"CPR ครั้งแรก ช่วยคนได้" เผยนาทีนิสิตฮีโร่ช่วยชีวิตพ่อ "ก็อต อิทธิพัทธ์"

LIEKR:

CPR สำคัญมากขนาดไหน ที่สำคัญต้องมีสติ และต้องรีบโทรเรียกรถพยาบาลให้เร็วที่สุด อย่ากลัวที่จะช่วยเหลือ

    ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจนายกรภัทร เถาทอง นิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 3 มศว กับประสบการณ์แรก ในการทำปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยพ่อของนายอิทธิพัทธ์ ฐานิตย์ นักแสดงหนุ่มชื่อดัง จนถึงมือหมอปลอดภัย

    จากกรณีนิสิตแพทย์ มศว. ช่วยทำ CPR ในนาทีชีวิต หลังชายวัยประมาณ 50 ปี มีอาการชักและหัวใจหยุดเต้นกลางโรงภาพยนตร์ช่วงค่ำวานนี้ ก่อนทีมแพทย์นำส่งโรงพยาบาลสมิติเวชเพื่อรักษาต่อไป

 

Sponsored Ad

 

    ล่าสุด ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้สัมภาษณ์ นายกรภัทร  เถาทอง หรือ ก้อง นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ฮีโร่ที่เข้าช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น พ่อของ "อิทธิพัทธ์ ฐานิตย์ หรือ ก็อต" นักแสดงหนุ่มชื่อดัง

    นายกรภัทร เล่าว่า หลังจากชมภาพยนตร์จนเกือบจบเรื่อง เวลาประมาณ 20.00 น. ได้ยินเสียงเหมือนคนหล่นลงพื้น พร้อมๆ กับเสียงคนตะโกนร้องให้ช่วย เวลานั้นได้ลุกขึ้นยืนดูสักพัก แต่ไม่มีใครเข้าให้ความช่วยเหลือ

 

Sponsored Ad

 

    “ตอนนั้นคิดในใจว่าเราเรียนหมอ ถึงจะไม่เคยปฏิบัติจริงมาก่อน แต่มีคนกำลังขอความช่วยเหลือก็ต้องช่วย เลยรีบวิ่งเข้าไปดู ปรากฏว่าผู้ป่วยไม่หายใจแล้ว จับชีพจรก็ไม่ได้ จึงตัดสินใจทำ CPR”

    นิสิตแพทย์ชั้นปี 3 ที่ยังคงเรียนภาคทฤษฎีและไม่เคยลงมือปฏิบัติตัดสินใจในนาทีชีวิต จับชีพจร และตรวจลมหายใจผู้ป่วย ก่อนลงมือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้วยการประสานมือไว้ที่อกของผู้ป่วย นั่งลงตั้งเข่าด้านข้าง แล้วออกแรงกดหน้าอกลึก 2-3 นิ้ว ให้ข้อศอกตึง จากนั้นเริ่มทำการปั๊มหัวใจอย่างต่อเนื่อง 100-120 ครั้งต่อนาที 

 

Sponsored Ad

 

    เมื่อสอบถามญาติผู้ป่วยพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติเคยหมดสติก่อนหน้านี้ 2 ครั้งแล้ว และเมื่อทำ CPR ก็สามารถช่วยเหลือได้ จึงตัดสินใจปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง และเป่าปาก 2 ครั้ง ทำทั้งหมด 2 เซ็ต โดยดันคางผู้ป่วย จัดศีรษะให้เชิดขึ้น เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจ แล้วให้คนเป่าลมเข้าไป โดยสังเกตบริเวณหน้าอกจะมีการขยับพองขึ้น และไม่มีลมรั่วออกจากปาก ถือว่าเป็นการเป่าปากที่ถูกวิธี

 

Sponsored Ad

 

    ระหว่างการทำ CPR นานกว่า 20 นาที ญาติผู้ป่วยและผู้ชมในโรงภาพยนตร์ได้พยายามติดต่อรถพยาบาล จนทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสมิติเวช เดินทางมาถึงจึงส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแล

    “ผมทำครั้งแรก แม้จะกังวลแต่ก็ทำเต็มที่ รู้สึกดีมากที่ได้ใช้วิชาชีพที่เรียนมา ช่วยชีวิตคนได้จริงๆ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากความกล้า กล้าที่จะยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ให้ได้”

 

Sponsored Ad

 

    ทั้งนี้ นายกรภัทร ทิ้งท้ายกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสว่า แม้ทุกคนจะตกใจมากกับสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สิ่งสำคัญในการช่วยชีวิตจริงๆ คือ ต้องมีสติ และต้องรีบโทรเรียกรถพยาบาลให้เร็วที่สุด อย่ากลัวที่จะช่วยเหลือ เพื่อยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยได้ถึงมือผู้เชี่ยวชาญ เพราะทุกคนต้องมีครั้งแรกเสมอ และเชื่อว่าทุกคนจะสามารถช่วยชีวิตคนอื่นได้เช่นกัน

ข้อมูลและภาพจาก thaipbstwitter@SandyHongBarbie

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ