"นิคมอุตสาหกรรม" เสน่ห์ที่ทำให้ช่างภาพญี่ปุ่นหลงใหล แต่คนไทยหลายคนยังไม่เคยรู้จัก

LIEKR:

มันได้ข้อคิดมากมาย

    ในขณะที่คนญี่ปุ่นหลายคนหลงใหลอาหาร กางเกงพิมพ์ลายช้าง และจังหวัดเชียงใหม่ของประเทศไทย ช่างภาพญี่ปุ่นนามว่า Kou Kimura (โค คิมูระ) กลับหลงใหล นิคมอุตสาหกรรม หลังจากได้มาเยือนนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเป็นครั้งแรกเมื่อ10 ปีก่อน เขาประทับใจความเป็นเมืองของที่นี่และเริ่มบันทึกภาพไว้ หลังจากนั้นเขาก็เดินทางมาที่นี่บ่อยมากขึ้นเกิน 10 ครั้งได้

    กระทั่งหนึ่งปีที่ผ่านมาซึ่งเขาจริงจังกับการตามถ่ายผู้คนในห้องเช่าของพวกเขา เพื่อทำความรู้จักเมืองแห่งนี้เพิ่มขึ้น จากร้อยกว่าชีวิตที่เขาได้พบ โคคัดมา 41 ภาพเพื่อจัดนิทรรศการชื่อ The Collection of Life nearby Industrial Estate ที่บรรจุวิถีชีวิต โอกาส และความฝันของชาวนิคมเอาไว้

 

Sponsored Ad

 

    อมตะนครเป็นเมืองที่มี “โอกาส” ครับ และก็คงเป็นเรื่องของชื่อ ทุกคนเรียกที่นี่ว่าอมตะนครทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เมืองจริงๆ สักหน่อย

    ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นยามบ่ายในคาเฟ่สไตล์วินเทจที่ชิบุย่า โคควักไอแพดออกมาเลื่อนภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการให้ดูทีละรูปพร้อมเล่าความน่าสนใจของนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ผ่านมุมมองของชาวญี่ปุ่นให้คนไทยอย่างฉันฟัง

 

Sponsored Ad

 

    “นิทรรศการนี้อยากถ่ายทอดความเป็นเมือง มีทั้งหมด 41 ภาพ ผมใช้เวลารวบรวมประมาณปีกว่าๆ ใต้รูปมีชื่อเล่นและอาชีพประกอบกับแคปชั่นสั้นๆ ที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับคนในภาพ เช่น ชอบคิตตี้

    “ในการเรียงภาพ ผมใช้วิธีเรียงให้ทุกภาพสำคัญเท่าเทียมกันและดูแค่เรื่องความสวยงาม เช่น รูปที่มีคนนั่งก็ไม่เอาไว้ใกล้กัน และเนื่องจากแต่รูปมีองค์ประกอบคล้ายๆ กันคือคนกับห้อง แรกๆ อาจจะยังดูสนุกแต่ภาพหลังๆ คนอาจจะเบื่อ ผมเลยเขียนคำบรรยายใต้ภาพไว้นิดหน่อยด้วยเพราะอยากให้คนดูจนจบ”

Eam – สาวโรงงาน “ชอบคิตตี้”

 

Sponsored Ad

 

    ช่วงแรกๆ ที่ไปอมตะนคร โคเน้นถ่ายแต่ภาพแลนด์สเคปเป็นอย่างแรก เขาทยอยถ่ายภาพที่แห่งนี้เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2014 โดยเฉพาะเวลาเห็นความเปลี่ยนแปลง ถ่ายไปถ่ายมา โคก็อยากรู้จักเมืองนี้ให้มากขึ้นไปอีกเลยตั้งใจว่าเขาจะถ่ายภาพบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่าเดิม 

    “พออยากรู้จักเมืองมากขึ้นก็ต้องศึกษาเรื่องราวของคนซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเมืองขึ้นมา ผมเลยอยากถ่ายรูปคนที่อาศัยอยู่ที่นี่และห้องซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเขา สิ่งที่ผมถ่ายอาจดูเหมือนภาพพอร์เทรต แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ถ่ายออกมาคือบรรยากาศของเมือง จะบอกว่าเป็นลักษณะเฉพาะของเมืองนี้ก็ได้มั้งครับ

 

Sponsored Ad

 

    “แม้อมตะนครจะไม่ได้เป็นเมืองจริงๆ แต่คนที่นั่นคิดว่านี่คือเมืองชื่ออมตะนคร ผมเลยรู้สึกว่ามันน่าสนใจมากที่นิคมอุตสาหกรรมกลายเป็นเมืองใหม่ขึ้นมาจริงๆ ในความรู้สึกของคนที่นั่น ผมไม่ค่อยเห็นใครพูดชื่อตำบลหรืออำเภอ แม้ญี่ปุ่นจะมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งเหมือนเมืองไทย แต่ไม่มีที่ไหนถูกมองเป็นเมืองใหม่แบบนี้ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของท้องถิ่นเท่านั้น และคนที่ทำงานในนั้นส่วนมากบ้านก็อยู่แถวนั้น ไม่ใช่คนที่ย้ายเข้ามาเพื่อทำงานแบบนิคมในเมืองไทย”

    โคอธิบายว่ากฎเหล็กในการเลือกคนมาถ่ายรูปของเขาคือ หนึ่ง คนคนนั้นต้องอาศัยอยู่ในห้องนั้นจริงๆ สอง เวลาถูกถามว่า “บ้านอยู่ไหน” คนนั้นต้องตอบว่า “อมตะนคร” เท่านั้น

 

Sponsored Ad

 

    ส่วนกฎในการถ่ายภาพที่สำคัญคือพยายามให้เห็นสิ่งของและรายละเอียดในห้องชัดเจนที่สุด เพราะเขามองว่าตนเองกำลังถ่ายภาพวิวไม่ใช่ภาพตัวบุคคล ดังนั้นจึงพยายามไม่ใช้เทคนิคภาพหน้าชัดหลังเบลอ ที่สำคัญสิ่งที่สำคัญกว่าบรรยากาศคือ  "ความสว่าง" กล่าวคือแสงภายในต้องสว่างจนเห็นทุกอย่างชัดเจน นอกจากนี้โคยังไม่ให้จัดห้องด้วย!

    “บางทีเวลาผมไปถ่ายรูปที่ห้องเขาผมจะชวนคุยก่อน พอคุยจบผมจะขอถ่ายเลยโดยไม่ให้เจ้าของห้องมีเวลาจัดของ ผมอยากถ่ายโลกของเขาตามสภาพจริง ไม่อยากจัดแจงหรือปรุงแต่งอะไร” 

 

Sponsored Ad

 

    หลังจากไล่ดูภาพได้ 7-8 ภาพ ฉันพบว่าทุกคนทำหน้าเด๊ดราวกับอยู่ในหนังของเต๋อ นวพลทั้งหมด เป็นไปไม่ได้หรอกที่ชาวไทยยิ้มสยามอย่างเราจะไม่มีใครชู 2 นิ้วยิ้มให้กล้อง “ใช่ครับ ผมบอกพวกเขาว่าไม่ต้องยิ้ม” เขาตอบอย่างรวดเร็วเมื่อฉันเอ่ยถึงจุดนี้

    ฟังแล้ว กระบวนการดูจะต้องใช้สื่อสารกันหลายเรื่องจนวุ่นวายไปหมด ฉันสงสัยเหลือเกินว่าพวกเขาคุยกันยังไงในเมื่อโคบอกเราแต่แรกแล้วว่าพูดภาษาไทยได้ไม่มาก คำตอบของเขาทำให้ฉันตกใจไม่แพ้ตอนตอบว่าอมตะนคร

Sponsored Ad

    “ผมพูดภาษาอีสานได้นิดหน่อย” ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นผู้เคยไปสอนหนังสือที่ลำปางเว้าพลางยิ้มน้อยๆ นอกจากนี้คนที่อมตะนครหลายคนก็พอจะพูดภาษาญี่ปุ่นได้เพราะทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น บางคนเคยไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำทำให้พอจะคุยกันรู้เรื่อง

    “ผมท่องภาษาไทยที่เกี่ยวกับการถ่ายรูปไว้ เช่น อยากถ่ายรูปคุณ...ที่ห้องของคุณ จำได้แค่นี้ก็ทำงานได้แล้วครับ” เขาพูดประโยคภาษาไทยที่ท่องไว้ให้ฟังพลางหัวเราะ ส่วนมากเวลาไปกินข้าวหรือกินเหล้าด้วยกัน ผมจะอธิบายเหตุผลให้คนเหล่านั้นฟังและชวนเขามาถ่ายรูป พอเจอกันหลายครั้ง เริ่มมีเพื่อน มีคนรู้จัก มีคนที่จำผมได้ บางทีคนรู้จักผมก็ช่วยผมเล่าให้เพื่อนเขาฟังแทนว่าคนนี้มาที่นี่ทำไม มาทำอะไร บางทีพนักงานร้านอาหารจำผมได้มาเล่าแทนให้ก็มี

Pong – ชายโรงงาน ดื่มเหล้ากับเพื่อนมาตั้งแต่เมื่อวาน

    ถ้าพูดตามตรงคนรู้จักของเขาปฏิเสธเกือบทั้งหมด กลายเป็นว่าการเดินดุ่มๆ เข้าไปทักคนแปลกหน้าขอถ่ายรูปห้องได้ผลดีมากกว่าชวนเพื่อนตัวเองเสียอีก หรืออาจจะเป็นแนวคิดเดียวกับการถอดผ้าลงแช่ออนเซ็นที่เราเขินไม่อยากโชว์พื้นที่ส่วนตัวให้เพื่อนเห็น แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติที่ไม่รู้จักกันก็ช่างมันเถอะ

    “จริงๆ แล้วมีช่วงที่ผมท้อใจจนเกือบจะเลิกโปรเจกต์อยู่แล้วเพราะไม่มีใครยอมให้ถ่ายรูปห้องเลย จนกระทั่งได้มาเจอคู่นี้” โคชี้ไปที่รูปคู่ชาย-หญิงในโปสเตอร์ของนิทรรศการ “ผมนั่งอยู่ร้านอาหาร สองคนนี้เดินผ่านมา ผมลองเข้าไปคุย ปรากฏว่าเขาโอเค เลยเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ถ้าเขาปฏิเสธ ผมคงตัดใจไปแล้ว”

Tal – นักร้องที่บาร์ & Pond – คนขับรถบรรทุก “คู่รักกับรูปถ่ายใบแรก”

    พอเริ่มต้นได้ โปรเจกต์เริ่มไปได้สวย คนที่ให้โคถ่ายรูปเริ่มแนะนำบอกต่อกับคนรู้จัก รูปถ่ายชุดนี้ก็เริ่มสะท้อนวิถีชีวิตหลายอย่างของคนที่นี่ เช่น โคพบว่าห้องเช่าแห่งหนึ่งเคยมีผู้เช่าเป็นคนกัมพูชาซึ่งตอนนี้กลับประเทศไปแล้ว เมื่อเขากลับไปอมตะนครอีกครั้ง ผู้เช่าคนใหม่ก็ยังเป็นชาวกัมพูชาโดยที่ทั้งสองคนไม่รู้จักกัน ตอนหลัง โคถึงพบว่าพวกเขามีนายหน้าแนะนำงานคนเดียวกันคือชายชาวกัมพูชาที่พักอยู่ในห้องเช่าอีกห้อง เขาคนนี้อยู่ไทยมานาน ฟังพูดอ่านเขียนได้ชัดแจ๋ว 

Dam – หนุ่มโรงงานชาวกัมพูชา ผู้เช่าห้องนี้รุ่นที่ 1 “ชายหนุ่มผู้รักฟุตบอล, ตอนนี้กำลังเรียนภาษาไทย

Moa – แม่บ้านชาวกัมพูชา ผู้เช่าห้องนี้รุ่นที่ 2 “ห้องนี้ Dam เคยอยู่มาก่อน”

Hen – พ่อค้าชาวกัมพูชาผู้อยู่ไทยมานาน “ชายคนเดียวในกลุ่มคนกัมพูชาที่เขียน-อ่านภาษาไทยได้”

    ส่วนอีกห้องที่น่าสนใจเป็นห้องของ 3 สาว ตอนที่โคไปครั้งแรก เขาพบสาวเพียงคนเดียวเพราะอีก 2 คนเข้าเวรทำงานอยู่ จึงไม่ได้มาถ่ายรูปด้วย 2-3 ปีถัดมาเมื่อเขากลับไปอีกครั้ง มีคนแนะนำให้ไปถ่ายห้องหญิงสาวคู่หนึ่ง เขาพบว่านี่คือ 2 สาวที่เขาไม่ได้เจอในวันนั้น และวันนี้พวกเธอย้ายมาอยู่ห้องใหม่แล้ว แน่นอนว่าพวกเธอยังอาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน แต่วันนี้คนที่ช่างภาพเคยถ่ายรูปไว้เมื่อสามปีก่อนกำลังเข้าเวรทำงานอยู่

Jane – สาวโรงงาน 1 ใน 3 สาวที่เช่าห้องอยู่ด้วยกัน “ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 3 คน”

Nham, Ta – สาวโรงงาน “คนที่อยู่ห้องเดียวกับ Jane ตอนนี้ย้ายขึ้นมาอยู่ชั้นบน”

    หลังดูรูปครบ 41 รูป ซึ่งรวบรวมผู้คนไว้หลากหลาย ทั้งคนไทย คนจากประเทศเพื่อนบ้าน คนงาน ผู้จัดการ คนว่างงาน  เจ้าของกิจการ ลูกสาวคนรวยในท้องถิ่น ฯลฯ ในฐานะคนไทย ฉันต้องยอมรับว่าหลายๆ เรื่องเป็นวิถีชีวิตที่ฉันไม่รู้จัก หรือบางเรื่องที่เคยคิดว่ารู้ก็กลายเป็นไม่รู้ อมตะนครที่ฉันรู้จักกับอมตะนครของโคเหมือนเป็นคนละเมืองกัน 

    แต่ก็อย่างที่เขาบอกตั้งแต่แรก อมตะนครไม่ใช่เมืองจริงๆ สักหน่อย แล้วความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่ได้เห็นห้องนอนของคนไทยกว่าร้อยคนล่ะ

    “ผมเริ่มถ่ายรูปคนเพราะผมอยากรู้จักเมือง สิ่งที่ผมรู้สึกหลังจากถ่ายรูปห้องเหล่านี้คือส่วนมากทุกคนพร้อมโยกย้ายถิ่นฐาน คนที่อมตะนครมีหลากหลาย ทั้งคนที่มาหางานทำ คนที่กำลังทำงานแต่พร้อมจะเปลี่ยนงานใหม่เสมอ คนที่มาทำงานและคิดว่าสักวันจะกลับบ้านเกิดหรือไปที่อื่น บางคนมาเก็บเงินที่นี่เพื่อย้ายเข้ากรุงเทพฯ ก็มี อย่างเช่นที่ห้องหนึ่ง ผู้เช่าสองคนมาที่อมตะนครเพื่อหางาน ส่วนอีกคนหลังจากถ่ายรูปเขาก็ย้ายไปทำงานที่ไต้หวัน” โคเล่าพลางชี้ให้ดูสิ่งของในแต่ห้องว่าส่วนมากไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์แบบถาวร บางห้องเกือบจะเรียกได้ว่าแทบไม่มีอะไรเลย พร้อมเก็บของและเดินทางใน 30 นาที

    ใครๆ ก็มาที่นี่ได้ ที่นี่เปิดกว้างสำหรับทุกคน คนหนุ่มสาวที่เดินทางมาที่นี่สามารถเปิดร้านของตัวเองไปด้วยทำงานประจำไปด้วยได้ ผมไม่ค่อยรู้จักกรุงเทพฯ เท่าไหร่แต่คิดว่ามันน่าจะทำยากกว่าที่นี่นะ อย่างน้อยที่นี่ก็ค่าครองชีพถูกกว่า หลายคนเก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถได้ คนที่มาที่นี่คือคนที่มีความฝันครับ

    “ที่อมตะนครมีคนหลากหลาย แต่ก็มีโอกาสให้กับทุกคน”

    *เดิมนิทรรศการ The Collection of Life nearby Industrial Estate จัดที่ Nikon Salon ในโตเกียวและโอซาก้า แต่ปัจจุบันเลื่อนการจัดแสดงชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงของสถานการณ์ปัจจุบัน ใครสนใจตามข่าวการจัดงานติดตามได้ที่นี่ หรือถ้าโอกาสลงตัว เราอาจได้เห็นโคมาจัดนิทรรศการที่กรุงเทพฯ ให้ชาวไทยได้ชมกัน

ที่มา: adaymagazine

บทความที่คุณอาจสนใจ