เปิดประวัติ "ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ซีอีโออายุน้อยหนี้ร้อยล้าน รู้จริงเรื่องเกษตรไทย

LIEKR:

ในอนาคตหากเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกษตรและสังคมเมือง เราต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรบ้านเราให้มีรายได้มากขึ้น เราต้องควบคุมอุปทานและสร้างอุปสงค์นั่นเอง

    ถึงแม้ว่าการประชุมสภา วันที่ 25-26 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจบลงไปแล้ว แต่การอภิปรายของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อันดับที่ 4 ที่ลุกขึ้นอภิปรายนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องปัญหากระดุม 5 เม็ด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน และผู้ฟังเป็นจำนวนมาก

    ซึ่งหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตา หรืออาจเคยได้ยินชื่อของ "ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" อดีตสามีของ "ต่าย ชุติมา ทีปะนาถ" ดาราสาวจากภาพยนต์เรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และภาพยนตร์เรื่องหนีตามกาลิเลโอ แม้ทั้งคู่จะหย่ากัน และมีเรื่องราวปรากฏในสื่อเรื่องการขอดูแลบุตรสาวเพียงคนเดียวก่อนหน้านี้ แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยดี ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่พ่อและแม่ของลูก

 

Sponsored Ad

 

    สำหรับประวัติของ "ทิม พิธา" นั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ย.2524 ปัจจุบันอายุ 38 ปี พิธา เป็นบุตรชายคนโตของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเสียชีวิตแล้ว และนางลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์ ส่วนน้องชายคือ เทียน นายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์

 

Sponsored Ad

 

    นอกจากนี้ พิธา ยังมีศักดิ์เป็นหลานของผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคนใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

    พิธา เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ ปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทใบแรก การเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาโทใบที่สอง การบริหารธุกิจ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) สหรัฐอเมริกา

 

Sponsored Ad

 

    พิธา เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร CLEO ติด 1 ใน 50 หนุ่มหล่อในปี 2008 อีกด้วย

ซีอีโอ อายุน้อยหนี้ร้อยล้าน

 

Sponsored Ad

 

    พิธา เคยให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ของไทยรัฐ เรื่องการบริหารบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว สามารถพลิกฟื้น บริษัทที่ติดลบและเป็นหนี้มหาศาล ให้กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบจากรำข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรำข้าวรายใหญ่ของโลก ในเวลาเพียง 5 เดือน

    ภายหลังจากคุณพ่อเสียชีวิตไป เขาก็เข้ามารับช่วงการบริหารธุรกิจต่อ เพราะบ่าข้างหนึ่งต้องรับผิดชอบครอบครัวในฐานะลูกคนโต ต้องดูแลครอบครัวและธุรกิจของที่บ้าน ที่เราไปกู้มาเป็นร้อยล้าน บ่าอีกข้างผมต้องรับภาระดูแลพนักงานของเราซึ่งมี 50-60 คน ไม่รวมครอบครัวของเขาอีก

 

Sponsored Ad

 

    อย่างแรกต้องมีสติ แล้วค่อยๆ คลายปมปัญหาของบริษัทออกทีละปม เริ่มแรกปัญหาเกิดจากเครื่องจักรไม่เดิน เครื่องจักรไม่พร้อมที่จะทำงาน อุณหภูมิร้อนเกินไปไม่ได้ เราเสียเงินวันละ 2 ล้าน จนเราเหลือเงินก้อนสุดท้าย 2 ล้านแล้ว พอดีเครื่องจักรก็ทำงาน ทำให้เราได้เห็นน้ำมันสีเขียว กลายเป็นน้ำมันสีทองในที่สุด พอเครื่องผลิตได้แล้ว ก็ต้องไปหาลูกค้า

    ตอนนั้นบริษัทเรากู้เงินมา 100 ล้านบาทเพื่อการลงทุนระยะยาว เรายังไม่มีทุนหมุนเวียน ผมต้องไปกู้แบงก์ต่อเพิ่มอีก 70 ล้านบาท เพื่อซื้อรำข้าวจากโรงสี ซึ่งต้องใช้เงินสด เดินเข้าไปกู้แบงก์ ผมรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเขาต้องมองว่าเราเป็นเด็ก จึงต้องหาจุดแข็งของเด็กรุ่นใหม่ แต่โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข้อมูล

 

Sponsored Ad

 

    ทั้งนี้ ผมต้องแสดงให้เขารู้ว่า ผมรู้ข้อมูลและตัวเลขไม่แพ้ใคร พอไปถึงก็สามารถพูดให้เขาฟังอย่างละเอียดได้ ซึ่งผู้ใหญ่ที่เขามีประสบการณ์ เขาเห็นความตั้งใจของเรา เขาเลยเชื่อถือ ได้เงินมาทำการผลิตให้ครบวงจร ผลิตแล้วขาย จนธุรกิจไปได้ด้วยตัวเอง ที่เหลือผมจึงมาบริหารคน เพื่อที่จะให้คนมาบริหารงานต่อไป

    "ใช้เวลาเพียง 5 เดือนก็สามารถฟื้นฟูธุรกิจ จากนั้นเราก็ทำกำไร ช่วงแรกกำไรไม่เท่าไร ไม่กี่ล้าน ยอดขายเพิ่มขึ้นมาร้อยล้าน และพันล้าน ตอนนี้เราส่งออกปีละเป็นพันล้านบาทแล้ว เราซื้อรำข้าวเพื่อผลิตวันละ 400 ตัน"

Sponsored Ad

ฝันของพิธา

    พิธา กล่าวว่า เราขายข้าวเป็นหมื่นล้านตัน เราทำมากแต่ได้น้อย ในขณะที่ต่างชาติเขาทำน้อย แต่ได้มาก เขาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างภาพลักษณ์ สร้างความแตกต่าง จึงทำให้เขาทำน้อยได้มาก ในขณะที่ชาวนาบ้านเรา ซึ่งมี 48% ต้องมานั่งรอนโยบายจากรัฐว่า จะประกันราคาข้าวเท่าไร ดูเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม หรืออินเดีย ว่าราคาเท่าไร เราเป็นคนรับราคาตลาดโลก ผมอยากให้เราเป็นคนตั้งราคาตลาดโลกบ้าง

    จากประสบการณ์ที่ผมเรียนมา จะเป็นผู้นำของโลกใบนี้ได้ ต้องเป็นสินค้าไฮเทค หรือไฮทัช การจะเป็นไฮทัช ก็ต้องสร้างมูลค่าของสินค้า อย่างประเทศมาเลเซีย เขาเป็นเจ้าแห่งน้ำมันปาล์ม จนสามารถกำหนดราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกได้ สหรัฐอเมริกา เขาเป็นเจ้าน้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง เพราะเกษตรกรของเขาปลูกข้าวโพดได้มาก

    ทั้งนี้ รัฐบาลเขาจึงพยายามส่งเสริม หรือแม้แต่อิตาลี ก็พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมันมะกอก จนน้ำมันมะกอกกลายเป็นสินค้าไฮเอนด์ แล้วทำไมประเทศไทยซึ่งปลูกข้าวได้มาก จะเป็นเจ้าแห่งน้ำมันรำข้าวไม่ได้ ทั้งที่น้ำมันรำข้าวมีประโยชน์มากมายไม่แพ้น้ำมันมะกอก ในอนาคตหากเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกษตรและสังคมเมือง เราต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรบ้านเราให้มีรายได้มากขึ้น เราต้องควบคุมอุปทานและสร้างอุปสงค์นั่นเอง

    โดยทางเพจ พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party ก็ได้โพสต์คลิปวิดีโอและเนื้อหาที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาล

    โดยระบุว่า ได้มีโอกาสอ่านนโยบายฉบับนี้ครั้งแรกพร้อมกับพี่น้องเกษตรกรตัวจริงเสียงจริง ที่ฟาร์มเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร จากบทสนทนากับพวกเขาในวันนั้น ทำให้ตนสามารถที่จะลุกขึ้นมาอภิปรายด้วยความหวัง ไม่ใช่ความกลัว พี่น้องเกษตรกรที่สกลนครกลุ่มนี้โชคดี พวกเขามีโฉนดเป็นของตัวเอง อยู่ในเขตชลประทาน เลิกทำเกษตรเคมีมาตั้งแต่ปี 2552 เปลี่ยนมาทำเป็นเกษตรอินทรีย์ พวกเขารวมกลุ่มกันเป็นบริษัท และสามารถที่จะส่งออกข้าวไปต่างประเทศด้วยตัวเอง พวกเข้ามีธนาคารชีวภาพเป็นของตัวเอง สามารถที่จะทำน้ำจุลินทรีย์ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำชีวภาพด้วยตัวของ ด้วยความที่เขาเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐาน IFOAM ทำให้เขาสามารถที่จะส่งออกข้าว ในราคาตันละเกือบ 30,000 บาท

    พิธากล่าวว่าเมื่อพวกเขาสามารถที่จะส่งออกข้าวได้เอง สามารถที่จะรวมตัวกันได้ ก็มีเงินเก็บ มีเงินออม ที่สามารถที่จะเข้าถึง และลงทุนเครื่องจักรการเกษตร สามารถที่จะแชร์กันในรูปแบบของเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy ทุกคนเป็นผู้สูงอายุ แต่สุขภาพแข็งแรงดี ลูกหลานของเขาที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯ ก็กลับมาที่บ้านเกิด ที่สกลนครช่วยเหลือคุณพ่อ คุณแม่ ทำนา ทำไร่ ชีวิตอยู่ดีมีสุข สามารถที่อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวเดียวกันได้ พวกเขามี ในสิ่งที่พวกเขาพึงจะมี พวกเขาเป็น ในสิ่งที่พวกเขาพึงจะเป็น พวกเขาเป็นผลลัพธ์ทางนโยบายที่พวกเราปรารถนา ตั้งแต่นโยบายฉบับนี้ยังไม่ได้เขียนขึ้นมาด้วยซ้ำไป
    “คำถามที่ประเทศนี้ต้องตอบก็คือ เกษตรกรที่โชคดีแบบนี้ มีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศ มีชาวนาที่ส่งออกข้าวได้ด้วยตัวของเขาเอง มีอยู่กี่คนในประเทศ และเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของชาวนาทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย

    ความจริงที่โหดร้ายก็คือ พวกเขาเป็นเกษตรกรไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถลืมตาอ้าปากได้ กินดี อยู่ดี มีสุขในประเทศนี้ได้ สำหรับพี่น้องเกษตรกรแล้ว ปัญหาของนโยบายฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวนโยบาย ปัญหาของนโยบายฉบับนี้อยู่ที่ มันเป็นนโยบายที่เขียนไว้แล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันคือนโยบายที่เขียนไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มันคือนโยบายที่เขียนไว้แล้วเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 
คือเมื่อ 10 ปีที่แล้วเราพูดกันเรื่องแปรรูป เราพูดกันเรื่องนวัตกรรม
    เมื่อ 20 ปีที่แล้วเราพูดกันเรื่องประกันราคาสินค้า เราพูดแต่เรื่องหนี้สินการเกษตร เมื่อ 30 ปีที่แล้วเราพูดเรื่องการปฏิรูปที่ดิน เราพูดเรื่องชลประทาน สำหรับพี่น้องเกษตรกรแล้ว การทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ อยู่ที่เรื่องของรายละเอียด อยู่ที่เรื่องของการปฏิบัติ อยู่ที่เรื่องของความจริงใจในการแก้ปัญหาให้พวกเราต่างหาก” พิธากล่าว
    พิธากล่าวอีกว่าจากนโยบายที่เสนอไว้ตามกรอบนโยบายเร่งด่วน 12 นโยบาย และนโยบายหลัก 12 นโยบาย เมื่อได้อ่านนโยบายเร่งด่วนทั้ง 12 นโยบาย พบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะปภิปรายแต่ละนโยบายโดยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน เพราะว่าแต่ละประเด็น และปัญหานั้น มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ มันมีความเชื่อมโยงกันอยู่เมื่อดูที่นโยบาย ก็จะเห็นว่ามันไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน บางปัญหา เป็นต้นเหตุ บางประเด็นเป็นปลายเหตุ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญในการที่จะอภิปรายในครั้งนี้คือ การเรียงลำดับความสำคัญของประเด็นในนโยบายเร่งด่วนเหล่านี้ บางปัญหาเป็นคอขวด บางปัญหาเป็นปลายเหตุ บางปัญหาเป็นต้นเหตุ

    “ที่ดิน คือ คอขวดของปัญหาเกษตรกรรมเกือบทั้งหมด ที่ดิน คือ ชีวิต ที่ดิน คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ดิน คือ กระดุมเม็ดแรก เมื่อเราติดให้ถูกต้อง ปัญหาที่เหลือจะแก้ได้ง่ายมาก แต่ถ้าเกิดเราติดผิด ปัญหาอื่นที่เราพยายามที่จะแก้ ก็จะไม่สามารถแก้ได้อย่างยั่งยืน เพราะเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เขาจึงไม่มีทรัพย์สินที่จะสามารถค้ำประกัน และไม่สามารถที่จะเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้ พวกเขาไม่มีโฉนดที่จะเข้าไปจำนองในธนาคาร ทำให้เขาไม่สามารถที่จะเข้าสู่ระบบการเงินได้ หมายความว่า มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นกระดุมเม็ดที่ 2 ซึ่งในเรื่องของหนี้สินเกษตรกร
    เมื่ออยู่ในวงจรหนี้สิน เขาจดจ่อกับการที่จำเป็นที่จะต้องรีบใช้หนี้ให้ได้ ทำให้เขาต้องการความแน่นอนในการทำงาน มีความจำเป็นที่จะต้องทำวิธีเดิมๆ ปลูกพืชเดิมๆ ใช้วิธีที่ถูกที่สุด เพราะมันมีต้นทุนจากค่าเช่าที่ดิน และต้นทุนจากดอกเบี้ยนอกระบบอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีเยอะๆ เพื่อที่จะให้สินค้าออกมามีคุณภาพแน่นอน เวลาจะปลูกอะไร ก็ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกซ้ำ ทำให้มีปัจจัยในการโดนกดดันราคาอีก ซึ่งนั้นก็คือกระดุมเม็ดที่ 3 เรื่องของสารเคมีการเกษตร เรื่องของการประกันราคา” พิธากล่าว

    พิธากล่าวว่า เมื่อนำปัญหาจากกระดุมทั้ง 3 กระดุมนี้มารวมกัน ก็หมายความว่าพี่น้องเกษตรกรไทยมีต้นทุนที่สูง และมีราคาที่ต่ำ หมายความว่า เขาไม่สามารถที่จะเก็บออมได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถที่จะมีเงินทุนของตัวเอง ไม่สามารถที่จะมีกระแสเงินสด ในการที่จะแปรรูป หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งก็คือกระดุมเม็ดที่ 4 และพอมีโอกาสใหม่ๆ การท่องเที่ยวทางด้านการเกษตร เขาอยากจะพัฒนาตัวเองจากการที่เป็นผู้ผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนเป็นผู้ให้บริการด้านการเกษตร และท่องเที่ยว และนี่คือกระดุมเม็ดที่ 5
    ในขณะที่ หลายๆประเทศ เช่น อิตาลี ทำนโยบาย Agriturismo , ญี่ปุ่น ทำเรื่อง Farm Stay พวกเขาก็อยากจะทำอย่างนั้นบ้าง อยากจะยกระดับตัวเองบ้าง แต่ก็ไปติดปัญหาตรงกระดุมเม็ดที่ 1 เรื่องของที่ดิน ซึ่งเมื่อไล่เรียงระดับความสำคัญกันมาถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นว่ากระดุม 5 เม็ด ที่เราควรติดให้พี่น้องเกษตรกรของเราคืออะไร” พิธากล่าว

ชมคลิป พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อธิปรายเกี่ยวกับ

ปัญหา “กระดุม 5 เม็ด” การเกษตรไทย-ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ยากจะออกจากวังวนความยากจน

ข้อมูลและภาพจาก เพจ พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Partythairath

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ