ถึงหัวหน้าที่ไม่ใส่ใจลูกน้อง จ้างด้วยเงิน ก็ได้แค่งาน อยากให้อยู่นานๆ ต้องจ้างด้วยใจ

LIEKR:

ถึงหัวหน้าที่ไม่ใส่ใจลูกน้อง จ้างด้วยเงิน ก็ได้แค่งาน อยากให้อยู่นานๆ ต้องจ้างด้วยใจ

        แม้ว่าการทำงานของพนักงานส่วนใหญ่นั้น จะเพื่อต้องการค่าตอบแทน และสวัสดิการที่ดีก็ตาม แต่การที่พนักงานแต่ละคนจะอยู่ในองค์กรนั้นได้นาน ก็ต้องมาจากความใส่ใจ และการแสดงออกของหัวหน้าด้วย เพราะการที่จะได้ใจใครสักคน คงจะใช้เงินอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้ใจเขาคนนั้นด้วยนะ

        ผลวิจัยจาก Gallup ในสหรัฐอเมริกาพบว่า สาเหตุของพนักงานที่ลาออกกว่า 75% เป็นเพราะ "หัวหน้าที่ไม่ใส่ใจลูกน้อง" อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แค่นี้ก็ลาออกแล้วหรือ..

        พนักงานจะภักดีต่อองค์กรได้ ก็มักจะต้องภักดีกับหัวหน้าก่อน ถ้าหากหัวหน้าไม่สามารถ “ซื้อใจ” ลูกน้องได้หรือไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขา ต่อให้เป็นปัญหาหยุมหยิม นานวันเข้า ลูกน้องก็ไม่ไหวอยู่ดีแหล่ะค่ะ หรือเรียกได้ว่า เป็นการลาออกจากหัวหน้ามากกว่าลาออกจากงานก็คงไม่ผิด

        ในทางกลับกัน เมื่อมาดูมุมมองของหัวหน้าบ้าง หลายคนคิดว่า ลูกน้องจะสามารถทำงานอย่างขยันขันแข็ง และอยู่กับบริษัทเป็นเวลานานได้มาจากเหตุผลเดียว คือ "เงินเดือนที่มากพอต่อความต้องการ" และ "เพื่อนร่วมงานที่ดี" 

        แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า พนักงานกว่า 65% อยากที่จะร่วมงานกับเจ้านายที่ดี มากกว่าประเด็นของเงินเดือนที่ดี เพราะเจ้านายที่ดีนั้นก็มีผลต่อการเติบโตในหน้าที่การงานของลูกน้องด้วย

        ส่วนหนึ่งต้องไม่ลืมว่า การที่บริษัทหรือองค์กรจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้นั้น ต้องมาจากพนักงานที่มีความตั้งใจ มีความสามารถ และ “เต็มใจ” ที่จะทำงานหนักเพื่อองค์กร ซึ่งมันก็ต้องมาจากองค์ประกอบสำคัญอย่าง การมีทีมงานที่ดี ความสนิทสนมกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้า รวมทั้งการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เหมือนกับทุกคนคือครอบครัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานทำงานกันด้วยความตั้งใจ และอยู่กับบริษัทได้นานขึ้น

        นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจกับคนในองค์กรที่มีพนักงานลาออกยังพบว่า ผู้จัดการกว่า 89% ในหลาย ๆ บริษัท มีความเข้าใจว่าเหตุผลที่พนักงานลาออกนั้นมาจากกความต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้น และอีกกว่า 88% นั้นให้ความเห็นว่าพนักงานที่ลาออกนั้นอาจมีเหตุผลส่วนตัว ซึ่งนี่เอง ที่ทำให้เห็นว่าเจ้านายส่วนใหญ่แล้วยังขาดความใจซึ่งกันและกันอยู่

        สุดท้ายแล้วการที่พนักงานกับผู้จัดการนั้นจะมีความเข้าใจ และยอมรับซึ่งกันและกันได้ ก็ต้องมาจากการทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การกล่าวชมเชยบ้างเมื่องานสำเร็จ ท่าทางการแสดงออกที่บ่งบอกถึงความเป็นมิตร และพร้อมจะรับฟังปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่ผู้จัดการคนนึงจะทำได้ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกน้อยกับเจ้านายเกิดขึ้นได้แล้ว

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Gallup, เฟซบุ๊ก PRTR