กษัตริย์เขมรทรงรับสั่งให้บริจาค "เนื้อหนังมังสา" เป็นอาหารแร้งกาเมื่อสิ้นพระชนม์ชีพ ที่สุดของความเสียสละ!

LIEKR:

นับเป็นหนึ่งในทานบารมีที่ยิ่งใหญ่มากๆ ค่ะ

       กษัตริย์พระองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี หรือ นักองค์ด้วง ผู้มีความสนิทสนมจงรักภักดีกับราชสำนักไทยเป็นพิเศษ นักองค์ด้วงได้หนีจากเขมรเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ขณะมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เพราะไม่เห็นด้วยกับสมเด็จพระอุทัยราชา ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ อภิเษกให้ครองราชย์ที่เขมร แต่แปรพักตร์ไปพึ่งญวนในรัชกาลที่ ๒ 

       จึงเข้ามาพำนักที่วังเจ้าเขมรที่สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี พระบิดาเคยพำนักอยู่ และหลังจากพำนักอยู่กรุงเทพฯถึง ๒๗ ปี จึงเดินทางกลับไปเขมรพร้อมกับกองทัพของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ทรงส่งไปต้านญวนที่จะเข้ายึดครองเขมร เจ้าพระยาบดินทร์เดชาใช้เวลาถึง ๘ ปีจัดการวิกฤติการณ์ในเขมรเรียบร้อยแล้ว จึงอภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๕๑ พรรษา 

 

Sponsored Ad

 

       เมื่อครั้งทูตฝรั่งเศสไปขอทำสัญญากับกรุงกัมพูชา สมเด็จพระหริรักษ์ฯตอบว่า กรุงกัมพูชาเป็นประเทศราชขึ้นกับสยาม จะทำสัญญาโดยพละการไม่ได้ เมื่อมีการงานเกี่ยวข้องก็ให้ไปว่ากับกรุงเทพฯ แล้วส่งพระราชสาสน์มากราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อความที่ได้พูดจากับทูตฝรั่งเศสทุกประการ ทำให้ทูตฝรั่งเศสต้องถอยออกจากกัมพูชาไปขอทำสัญญากับญวน แต่ญวนไม่ยอมรับทูตฝรั่งเศส เรือรบฝรั่งเศสจึงยิงป้อมปราการญวนและยึดป้อมได้ ทำให้ญวนต้องยอมทำสัญญา นับเป็นก้าวแรกของฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองอินโดจีน

 

Sponsored Ad

 

       สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ยังทรงส่งพระราชโอรสสองพระองค์ คือ พระองค์เจ้าราชาวดี กับ พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ์ เข้ามาศึกษาและฝึกงานในราชสำนักสยามตั้งแต่เด็ก จนในปี พ.ศ.๒๔๐๐ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดการบรรพชาพระองค์เจ้าราชาวดีที่วัดบวรนิเวศครบพรรษาแล้ว สมเด็จพระหริรักษ์ฯได้กราบบังคมทูลขอรับพระราชโอรส ๒ องค์ที่รับราชการอยู่กรุงเทพฯกลับไปช่วยราชการเมืองเขมร และขอพระราชทานให้ทรงตั้งพระองค์เจ้าราชาวดี เป็นมหาอุปราช กับพระองค์เจ้าศรีสวัสดิ์ เป็นสมเด็จพระแก้วฟ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาให้

 

Sponsored Ad

 

       พระองค์เจ้าราชาวดี เป็น สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ มหาอุปราช
       พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ์ เป็น สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า
       พร้อมทรงพระกรุณาพระราชทาน พระราชยาน พระกลด พานพระศรี ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยยศให้แก่เจ้าทั้ง ๒ แล้วโปรดเกล้าฯให้ส่งกลับไปกรุงกัมพูชา
       ในปี พ.ศ.๒๔๐๒ สมเด็จพระหริรักษ์ฯทรงประชวรอาการหนัก ทรงคำนึงถึงการกุศล จึงมีดำรัสให้เบิกเงินพระราชทรัพย์ไปช่วยไถ่ชายหญิงที่เป็นทาส ปล่อยให้เป็นอิสระรอดพ้นจากความทุกข์ ประมาณ ๑๐๐ คนเศษ สิ้นพระราชทรัพย์ไป ๗๐๐ แน่น แล้วทรงรับสั่งว่า ถ้าพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพเมื่อใด ให้แล่พระมังสาของพระองค์พระราชทานให้เป็นทานแก่แร้งกาแลสรรพสัตว์ทั้งหลาย บริโภคเป็นภักษาหารตามความพอใจ

 

Sponsored Ad

 

ภาพประกอบบทความ

       ต่อมาไม่นาน สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีมีพระอาการหนักลง ทรงเสวยทิพยทิวงคต พระชนมายุได้ ๖๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๔ ปี

       เมื่อเสด็จสู่สวรรคตแล้ว สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ มหาอุปราช สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้ว พระราชบุตรี บุตรา พระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมด้วยมุขมนตรีน้อยใหญ่ ได้มาประชุมพร้อมกัน กระทำตามพระกระแสรับสั่งที่ได้ทรงสั่งไว้ ให้แล่พระมังสาพระราชทานแก่สรรพสัตว์ จึงได้แล่พระมังสาพอสมควร ประดิษฐานบนพานเงิน นำไปให้ทานแก่สัตว์จตุบาท ทวิบาท ได้รับพระราชทานบริโภคตามกระแสรับสั่งที่ได้ทรงสั่งไว้ จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระสถาน (พระโกศ) ตั้งไว้ในท้องพระโรง แล้วจำหน่ายราชทรัพย์อันมีค่าปลงถวายพระสงฆ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสดับปกรณ์ที่พระบรมศพเสมอมิได้ขาด

 

Sponsored Ad

 

       ครั้นจัดการพระบรมศพเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระราชินี พร้อมด้วยมุขมนตรีน้อยใหญ่ ได้อัญเชิญให้สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ มหาอุปราช ขึ้นครองราชย์สมบัติขณะพระชันษาได้ ๒๖ พรรษา
       สมเด็จนโรดมพรหมบริรักษ์ครองราชย์อยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๔๗ จึงสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ ๗๐ พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๔๕ ปี เสนาบดีในสภารัฐมนตรีพร้อมกับข้าหลวงฝรั่งเศสผู้สำเร็จราชการประเทศเขมร จึงถวายราชสมบัติแด่ สมเด็จพระหริราชรัตไนไกรแก้วฟ้า หรือ พระองค์เจ้าศรีสวัสดิ์ พระอนุชาผู้เป็นมหาอุปราช ขึ้นครองราชย์ในพระนาม สมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ หรือ สมเด็จพระเจ้าศรีสุวัตถิ์ ซึ่งนับเป็นกษัตริย์กัมพูชาพระองค์แรกที่มีผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศส สวมมงกุฎให้ถึงพระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


ข้อมูลและภาพจาก mgronline

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ