"กรมอนามัย" ห่วงคนไทย แนะนำ 7 เมนู ทำกินง่ายๆ ได้ที่บ้าน เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

  • 2021-05-12 15:42

LIEKR:

"กรมอนามัย" ห่วงคนไทย แนะนำ 7 เมนู ทำกินง่ายๆ ได้ที่บ้าน เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

    จากสถานการณ์ในประเทศไทยของเรา ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก หลายหน่วยงานและบริษัทต่างก็มีมาตรการ และให้พนักงานเฝ้าระวังตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

    เมื่อไม่นานมานี้ กรมอนามัย ได้เผยข้อมูลทางโภชนาการ กับ 7 เมนูอาหาร ที่ช่วยเสริมเรื่องภูมิคุ้มกัน โดยระบุข้อมูลว่า การเลือกกินอาหารที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้ได้รับปริมาณสารอาหารแต่ละชนิดเพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติและเต็มศักยภาพ

    กรมอนามัยได้แนะนำ 7 เมนู เสริมภูมิคุ้มกันได้แก่ 

    เมนูที่ 1 ไข่ยัดไส้ กินมะเขือเทศและแครอทให้ได้อย่างละ ½ ทัพพี จะได้รับวิตามินซี 42 เปอร์เซ็นต์ และวิตามินเอ 43 เปอร์เซ็นต์ 

    เมนูที่ 2 ต้มเลือดหมู กินผักกาดหอม ½ ทัพพี ตับหมู 1 ช้อนโต๊ะ เลือดหมู 1 ชิ้นและหมูสับ 1 ช้อนโต๊ะ จะได้รับธาตุเหล็ก 45 เปอร์เซ็นต์  

    เมนูที่ 3 ต้มยำปลาทู มีมะเขือเทศและน้ำมะนาวเป็นส่วนประกอบ จะได้รับวิตามินซี 42 เปอร์เซ็นต์ 

    เมนูที่ 4 ต้มจืดตำลึงเต้าหู้ไข่ มีส่วนผสมของแครอท ½ ทัพพี และตำลึง 2 ทัพพี จะได้รับวิตามินเอ 42 เปอร์เซ็นต์ 

    เมนูที่ปลานึ่งขิง หากใช้ปลาทับทิมเป็นส่วนประกอบ จะได้รับวิตามินดี 20 เปอร์เซ็นต์ 

    เมนูที่ 6  ปลาผัดเปรี้ยวหวาน มีส่วนผสมของมะเขือเทศ ½ ทัพพีและพริกหวาน 1 ลูก จะได้รับวิตามินซีเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

    และเมนูที่ 7 ข้าวผัดหอยลาย มีส่วนผสมของเนื้อหอยลาย ได้รับธาตุเหล็ก 33 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน ทั้งนี้ การปรุงประกอบอาหารควรเลือกวัตถุดิบที่สด สะอาด และปรุงอาหารให้สุกใหม่ทุกครั้ง ลดกินหวาน มัน เค็ม

    ที่สำคัญ ควรมีกิจกรรมที่เหมาะสมทำควบคู่ไปด้วย เช่น การทำงานบ้าน เต้นแอโรบิกในบ้าน หรือมีกิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด เช่น การสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นเกม 

    นอกจากนี้ กรมอนามัย ยังบอกให้ดื่มน้ำสะอาด 1.5 – 2 ลิตรต่อวัน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง มีสุขภาพดีในระยะยาว

ที่มา : กรมอนามัย