ ไปโฆษณาว่าเด็กจบปริญญาตรีด้วยวัยเพียง 17-18 ปี แล้วสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา จึงทำให้หลักสูตรนี้หวือหวาขึ้นมา เด็กคนอื่นๆ ก็อยากเรียนเพราะว่าจบเร็ว แต่ผมคิดว่าการเรียนแบบนี้ ควรจะเปิดให้เด็กเรียนเฉพาะในหลักสูตรเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ควรเปิดให้เรียนในวิชาเฉพาะที่มีเนื้อหาลึกกว่านี้” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทิ้งท้าย

        และในปัจจุบันนี้ แฟนเพจ PR Ramkhamhaeng University โพสต์ข้อความภาพของ นางสาวประวีณ์ธิดา จารุนิล หรือ น้ำเพชร ระบุว่า มหาบัณฑิตนิติศาสตร์สุดเจ๋ง คว้าปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต ด้วยวัยเพียง 21 ปี โดยเริ่มเรียนปริญญาตรีในระบบ Pre-degree ตั้งแต่ ม.4 จบปริญญาตรี ตอนอายุ 18 ปี พร้อมความฝันเป็นผู้พิพากษา

มหาบัณฑิตคนเก่ง บอกว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีก็เรียนต่อปริญญาโททันที อาศัยความมุ่งมั่น เพียรพยายามจนสำเร็จ เทคนิคสำคัญคือการแบ่งเวลา วางแผนชีวิต น้ำเพชรเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือตลอดเวลา มีช่วงที่เรียน และช่วงที่ผ่อนคลาย หากมีข้อสงสัยอะไรก็จะถามอาจารย์ทันที และกลับมาทบทวน หลังจากนี้วางแผนชีวิตว่าจะเรียนต่อเนติบัณฑิตยสภา เพื่อรอสอบผู้พิพากษาตอนอายุ 25 ปี

จากโพสต์

ข้อมูลและภาพ จาก PR Ramkhamhaeng University