จากทางโลก ถึงทางธรรม "ภิกษุณีธัมมนันทา" สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

LIEKR:

ภิกษุณีธัมมนันทา เป็นภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกในไทย และได้รับเลือกให้เป็น 1 ในผู้หญิง 100 คนจากทั่วโลกผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลประจำปี 2019

    ในแบบเรียนพุทธศาสนาของรัฐไทย ภิกษุณีเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4 บริวารของพุทธศาสนา ในรัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้ว่า รัฐพึงส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมพุทธศาสนาสายเถรวาท ทว่าในพุทธศักราชปัจจุบัน คณะสงฆ์และรัฐไทย กลับไม่รับรองการบวชเป็นภิกษุณีของผู้หญิง

    ทุก ๆ วันพระ ภาพของพุทธศาสนิกชนละแวกวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม จ.นครปฐม ทำบุญใส่บาตรแก่ภิกษุณีที่ออกเดินบิณฑบาตตั้งแต่รุ่งสาง เป็นกิจวัตรที่ไม่ต่างจากชาวพุทธทั่วไปที่ใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์

 

Sponsored Ad

 

    ภิกษุณีในวัดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภิกษุณีในไทยราว 200 รูป ซึ่งต่างต้องเดินทางไปบวชที่ศรีลังกาและกลับมาจำวัดในไทย เพราะคณะสงฆ์ไทยไม่อนุญาตให้ทำการบวชในประเทศ

    "ไม่มีความคิดเป็นสองเลยนะ ความคิดก็คือจะต้องบวช มันถึงเวลาจะเริ่มต้นแล้วสำหรับเมืองไทย ชัดเจนมากเลยค่ะว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง" รศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ อดีตอาจารย์สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือธัมมนันทา กล่าวกับบีบีซีไทย ถึงการตัดสินใจบวชเป็นสามเณรีเมื่อ 18 ปีที่แล้ว

 

Sponsored Ad

 

จากทางโลกถึงทางธรรมของ "ธัมมนันทา"

    ธัมมนันทา หรือที่ศิษยานุศิษย์เรียกว่า "หลวงแม่" อายุ 75 ปี เป็นภิกษุณีสายเถรวาทรูปแรกในไทย อุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ประเทศศรีลังกาเมื่อปี 2546 หลังจากเป็นสามเณรีครบสองปี ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม จ.นครปฐม

    จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีที่ถูกต้องตามพุทธศาสนานิกายเถรวาทในไทย ตอนนี้เส้นทางของภิกษุณีในไทยกำลังเดินไปในทิศทางไหน

 

Sponsored Ad

 

    "การที่เราออกบวชเป็นการยืนยันว่าผู้หญิงออกบวชได้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า"

    จากหอคอยงาช้างสู่ร่มกาสาวพัสตร์

 

Sponsored Ad

 

    ธัมมนันทาเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่ามารดาของท่านบวชเป็นภิกษุณีในสายนิกายมหายาน และเป็นผู้ก่อตั้งวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม ริมถนนเพชรเกษม จ.นครปฐม ในวัยเด็กท่านจึงเติบโตมาท่ามกลางกิจกรรมทางพุทธศาสนาและได้ช่วยงานที่ภิกษุณีอารามอยู่เสมอ

    อิทธิพลจากการแวดล้อมด้วยพุทธศาสนาน่าจะมีส่วนไม่น้อยต่อการเลือกเส้นทางชีวิต ธัมมนันทาเลือกเรียนปริญญาตรีด้านปรัชญาที่อินเดีย ต่อด้วยปริญญาโทและเอกที่แคนาดาและอินเดียตามลำดับ หลังจากนั้นธัมมนันทากลับเมืองไทยและเข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

 

Sponsored Ad

 

    ช่วงที่เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์นี้เองที่ธัมมนันทาหรือ ดร.ฉัตรสุมาลย์ในเวลานั้น ได้เปิดตัวเองออกสู่ชุมชนทางวิชาการระดับนานาชาติที่สนใจเรื่องผู้หญิง ศาสนา และการเปลี่ยนแปลงสังคม

    เธอค้นพบว่า "ศักยภาพผู้หญิงมีมหาศาล แต่กลับถูกปิดกั้นจากกรอบความคิดของวัฒนธรรมและศาสนา"

 

Sponsored Ad

 

    ปี 2526 ดร. ฉัตรสุมาลย์เข้าร่วมการประชุมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจัดขึ้น ทำให้ได้พบปะนักคิดผู้หญิงจากทั่วโลก นับเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า แม้การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะมี "สถานภาพที่ปลอดภัยดี" และได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ทำไมเธอซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องผู้หญิงบวชมากที่สุดในไทย กลับไม่ทำอะไรเลยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

    "เอ็งทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เอ็งจะนั่งนิ่ง ๆ อยู่บนหอคอยงาช้าง เป็นนักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้" ธัมมนันทากล่าวและเสริมว่าช่วงนั้นหนังสือเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงผู้หญิงในพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลมีอิทธิพลต่อเธอมาก เธอได้เริ่มศึกษาพระไตรปิฎกเชิงวิพากษ์ที่ทำให้เข้าถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในการ "อ่าน" อีกแบบหนึ่ง

Sponsored Ad

    แม้ความคิดจะเริ่มต้นแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ใช่เวลาอันเหมาะสมที่จะบวช เพราะเธอมีครอบครัวและลูกที่ต้องดูแล จนกระทั่งผ่านไป 18 ปีหลังจากนั้น

    "หลวงแม่รอจนกระทั่งลูกคนเล็กอายุ 24 และจบปริญญาโท คิดว่าเราส่งเขาข้ามฝั่งแล้ว ตอนนี้เขาเดินเอง ก็ไม่มีความรู้สึกผิดว่าทิ้งครอบครัวมา เพราะว่าเราวางเขาไว้ในจุดที่เขาจะปลอดภัยแล้ว"

"ไม่มีความคิดเป็นสอง"

    "ตอนนั้นเรื่องของผู้หญิงบวชได้ไม่ได้ เป็นความคิดที่คุยกันเยอะมากค่ะ" ธัมมนันทาเล่าถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบวชภิกษุณีในเครือข่ายของนักวิชาการด้านนี้ จนกระทั่งในปี 2541 พบว่ามีการบวชภิกษุณีที่ถูกต้องตามธรรมวินัยเกิดขึ้นที่ศรีลังกา

    "ตอนแรกเป็นการบวชในนิกายมหายานมีภิกษุณีจีนบวชให้ แต่พระมหานายกฯ 10 รูปจัดการบวชให้ใหม่ในนิกายเถรวาท มีการประกอบอุปสมบทในสีมาที่อินเดีย"

ธัมมนันทามั่นใจว่าพิธีบวชที่ศรีลังกาในครั้งนั้น เป็นการบวชสายเถรวาทที่ถูกต้อง มีภิกษุณีทำหน้าที่ซักถามข้อมูลที่เป็นอุปสรรคต่อการบวชหรืออันตรายิกธรรม

    "ภิกษุณีไม่ได้บวชให้ แต่ทำการซักฟอกให้ผู้เข้าบวชมีความบริสุทธิ์ แล้วจึงส่งให้พระภิกษุบวช ตรงนี้เป็นขั้นตอนที่พระภิกษุไทยเข้าใจผิด คิดว่าต้องมีภิกษุณีบวชให้" ธัมมนันทากล่าว

    อีกสามปีให้หลัง ฉัตรสุมาลย์เดินทางไปที่ศรีลังกา แต่การเดินทางครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นครั้งที่เธอตัดสินใจเข้าอุปสมบทเป็นสามเณรี

    "ไม่มีความคิดเป็นสองเลยนะ ความคิดก็คือจะต้องบวช มันถึงเวลาจะเริ่มต้นแล้วสำหรับเมืองไทย ชัดเจนมากเลยค่ะว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง"

    หลังจากนั้นธัมมนันทา เดินทางกลับมาจำวัดที่เมืองไทย และศึกษาพระธรรมกับภิกษุณีผู้เป็นปวัตตินีหรือพระอาจารย์เป็นเวลาสองพรรษา ก่อนกลับไปศรีลังกาอีกครั้งในปี 2546 เพื่อเข้าพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุณี

ข้อถกเถียง

    เมื่อกลับเมืองไทยธัมมนันทากล่าวว่า "ต้องทำตัวเงียบ" แต่มีสื่อโทรทัศน์บางแห่งติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย กลับถูกระงับการบันทึกเทป

    "บรรดาสื่อทั้งหลายเลยอยากจะรู้ว่าทำไมถึงปิดกั้น นี่เป็นที่มา หนังสือพิมพ์บางเล่มเล่นเรื่องธัมมนันทาอยู่เป็นเดือน ตอนนั้นบางสื่อเผยแพร่เสียงที่ไม่ยอมรับภิกษุณีซ้ำแล้วซ้ำอีก"

    เหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่า ประเทศไทยจะรู้จักภิกษุณีมากขึ้น คือ การบวชภิกษุณี 8 รูป ที่ จ. สงขลา เมื่อเดือน พ.ย. 2557 ซึ่งมีการนิมนต์พระจากศรีลงกามาบวชให้ แต่หลังจากนั้น ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ได้ออกมติในในเดือน ธ.ค. ว่าคณะสงฆ์ไทย ไม่รับรองการบวชภิกษุณี โดยประกาศให้การบวชดังกล่าวเป็นโมฆะ

.

    มติที่ประชุมคณะสงฆ์ มส. อ้างถึงพระบัญชาของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระสังฆราชเจ้าเมื่อปี 2471 เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต ความว่า ผู้หญิงที่จะสามารถบวชเป็นสามเณรีหรือภิกษุณีตามพุทธานุญาต ต้องสำเร็จด้วยการบวชด้วยภิกษุณีฝ่ายหนึ่ง แต่ "ภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว" ขณะที่ภิกษุสงฆ์เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่สามารถบวชให้ผู้หญิงหรือเป็นอุปัชฌาย์ได้

    ผลพวงหลังจากนั้น มส. ยังขอให้กระทรวงการต่างประเทศ งดตรวจลงตราวีซ่าให้กับภิกษุและภิกษุณีต่างชาติที่จะเข้ามาทำการอุปสมบทในไทย หากจะเดินทางเข้ามาต้องมีหนังสืออนุญาตจากองค์กรคณะสงฆ์ของไทย และมีหนังสือรับรองจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

    เหตุผลของคณะสงฆ์ประการนี้ขัดกับการบวชเป็นภิกษุณีสายเถรวาทที่ศรีลังกา ซึ่งธัมมนันทาและภิกษุณีหลายรูปได้เดินทางไปอุปสมบทและกลับมาจำวัดในไทย

    เมื่อผู้หญิงที่ปรารถนาเข้าถึงพระพุทธศาสนาด้วยการออกบวชรู้สึกว่าถูกกีดกันด้วยมติของ มส. เรื่องห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทย จึงมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

    กสม. มีความเห็นในปี 2558 ว่าคำสั่งตามมติขององค์กรคณะสงฆ์ ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ ไม่คุ้มครองเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง หลังจากนั้นเรื่องราวของการบวชภิกษุณีก็เงียบหายไปในสังคม และไม่มีการตอบสนองใด ๆ เกิดขึ้นจากรัฐ

พุทธ (ไม่ใช่) สำหรับทุกคน

    เมื่อการบวชในไทยไม่สามารถทำได้ด้วยเงื่อนไขที่คณะสงฆ์ไทยกำหนดไว้ข้างต้น ทำให้การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของผู้หญิงไทยแต่ละคนต้องใช้ต้นทุนสูงมากเพื่อให้พวกเธอสามารถอุปสมบทได้เหมือนพระสงฆ์ไทย

    "แต่เดิมเราไม่มีพระภิกษุไทยบวชให้อยู่แล้ว เราถึงต้องออกไปที่ศรีลังกา เพราะฉะนั้นคนที่ไปบวชต้องมีภาษา ต้องมีเงิน ต้องมีคอนเน็คชั่น (สายสัมพันธ์) และถ้าไม่รู้ธรรมวินัยแล้วไปบวชอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้การสืบสานภิกษุณียากขึ้นไปอีก"

    การเดินทางไปบวชที่ศรีลังกา เบ็ดเสร็จแล้ว ต้องมีค่าใช้จ่ายราว 25,000 บาท กลายเป็นว่าการบวชแต่ละทีต้องมีทุนพอสมควร อีกทั้งขั้นตอนของการเดินทางนอกประเทศ เช่นการมีหนังสือเดินทาง การขอวีซ่า สำหรับบางคนแล้วเป็นเรื่องที่ทั้งชีวิตพวกเธอไม่เคยได้เจอมาก่อน

    "หากพูดในฐานะของเรา ไม่ถึงกับยากลำบากจนกระทั่งทำไม่ได้ แต่สำหรับผู้หญิงบางคนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเหล่านี้มันไม่ควรเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่จะบวช" ธัมมนันทากล่าว

มีหรือไม่ความเสมอภาคในพุทธศาสนา

    การอ้างว่าภิกษุณีขาดสูญไปแล้วในเมืองไทย และการที่ภิกษุสงฆ์บวชให้ผู้หญิงถือว่าผิดธรรมวินัย เป็นข้ออ้างอิงหลักของคณะสงฆ์ไทย ทว่าธัมมนันทาเห็นว่าไม่ควรจะคิดเช่นนั้น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ภิกษุณีขาดสูญไปแล้ว และไม่สามารถกู้คืนภิกษุณีต่อไปได้ การรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ สามารถทำได้หากยังอยู่ธรรมวินัย

    "ภิกษุสงฆ์ของไทย ใช้สิทธิอะไรที่จะบอกว่าทำไม่ได้ การทำอย่างนี้ขัดกับเจตจำนงของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานพุทธบริษัท 4 เป็นฐานพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยและจะต้องสืบสานศาสนา สิ่งที่เราทำคือการเติมเต็มพุทธบริษัท 4 เป็นการถวายสักการะบูชาแด่พระพุทธเจ้า"

กิจวัตรประจำวันของภิกษุณีวัตรทรงธรรมกัลยาณี

    5.30 น. ภิกษุณีรวมตัวกันที่หอไตรเพื่อทำวัดเช้า

    6.00 น. ออกบิณฑบาต เป็นกิจวัตรในวันพระใหญ่และทุก ๆ วันอาทิตย์

    7.00 น. ฉันภัตตาหารเช้าร่วมกัน

    10.00 น. หลวงแม่ธรรมนันทาแสดงธรรมและนำพิธีสวดมนต์ถวายกองทาน

    13.00 น. ทุกวันพระใหญ่ นิมนต์พระภิกษุมาให้โอวาทภิกษุณี เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่ต้องมีภิกษุให้โอวาทก่อน ภิกษุณีจึงสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้

    14.00 น. สวดพระปาฏิโมกข์ ในวันพระใหญ่


    ธัมมนันทากล่าวว่า แท้จริงแล้วแก่นแท้ของศาสนาพุทธเองไม่ได้มองว่าความเป็นหญิงเป็นชายแตกต่างกันในการเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่อิงลำดับชั้นตามวัฒนธรรมพราหมณ์ นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่อธิบายการไม่ยอมรับภิกษุณีของคณะสงฆ์ไทย

    นอกจากนี้การบรรลุธรรมก็ไม่ได้ผูกขาดอยู่แค่กับการครองสมณเพศ หรือการเป็นหญิงชายแต่อย่างใด

    "สมัยนี้ที่เขาพูดเรื่อง LGBTQ ศาสนาพุทธไปไกลมากกว่านั้น ศาสนาพุทธบอกว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุธรรมเหมือนกันหมด ไม่ได้เกี่ยงว่าคุณจะเป็นผู้หญิงผู้ชายเลย เพราะการบรรลุธรรมคือภาวะของจิต เมื่อพูดถึงภาวะของจิตมัน genderless (ไม่มีเพศ)" ธัมมนันทากล่าว "ทุกคนสามารถเจริญธรรมได้ ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้"

    ธัมมนันทาบอกว่า ภารกิจสำคัญในวันนี้คือการสร้างสังฆะ หรือชุมชนของภิกษุณีให้สามารถสืบสานต่อไปได้

    "อุปสรรคหรือข้อขัดข้องทั้งหลายที่เผชิญอยู่ พระอุปัชฌาย์ที่ศรีลังกาท่านบอกว่าแล้วมันก็จะเปลี่ยนไป ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ถ้าเรายึดมั่นกับธรรมวินัย ตรงนี้จะตอบโจทย์สำคัญที่สุด"

    ธัมมนันทาเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ยังไม่เห็นความก้าวหน้าของสถานะภิกษุณี เป็นเพราะคณะสงฆ์ไทยเห็นว่าไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้

    "ถ้าคนที่มีสายตายาวจะต้องรู้ว่าการให้มีภิกษุณีถูกต้องตามพระธรรมวินัย ตามเจตนาของพระพุทธเจ้า เป็นความถูกต้องในการที่จะให้พุทธบริษัท 4 ขับเคลื่อนไปได้"

    "ถ้าเขา (คณะสงฆ์) เข้าใจหลักคำสอนทางพุทธศาสนา สิ่งที่ธัมมนันทาทำจิ๊บจ๊อยมากเลย สิ่งที่หลวงแม่พยายามยืนหยัดคือทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ปรากฏในภาคปฏิบัติ"

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภิกษุณีในไทย

    ปัจจุบันมีภิกษุณีสงฆ์ (ภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี) ในไทยกว่า 280 รูป เป็นภิกษุณีราว 200 รูป จำวัดอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เดินทางไปบวชที่ศรีลังกา

    ภิกษุณีสงฆ์ในไทยไม่ได้รับสถานะนักบวช ยังใช้คำนำหน้าชื่อเป็นนางและนางสาว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อกับราชการ เช่น การขออนุญาตตั้งวัด หรือการได้สิทธิอื่น ๆ เหมือนพระสงฆ์ เช่น การลดค่าโดยสาร

    วัดที่เป็นภิกษุณีอาราม ไม่สามารถจดตั้งวัดได้ สถานที่เหล่านี้จึงต้องเสียภาษีสิ่งปลูกสร้างและโรงเรือน ต่างจากวัดทั่วไป

    ภิกษุณี ถือสิกขาบท 331 ข้อ ที่เพิ่มเติมจากของภิกษุเป็นข้อเกี่ยวกับอาบัติเบา ว่าด้วยกิริยามารยาท ความปลอดภัย การไม่อยู่ในที่ลับหูลับตา การไม่เดินทางแต่เพียงลำพัง

    ทัศนะของ ดร. สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา อ้างอิงในหนังสือของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า นิกายไม่ใช่ประเด็นตัดสินความเป็นหรือไม่เป็นภิกษุณี คณะสงฆ์ไทยไม่มีสิทธิตัดสินว่าไม่ใช่ภิกษุณีตามพุทธานุญาต การที่มีข้อเรียกร้องให้คณะสงฆ์ไทยยอมรับภิกษุณี เพราะภิกษุณีก็ต้องการพื้นที่ทางวัฒนธรรมศาสนาอย่างเท่าเทียมกับที่ภิกษุสงฆ์ได้รับ เช่น การได้รับความเคารพนับถือจากสังคม การมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการบริจาคปัจจัย 4 จากประชาชน โอกาสการเรียนรู้และปฏิบัติธรรมในวิถีชีวิตแบบพระ

    หนึ่งในข่าวของภิกษุณีที่ปรากฏต่อสาธารณะ คือ เหตุการณ์ที่ภิกษุณีสงฆ์รวม 72 รูป ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เพื่อไปเจริญเมตตาธรรมถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเจ้าหน้าที่แจ้งกับภิกษุณีบางกลุ่มว่าภิกษุณีไม่มีสถานะนักบวช ต้องไปต่อแถวของประชาชนทั่วไป และให้แต่งกายในชุดดำ

    ภิกษุณีธัมมนันทา ติด 1 ใน 100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลประจำปี 2019 ของบีบีซี

ข้อมูลและภาพ จาก bbcthai

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ