คุณตาชุมพรวัย 71 "ทิ้งสวนปาล์ม" หันไปปลูกองุ่นไร้เมล็ด รายได้เยอะ ผลผลิตดีจนกลายเป็นที่เที่ยวใหม่!

LIEKR:

คุณตาชุมพรวัย 71 "ทิ้งสวนปาล์ม" หันไปปลูกองุ่นไร้เมล็ด รายได้เยอะ ผลผลิตดีจนกลายเป็นที่เที่ยวใหม่!

        ฮือฮาคุณตาชาวชุมพรวัย 71 ปี ทิ้งสวนปาล์มราคาที่ตกต่ำ หันมาทดลองปลูกองุ่นไร้เมล็ดประสบความสำเร็จ ผลผลิตออกมาดีเกินคาด ชาวบ้านแห่ไปชื่นชมไร่องุ่นจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยาย...

        ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พบกับ นายอำไพ ทิพย์บัณฑิต อายุ 71 ปี ชาวบ้าน หมู่ 5 ตำบลท่าแซะ จ.ชุมพร ได้พลิกวิกฤติปาล์มน้ำมันราคาตกต่ำ หันมาปลูกต้นองุ่นไร้เมล็ดเป็นอาชีพเสริมจนประสบความสำเร็จ ต้นองุ่นช่อออกตกผลผลิตจำนวนมากจนมีชาวบ้านแห่ไปชมการปลูกองุ่นแห่งแรกของจังหวัดชุมพร จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปโดยปริยาย 

 

Sponsored Ad

 

        สำหรับสวนองุ่นไร้เมล็ดของ "ลุงอำไพ" อยู่ห่างจากโรงเรียนประชานิคม 4 ประมาณ 400 เมตร อยู่ริมถนนลูกรังเป็นสวนองุ่นที่ปลูกอยู่ภายในโรงเรือนขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 50 เมตร จำนวน 2 โรงเรือนติดกัน คลุมด้วยพลาสติกใส รอบโรงเรือนกั้นด้วยตาข่ายอวนดำ โดยมีคุณตาอำไพกำลังในความรู้กับเด็กนักเรียน คุณครู และชาวบ้าน ที่มาศึกษาหาความรู้การปลูกองุ่นไร้เมล็ด

 

Sponsored Ad

 

        นายอำไพ กล่าวว่า ตัวเองมีที่ดินกว่า 40 ไร่ และปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 30 ไร่ ส่วนที่เหลือได้ปลูกพืชผักตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงใช้ทำเป็นอาหารในครัวเรือน พร้อมกับจัดสรรพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่อีกกว่า 50 ตัว แต่ด้วยปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ประสบภาวะราคาตกต่ำราคาไม่แน่นอน จึงได้ปรึกษากันกับคนในครอบครัวว่า เราต้องหาอาชีพเสริมทำไม่งั้นเราจะลำบาก ซึ่งมีลูกๆ บอกว่าลองปลูกองุ่นไร้เมล็ดกันดูเพราะยังไม่มีเกษตรกรคนใดปลูกในจังหวัดชุมพร 

        เจ้าของสวน ลุงอำไพ กล่าวต่อว่า ตนพร้อมลูกชายจึงได้ชวนกันไปอบรมที่สวนหลวงปางดะ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกองุ่นสายพันธุ์ดี หลังจากที่อบรมเสร็จ 3 วัน จึงได้แวะซื้อพันธุ์องุ่นแบล็คโอปอลสายพันธุ์ออสเตรเลียลักษณะผลทรงกลมรียาวสีแดงอมม่วงเปลือกผลไม่มีรสฝาด ผิวบางไม่แตกง่ายเนื้อแน่นรสหวานกรอบติดผลดกเป็นพวงแน่น และพันธุ์บิวตี้ซีดเลส สายพันธุ์อเมริกา ลักษณะผลทรงกลมสีดำผลมีขนาดเล็กกว่า ทั้งสองสายพันธุ์ไร้เมล็ด ทดลองซื้อมาสายพันธุ์ละ 14 ต้น ก่อนจะนำมาปลูกในโรงเรือนที่เตรียมไว้ ตั้งแต่ 1 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมาถึงวันนี้ผ่านไป 1 ปี สิ่งที่ตั้งหวังใจไว้ก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าพื้นที่ภาคใต้ของจังหวัดชุมพร ถึงแม้จะมีอากาศร้อนมากแต่ก็มีฝนตกชุก สามารถปลูกองุ่นได้ไม่แพ้ทางภาคเหนือเลยทีเดียว

 

Sponsored Ad

 

        ลุงอำไพ กล่าวต่อว่า การปลูกองุ่นไร้เมล็ดใน จ.ชุมพร ถือเป็นการนำร่อง เพราะตอนแรกไม่มั่นใจว่ามันจะปลูกให้ออกผลผลิตได้เพราะ จ.ชุมพรมี 2 ฤดู คือฤดูร้อนกับฤดูฝนเท่านั้นไม่มีหน้าหนาว แต่สามารถปลูกองุ่นประสบผลสำเร็จติดผลผลิตดีอีกด้วย ตนรู้สึกดีใจตอนนี้กำลังขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 3 โรงเรือน มีทั้งแปลงโชว์ แปลงสาธิต และแปลงเก็บเกี่ยวผลผลิต และจะปลูกต่างสายพันธุ์กัน เพื่อจะทำสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพรอีกแห่งหนึ่งด้วย ส่วนใครที่ต้องการมีศึกษาดูงาน และต้องการจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปๆ ทดลองปลูกดูตนก็จะถ่ายทอดในสิ่งที่รู้ให้ แต่สิ่งที่สำคัญในการปลูกพืชแต่ละชนิดนั้นขั้นตอนแรกให้นำดินไปตรวจสอบ เพื่อหาค่าของดินว่าขาดสารอาหารชนิดใด แล้วนำสิ่งที่ขาดมาใส่เติมเพื่อปรับปรุงสภาพดินให้เหมาะกับพืชนั้นๆ จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนวิธีการรักษาดูแล

 

Sponsored Ad

 

        เจ้าของสวน ลุงอำไพ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ปลูกได้ 7-8 เดือน องุ่นก็เริ่มจะออกดอกผล จากนั้นอีกราว 4 เดือนก็เก็บผลได้ และช่วงที่ออกช่อผลก็ต้องคัดตัดผลออกทิ้งบ้าง เพื่อไม้ให้แน่นมาก เพื่อให้ช่อหลวมๆผลที่เหลือจะได้โตใหญ่และสมบูรณ์ มีราคาตามตลาดต้องการ ส่วนผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้ตั้งราคาขายไว้กิโลกรัมละ 200 บาท 

        เพราะองุ่นที่ปลูกปลอดจากสารพิษ สารเคมี เป็นองุ่นที่ปลอดสารพิษ 100% และตามมาตรฐาน GPA ของระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์มองุ่นแห่งนี้ โดยพิจารณาตั้งแต่พื้นที่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมีลักษณะตรงตามความต้องการและมีความปลอดภัยต่อการบริโภค 

 

Sponsored Ad

 

        ด้าน นางสาวศรัณยา กาเลี่ยง นายพีระภัทร์ บุญสงค์ ครูโรงเรียนราษฎร์ประชานุเคราะห์ 20 ที่นำนักเรียนมาศึกษาดูงานบอกว่าหลังจากที่ได้รู้ว่าคุณลุงปลูกองุ่นได้ผลผลิตดีไม่แพ้ทางภาคเหนือ จึงได้พานักเรียนมาดูเพื่อศึกษาเรียนรู้ และที่สำคัญแทบไม่เชื่อว่าภาคใต้ของเราที่มีฝนตกหนักตลอดและร้อนจัดจะสามารถปลูกองุ่นให้ออกดอกออกผลได้ และเมื่อเป็นไปได้สวนองุ่นแห่งนี้นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้แล้วยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

ข้อมูลและภาพ จาก thairath