เด็กหนุ่มวัย 16 ปลูกต้นไม้บนเกาะร้างทุกวัน ผ่านไป 40 ปี พลิกเป็นผืนป่าเขียวขจี 3,400 ไร่

LIEKR:

ในขณะที่คนอื่นหัวเราะเยาะ เขากลับมุ่งมั่นปลูกต้นไม้คนเดียวมา 40 ปี จนสร้าง "ป่า 3,400 ไร่" ด้วยมือตัวเอง!

        เมื่อหมู่บ้านหรือแผ่นดินเกิดแห้งแล้ง เพาะปลูกพืชพันธุ์ใดๆ ก็ไม่ได้ผล แม้หลายคนจะถอดใจและอพยพออกไปหาแหล่งพักพิงใหม่ แต่กลับมี "เด็กหนุ่ม" คนหนึ่ง ที่อายุได้แค่เพียง 16 ปี แต่ปณิธานที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูหมู่บ้านของเขาแน่วแน่กว่าผู้ใหญ่หลายๆ คน

        ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน “มาจูลี” คือเกาะกลางแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำพรหมบุตร ประเทศอินเดีย จนกระทั่งชาวบ้านได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ และนั่นส่งผลทำให้ทิศทางน้ำที่ไหลเชี่ยวมุ่งตรงมายังเกาะมาจูลีแทน สันทรายบริเวณริมชายฝั่งเกิดการพังอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดนักวิชาการได้ทำนายเอาไว้ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปอีก 20 ปี เกาะมาจูลีจะหายไปจากแผนที่โลกอย่างแน่นอน

        ณ เวลานั้นเอง จาดาฟ พาเยง เด็กหนุ่มวัย 16 ปี พบงูจำนวนมากนอนแห้งอยู่บนพื้น เหตุมาจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด หลังน้ำได้พัดพาพวกมันขึ้นมาบนพื้นดินทรายที่แห้งแล้งไร้ซึ่งต้นไม้ใดๆ ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นคนอื่นคงไม่คิดอะไร แต่จาดาฟกลับทำในสิ่งที่ต่างออกไป เขาเดินทางไปสอบถามกับกรมป่าไม้ของอินเดียว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะปลูกต้นไม้บนเกาะร้างแห่งนี้

        คำตอบที่จาดาฟได้รับคือ “เกาะมาจูลี ไม่สามารถปลูกอะไรได้หรอก” แต่มีพืชอยู่ชนิดหนึ่งที่อาจจะโตในพื้นที่แบบนี้ได้นั่นก็คือ “ต้นไผ่” เด็กหนุ่มไม่รอช้า เขาตัดสินใจนำไผ่มาปลูกบนเกาะร้างแห่งนี้ทันที ไม่ใช่แค่ต้นเดียว แต่เขาค่อยๆ ปลูกมันเรื่อยๆ อย่างจริงจัง รดน้ำทุกวัน ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการปลูกต้นไม้บนเกาะร้างที่ไม่มีใครสนใจ

        การทุ่มเทขนาดนี้ทำให้จาดาฟต้องทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว ทิ้งการศึกษา มาอาศัยอยู่บนเกาะ อุดมการณ์อันแรงกล้าของเขา มาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่

.

        หลายปีต่อมา ป่าไผ่ของจาดาฟได้ถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่ๆ เคยเป็นตลิ่งสันทราย ดูเหมือนว่าโอกาสรอดของเกาะมาจูลีเริ่มเห็นแสงริบหรี่เรืองรองขึ้นมาแล้ว ในตอนนั้นเองที่จาดาฟได้เริ่มคิดที่จะหาพืชพรรณใหม่ๆ เข้ามาปลูกบนเกาะให้เหมาะสมกับสภาพพื้นดิน เขานำพืชท้องถิ่นเข้ามาทดลองปลูกเรื่อยๆ ทุกวัน

.

        เคล็ดลับในการปรับสภาพดินของจาดาฟ ก็คือการนำมดแดงจากในหมู่บ้านมาปล่อย และดูเหมือนว่าจะได้ผลดีไม่น้อย

        จากเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ ค่อยเติบโตคลุกคลีกับธรรมชาติที่เขาสร้างมานานหลายปี ต้นไม้หลายชนิดเติบโตไปตามกาลเวลา สัตว์ป่าหลายชนิดก็เริ่มเข้ามาอยู่อาศัย รวมถึงสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง “เสือโคร่งเบงกอล” และ “แรดอินเดีย” อีกด้วย

        “ผมไม่เคยพบแร้งในธรรมชาติมานานกว่า 12 ปีแล้ว แต่หลังจากที่ผมปลูกป่าไปได้สักพัก พวกมันก็กลับมารวมตัวกันทีนี่อีกครั้ง ป่าของผมเริ่มดึงดูดสัตว์จำพวกกวางเข้ามา และตามมาด้วยสัตว์นักล่าทั้งหลาย” จาดาฟกล่าว

        “ยิ่งป่าขยายตัวกว้างไปมากเท่าไหร่ ยิ่งดูแลรักษายากมากขึ้นเท่านั้น ภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดสำหรับป่าก็คือมนุษย์ พวกเขาจะทำลายป่าเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง และสัตว์ป่าก็อาจสูญพันธุ์อีกครั้ง”

        ปัจจุบันป่าที่จาดาฟปลูกขึ้นมากลายเป็นเขตป่าสงวนที่กว้างใหญ่ถึง 3,437 ไร่ หรือใหญ่กว่าสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพอย่าง สวนหลวง ร.9 ถึง 7 เท่า และเราสามารถพบสัตวป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นลิง กระต่ายป่า แร้ง กวาง ช้าง แรด รวมถึงเสือ

        โดยป่าแห่งนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ป่าโมไล” ตามชื่อกลางของจาดาฟ (Jadav Molai Payeng) เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่วีรบุรุษนักปลูกป่าคนนี้

        จากความพยายามทั้งชีวิต เรื่องราวของจาดาฟได้ถูกนำไปถ่ายทอดเป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ได้รับรางวัล ‘Forest man of India’ จากอดีตนายกรัฐมนตรี ดร. เอ. พี. เจ. อับดุล กลาม

        รางวัลที่จาดาฟได้รับอาจจะดูไม่มากนักหากเทียบกับสิ่งที่เขาได้ทำให้ประเทศชาติ แต่ถ้าเมื่อ 40 ปีก่อน จาดาฟไม่เริ่มปลูกต้นไม้ ในวันนี้ เกาะมาจูลีที่เคยเหลือป่าอยู่แค่ครึ่งเกาะ อาจจะไม่มีพื้นที่ป่ากว้างกว่าเซนทรัลปาร์ค เป็นที่ให้สัตว์ป่าจำนวนมากอยู่อาศัย และมาจูลีอาจจะหายไปตามการคาดการของนักวิทยาศาสตร์ก็เป็นได้

        ปัจจุบัน เกาะมาจูลีได้กลายเป็นเขตป่าสงวน ด้วยขนาดพื้นที่ 1,360 เอเคอร์ มีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัยทั้ง เสือ แรด กระต่ายป่า นกหลากหลายสายพันธ์ุ และยังพบแร้งตามธรรมชาติได้ในป่าผืนนี้อีกด้วย โดยได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น ‘Molai forest’ ตามชื่อกลางของจาดาฟ (Jadav Molai Payeng) เพื่อเป็นเกียรติแก่ตัวเขาเองนั่นเอง โดยจาดาฟมักจะพูดคำหนึ่งอยู่เสมอว่า

“หากต้องการตัดต้นไม้ของผม คุณต้องข้ามร่างผมไปก่อน”

ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร