จาก "จักรพรรดิ" แห่งราชวงศ์ชิง สู่ชีวิต "สามัญชน" ชะตาชีวิตหลังสิ้นระบอบราชาธิปไตยในจีน!

LIEKR:

ชะตาชีวิตหลัง "จักรพรรดิผู่อี๋" สิ้นระบอบราชาธิปไตยในจีน ที่ถูกแทนที่ด้วย #พรรคคอมมิวนิสต์ จนถึงปัจจุบัน

        สูงสุดสู่สามัญ “จักรพรรดิผู่อี๋” ชะตาชีวิตหลังสิ้นระบอบราชาธิปไตยในจีน… หากเอ่ยถึงประเทศจีน หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน หลายคนคงนึกถึงการเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และปัจจุบันเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเป็นองค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ

        แต่หากย้อนกลับไปในอดีต ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบการเมืองแบบราชาธิปไตยอยู่นับพันๆ ปี เปลี่ยนผ่านการครองราชบัลลังก์มาแล้วกว่าสิบราชวงศ์ โดยประเทศจีนรวมกันเป็นปึกแผ่นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฉิน เมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล และดำเนินมาจนถึงราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1912 ด้วยการสละราชสมบัติของ “จักรพรรดิผู่อี๋” จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ซึ่งต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่อาจเลี่ยงได้ตั้งแต่วัยเยาว์ที่ยังไม่รู้เดียงสา อีกทั้งยังต้องเจอกับเรื่องราวอันน่าขมขื่น และกลับคืนสู่สถานะสามัญชนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

Sponsored Ad

 

        จักรพรรดิผู่อี๋ทรงเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์ชิง และเป็นองค์สุดท้ายของจีน ซึ่งทรงมีพระนามเต็มว่า อ้ายซินเจว๋หลัว ผู่อี๋ ทรงมีพระนามลำลองว่า เฮนรี และทรงมีพระปรมาภิไธยว่า สมเด็จพระจักรพรรดิเซวียนถ่ง พระองค์ทรงเป็นชาวแมนจู เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 โดยหลังจากนั้นไม่ถึง 3 ปี ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1908 พระองค์ก็ทรงต้องขึ้นสู่บัลลังก์มังกรตามพระราชบัญชาของพระนางซูสีไทเฮา ซึ่งกำลังประชวรหนักอยู่บนพระแท่นบรรทม ด้วยเหตุที่พระนางซูสีไทเฮาทรงหมายพระทัยไว้ว่า จะทรงสามารถควบคุมจักรพรรดิวัยเยาว์ได้ง่าย แต่หลังจากที่จักรพรรดิผู่อี๋ในพระชนมายุ 2 พรรษากับอีก 10 เดือน ทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน พระนางซูสีไทเฮาก็สวรรคต ทิ้งความยุ่งเหยิงและชะตากรรมอันโหดร้ายไว้ให้จักรพรรดิพระองค์น้อย

 

Sponsored Ad

 

        กระทั่งในปี ค.ศ. 1911 ได้เกิดการการปฏิวัติซินไฮ่โดยซุน ยัตเซ็น โดยกลุ่มผู้ปฏิวัติกล่าวหาว่าผู้สำเร็จราชการของจักรพรรดิผู่อี๋ไม่ใส่ใจในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศต่อไปในอนาคต โดยหลังการปฏิวัติได้ไม่นาน ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1911 จักรพรรดิผู่อี๋ซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่ใดๆ ก็ทรงต้องสละราชสมบัติ และยกอำนาจทั้งหมดให้กับกลุ่มผู้ปฏิวัติ 

 

Sponsored Ad

 

        ในช่วงเวลานั้นพระองค์เหลือเพียงตำแหน่งในราชวงศ์และได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของสาธารณรัฐ โดยให้ปฏิบัติพระองค์เท่าเทียบกับกษัตริย์ของต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตราสารรับประกัน รวมถึงได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ได้ในส่วนเหนือของพระราชวังต้องห้าม และในพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน อีกทั้งรัฐบาลสาธารณรัฐยังให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนราชวงศ์ในจำนวนสูงถึง 4 ล้านเหรียญ แต่เงินจำนวนนี้ราชวงศ์ไม่เคยได้รับเต็มจำนวน และถูกยกเลิกในเวลาต่อมาไม่นาน

        ความวุ่นวายทั้งหลายยังไม่จบง่ายๆ เพราะจักรพรรดิผู่อี๋ทรงได้กลับมาขึ้นครองราชย์อีกครั้งในปี ค.ศ. 1917 แต่ในระยะเวลาแค่ 12 วันเท่านั้น แถมยังทรงอยู่ในฐานะหมากตัวหนึ่งของเกมการเมืองที่แต่งตั้งจักรพรรดิขึ้นในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วฝ่ายที่ชนะในเกมการเมืองนี้ก็เนรเทศพระองค์ออกจากพระราชวัง ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1924 และปลดสถานะเป็นนายผู่อี๋ สามัญชนคนธรรมดา

 

Sponsored Ad

 

        ชะตาชีวิตของนายผู่อี๋ดูเหมือนจะได้คืนอิสรภาพ เพราะหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งราชบัลลังก์ ซึ่งเขาได้รับทั้งๆ ที่ไม่ได้ร้องขอและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าเรื่องราวกลับแย่ลงกว่าเดิม เมื่อเขาย้ายไปอยู่ที่แมนจูเรีย ซึ่งเป็นมาตุภูมิของเขา ตามคำเชิญของญี่ปุ่น โดยต่อมาในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1932 เขาได้ขึ้นเป็นพระประมุขแห่งรัฐแมนจูเรีย ซึ่งเปรียบเสมือนจักรพรรดิหุ่นเชิดของญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ต่างอะไรจากชะตากรรมก่อนหน้านี้

 

Sponsored Ad

 

        จากนั้นในปี ค.ศ. 1945 รัสเซียบุกแมนจูเรีย ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู่อี๋ถูกจับโดยกองทัพแดงของโซเวียตในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ขณะที่กำลังพยายามหลบหนีทางเครื่องบินไปญี่ปุ่น เขากลายเป็นเชลยศึกและถูกคุมขัง แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1949 เขาถูกส่งตัวกลับประเทศจีนตามคำสั่งของสตาลิน ซึ่งต้องการกระชับความสัมพันธ์กับเหมา เจ๋อตง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของจีนในตอนนั้น

        ในช่วงเวลานี้ นายผู่อี๋ซึ่งสิ้นไร้ทั้งอิสรภาพและยศฐาบรรดาศักดิ์ ถูกจำคุกเยี่ยงนักโทษทั่วไปนานถึง 9 ปี อีกทั้งยังถูกใช้แรงงานอย่างหนัก และต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เคยทำด้วยตัวเองมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นแปรงฟันเอง แต่งตัวเอง เก็บที่นอนเอง หรือล้างเท้าเอง ซึ่งแม้ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยทำเลยทั้งชีวิต มันคือความขมขื่นอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

Sponsored Ad

 

        ต่อมาในปี 1959 นายผู่อี๋ได้รับการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษจากเหมา เจ๋อตง และกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ก็ยังไม่วายต้องตกอยู่ในสถานะหุ่นเชิดของรัฐบาลจีนอีกครั้ง เพราะเขาต้องประกาศตัวเป็นคอมมิวนิสต์ และทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ด้วยการเป็นคนสวนในสถาบันพฤกษศาสตร์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ว่าขนาดอดีตจักรพรรดิจีนยังเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ได้ ดังนั้นประชาชนคนธรรมดาก็ย่อมเป็นคอมมิวนิสต์ได้เช่นกัน

Sponsored Ad

.

.

        นายผู่อี๋ อดีตจักรพรรดิจีน บัดนี้ได้กลายเป็นประชาชนในระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว และไร้เงื่อนไขที่จะขัดขืน ในวาระสุดท้ายของชีวิต เขาทำงานเป็นบรรณาธิการแผนกวรรณกรรมที่สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ โดยมีรายได้ 100 หยวนต่อเดือน และลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งในวัย 61 ปี ทั้งนี้แม้เขาจะจากไปอย่างสงบ แต่หากวัดจากสถานะในอดีตแล้ว จุดเริ่มต้นกับจุดจบแห่งราชบัลลังก์มังกรของเขา มันช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับระบอบราชาธิปไตยในจีนที่สูญสิ้นไปพร้อมๆ กับเขา

ข้อมูลและภาพ จาก praew

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ