ไอดอลตัวจริง จาก "ยาม" ประจำหมู่บ้าน สู่ "นิติกรศาลฎีกา" พลิกชีวิตด้วยความพยายาม

LIEKR:

“ชีวิตผมไม่กล้าฝันไกล” ครอบครัวเคยแตกแยก อาหารมื้อหลักคือข้าวคลุกน้ำปลา

    เส้นทางชีวิตของ ‘อาณัติ มานพ’ นิติกรหนุ่ม ผู้พลิกชะตาด้วยความพยายาม การเรียนรู้ การทำงานหนัก และหนังสือ ติดปีกไปสู่อนาคตที่สดใส

    เด็กชายครอบครัวแตกแยก อาหารมื้อหลักคือข้าวคลุกน้ำปลา ผจญอาชีพหลากหลายตั้งแต่เดินขายมะม่วงตามบาร์เบียร์ ยามรักษาความปลอดภัย พนักงานร้านสะดวกซื้อ เสมียน ลูกจ้างเก็บขยะ ด้วยความใฝ่รู้และต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า เขาฝ่าฝันอุปสรรคนับน้อยนับพัน ก้าวขึ้นไปเป็นนักกฎหมายในตำแหน่ง ‘นิติกร’ ที่รอวันเดินไปสู่ ‘อัยการ’ ได้อย่างน่าชื่นชม 

 

Sponsored Ad

 

    ‘อาณัติ มานพ’ นิติกรปฏิบัติการ ประจำศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ชายที่ไม่เคยฝันไกลกว่า “การทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เท่าที่มีโอกาส” พร้อมแล้วที่จะเปิดเผยฉากชีวิตและเส้นทางความสำเร็จที่อยู่ในกำมือ

พลิกเกมติดลบ

    อาณัติ เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2533 ที่จังหวัดอุดรธานี มีชีวิตลำบากในวัยเด็ก หลังพ่อแม่เลิกรากัน เด็กน้อยแบเบาะถูกแม่ส่งไปฝากเลี้ยงไว้กับยาย ซึ่งไม่ใช่ญาติที่ จ.ตราด ขณะที่แม่ไปทำงานก่อสร้างในพื้นที่ จ.พัทยา เพื่อหาเงินส่งให้ลูกเรียน 

 

Sponsored Ad

 

    “ตอนนั้นลำบากมาก บ้านไม่มีไฟฟ้า ใช้น้ำจากบ่อ ต้องสาวเชือกขึ้นมาใช้ กินข้าวกับน้ำปลาเป็นเรื่องปกติ มีเพียงวันพระเท่านั้นที่ได้กินของดี เพราะหอบใส่ปิ่นโตเอามาจากวัด”

อายุได้ 9 ขวบ ‘อาณัติ’ ย้ายไปอยู่กับแม่ที่เมืองพัทยา และเริ่มอาชีพแรกในชีวิตด้วยการเดินขายมะม่วง ริมผับบาร์ บนถนนวอล์คกิ้ง สตรีท

 

    “ตื่นตี 5 ไปซื้อของที่ตลาดพัทยาและนำมาเตรียมไว้ หลังเลิกเรียนแล้วนำมาแพ็คใส่ถุง เดินขายตามบาร์เบียร์ตั้งแต่เย็นถึง 5 ทุ่ม ค่อยกลับบ้านนอน” 

 

Sponsored Ad

 

    ช่วงมัธยมต้นเขาทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ แลกค่าแรงชั่วโมงละ 25 บาท หาเลี้ยงชีพและค่าเทอมจนกระทั่งเรียนจบ แม้ตลอดชีวิตในวัยเด็กจะไม่มีช่วงเวลาเล่นสนุกเหมือนเด็กทั่วไป แต่นับเป็นเรื่องดีที่ยังได้อยู่ในระบบการศึกษามาตลอด 

    “ผมทำงานเรื่อยมาจนจบ ม.6 ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ต่อให้สอบติดก็ไม่มีเงินเสียค่าเทอม ไม่อยากกู้ ไม่อยากเป็นหนี้ เลยตัดสินใจสมัครเข้า ม.รามคำแหง เพราะหน่วยกิตถูก ไม่มีความฝันว่าจะอยากเป็นอะไร คิดเพียงแค่ว่า ขอมีวุฒิ มีงานที่ดี มีเงินเดือนก็พอใจแล้ว”

 

Sponsored Ad

 

    การทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนเป็นเรื่องปกติของอาณัติ ผ่านมาหลากหลายอาชีพชนิดคนทั่วไปฟังแล้วต้องทึ่ง ไล่ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟในโรงแรม คนขายซีดี และแม้กระทั่ง รปภ.

    “กลางวันทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ พนักงานขายซีดี เสมียนทนาย หลายครั้งก็ไปช่วยยื่นภาษีและประกันสังคมให้กับพนักงาน ช่วงกลางคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงหกโมงเช้าเป็น ผมจะกลายเป็น รปภ.ประจำหมู่บ้าน เวลานั้นแหละครับที่ผมได้อ่านหนังสือ” 

 

Sponsored Ad

 

    ชีวิตของเขาคือการค้นหาโอกาสที่ดีกว่าอยู่เสมอ หากได้เงินเดือนมากกว่า มีเวลาอ่านหนังสือและพักผ่อนมากขึ้นเขาไม่รีรอที่จะเดินเข้าไปสมัคร จากรปภ. ก้าวไปเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาล พนักงานจัดเก็บขยะมูลฝอย ลูกจ้างชั่วคราวของเทศบาล กองสาธารณสุข ดูแลขยะ สัตว์จรจัด และเรื่องร้องเรียนต่างๆ 

    “เราทำงานแต่ละที่ 7-8 เดือน มองหาโอกาสอยู่เรื่อยๆ ถ้าขยับแล้วมันมีเวลามากขึ้น เราก็เลือกครับ” 

 

Sponsored Ad

 

    ด้วยความที่กิจกรรมและตารางงานหนาแน่น ทำให้หลายครั้งเขาเดินทางไปเข้าสอบไม่ทันเวลา แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้ภายในเวลา 4 ปี 

    “ช่วงเรียนเหนื่อยมากครับ ต้องอดนอนไปสอบ ล้ามาก จากพัทยามากรุงเทพฯ บางวันมาไม่ทันสอบ ก็เสียโอกาสฟรี จริงๆ ผมสอบตกเยอะเหมือนกัน แต่ซ่อมเอาเรื่อยๆ จนจบ” 

(ภาพซ้ายเมื่อครั้งมีอาชีพเป็นรปภ. - ภาพขวาเป็นนิติกร)

Sponsored Ad

ติดปีกชีวิตด้วยหนังสือ 

    หนังสือคือการลงทุนและเสริมสร้างความสามารถที่ง่ายที่สุดสำหรับอาณัติ

    “การอ่านเป็นการลงทุนอย่างเดียวที่ไม่ว่าจนหรือรวยก็ทำได้” เขาบอก

    หนังสือที่รามฯ ขายถูกเล่มละ 50 กว่าบาท ถ้าไปซื้อเอกสารจากสำนักติวต่างๆ เป็นร้อยเป็นพัน ผมเลยซื้อมา แต่ต้องเก็งข้อสอบเอง เพราะมันกว้างมาก”  

    แม้จะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน แต่เพราะอยากเปลี่ยนชีวิตทำให้ต้องฮึดขึ้นสู้ และไม่มีคำว่าหยุดพัฒนา 

    “ผมเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ ผมหันกลับมามองตัวเองแล้วไม่มีต้นทุนอะไรสักอย่าง ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้เลย เพราะฉะนั้นหนังสือจึงเป็นการลงทุนเดียวที่เราทำได้เลยทันที ความรู้มันเป็นต้นทุนที่เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง” 

มุ่งไปทีละขั้น 

    หลังเรียนจบระดับปริญญาตรี เขาก้าวหน้าในอาชีพตามลำดับ ไล่ตั้งแต่นิติกรโครงการจัดทำแบบกฎหมายฯ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นิติกรประจำกรมวิชาการเกษตร สอบผ่านเนติบัณฑิตไทย และเป็นข้าราชการในตำแหน่ง นิติกรปฏิบัติการ ประจำศาลฎีกาในที่สุด

    “ผมคิดไปทีละสเต็ป ไปทีละขั้น ถ้าขั้นนี้ยังไม่สำเร็จผมก็ไม่กล้าคิดข้ามช็อต ตอนแรกขอจบรามฯ ให้ได้ก่อน พอจบแล้วก็อยากจบเนฯ หลังจากนั้นก็คิดว่าอยากจะรับราชการ ผมไม่มีความฝันสูงสุด ตอนนี้คิดว่าถ้ามีโอกาสก็จะสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาให้ได้ครับ” 

    อาจเป็นเพราะชีวิตต้นทุนต่ำ ทำให้ไม่กล้ามองไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองเห็น และประเมินจุดที่ตัวเองอยู่เสมอ

    “ถ้าเรามองเกินตัวไปแล้วทำไม่ได้มัน เราจะท้อ ผมเลือกมองแค่ข้างหน้า และพยายามไปให้ถึง” ชายวัย 28 ปีกล่าว

ประสบการณ์ช่วยเปิดกว้าง 

    หลายสิบอาชีพที่ผ่านมาทำให้อาณัติได้เรียนรู้วิธีคิด สภาพการทำงานของแต่ละบุคคลและอาชีพ สะสมจนเป็นทัศนคติที่เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันดีของ ‘นักกฎหมาย’

    “แต่ละอาชีพมันให้ประสบการณ์และทำให้ผมเข้าใจผู้คนมากขึ้น อย่างวิชากฎหมาย เราเข้าใจตัวหนังสือและข้อความก็จริง แต่เราอาจจะไม่เคยเข้าใจหัวอกของชาวบ้านเลยว่าเขารู้สึกอย่างไร เข้าถึงความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน” 

    “งานราชการมันเป็นการทำงานเพื่อส่วนร่วม ผมหวังว่าจะได้ช่วยเหลือคนอื่นจากความเข้าใจที่ผมมีต่อพวกเขาบางอย่างถ้าเราใช้กฎหมายอย่างเดียว มันไม่สอดคล้องกับสังคม มันต้องตีความ ปรับใช้ให้เข้ากับสังคมและสิ่งที่เป็นอยู่ อาชีพที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันทำให้ผมไม่ถือตัวหรือหลงลืมที่ๆ เราเป็นเคยมา เข้าใจคนอื่นและให้เกียรติทุกอาชีพ” 

กอดความพยายามให้แน่น

    “กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมากในการต่อสู้และชนะความท้อแท้ บางคนได้รับมันจากครอบครัวที่อบอุ่น แต่สำหรับผมคือศาสนา ผมยึดเหนี่ยวและไม่ออกนอกลู่นอกทาง มีโฟกัสที่ชัดเจนกับเป้าหมาย ผมเองไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ อาจจะเพราะเราจน เลยคิดว่ามันสิ้นเปลือง ทำลายสุขภาพ จนมีผลต่อการใช้ชีวิตของเรา” อาณัติวัย 28 บอก 

    สภาพแวดล้อมและความลำบากในอดีตยังคงตราตรึง ทำให้เขาเข็ดขยาดและไม่อยากเดินกลับไปสู่ตรงนั้นอีก ซึ่งนั่นหมายถึงการรักษาระดับความพยายามให้คงอยู่เสมอ 

    “มีครั้งหนึ่งตอนเด็กๆ ผมขี้เกียจไปโรงเรียน ไปเล่นกองทรายที่แคมป์ก่อสร้าง แม่ถามผมว่าอยากลำบาก ทำงานตากแดดเหมือนแม่ไหม ผมบอกไม่อยาก แม่บอกงั้นก็ต้องไปเรียน สิ่งนี้แหละที่ผมสอนตัวเองมาตลอดว่าการเรียนรู้จะเปลี่ยนชีวิตเราได้ แม้โอกาสไม่เอื้อแต่อย่าทิ้งมัน สะสมทีละนิดก็ยังดี” 

    ชายหนุ่มที่มีท่าทางสุภาพ ยกพระราชปรารภเรื่องพระมหาชนก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ขึ้นมากล่าวทิ้งท้าย

    "ขอจงมีความเพียรที่สมบูรณ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์" โดยบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตของตัวเอง

    ทั้งหมดนี้คือเส้นทางอันน่าชื่นชมและบทเรียนอันน่าเรียนรู้ของ ‘อาณัติ’ ผู้พลิกชะตาด้วยความพยายาม.

ภาพประกอบเรื่องโดย เสกสรร โรจนเมธากุล

บทความที่คุณอาจสนใจ