ลาว ส่งออกยางพารา-กล้วย ให้จีน เติบโตต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ทำรายได้เข้าประเทศได้กว่า 6.8 พันล้านบาท

LIEKR:

คนตกงานน้อยลง ประชาชนมีรายได้มากขึ้น น่าชื่นชมจริง ๆ

    กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของลาว เผยผลสำเร็จเชิงพาณิชย์ในการผลักดันมูลค่าการส่งออกของผลิตผลทางการเกษตร อย่างยางพาราและกล้วย ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงขึ้น พร้อมราคาตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์

    หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส ของลาวรายงานว่า ลาวทำรายได้ 153.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4,800 ล้านบาท จากการส่งออกยางพาราในปี 2017 ก่อนเพิ่มเป็น 168.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือาว 5,260 ล้านบาท ในปี 2018 และเกือบ 217.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6,810 ล้านบาทในปี 2019

    การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี สะท้อนว่าสินค้าโภคภัณฑ์กำลังประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์

    ขณะเดียวกัน พืชผลทางการเกษตรที่ทำรายได้ส่งออกสูงสุดในปี 2018 ได้หล่นลงมาอยู่อันดับ 2 ในปี 2019 โดยการส่งออกวัวควายปรับตัวแซงหน้าขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 แทน ขณะที่มูลค่าการส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นตามจำนวนต้นยางใหม่

    ทั้งนี้ จีน เป็นผู้นำเข้ายางพาราของลาวรายใหญ่ โดยสั่งซื้อ 10,000 ตันในปี 2017 และสั่งซื้อยางพาราที่ผลิตในแขวงหลวงน้ำทาชุดใหญ่ในปี 2019 ส่วนปี 2020 หน่วยงานพาณิชย์ท้องถิ่นดังกล่าวเผยว่า โควตาการส่งออกยางพาราได้เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตัน อีกทั้งยังยืนยันว่า การระบาดของไวรัสโควิด19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราจากแขวงหลวงน้ำทาทางตอนเหนือของลาวสู่จีนตามปกติ

    นอกจากนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ลาวยังเปิดเผยว่า กล้วย ได้กลับมาเป็นสินค้าเกษตรที่สามารถสร้างรายได้สูงสุดในบรรดาสินค้าเกษตรทั้งหมดของประเทศอีกครั้ง โดยปีที่ผ่านมา ลาวได้ส่งออกกล้วยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีนและไทย เพิ่มขึ้นราว 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6,200 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าสูงกว่าช่วงหลายปีก่อนหน้านี้

    โดยในปี 2017 ลาวทำรายได้จากการส่งออกกล้วย 167.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,300 ล้านบาท ทว่ากลับลดลงมาอยู่ที่ 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3,500 ล้านบาทในปี 2018 รั้งอันดับ 4 ในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ทำรายได้จากกส่งออกมากที่สุด เป็นรองสินค้าส่งออกอย่างวัวควาย ผลิตภัณฑ์ยางพาราและเยื่อไม้กับเศษกระดาษ

    สำหรับสาเหตุที่ทำให้กล้วยของลาวส่งออกเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) หรือการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกรกับคู่สัญญาในพื้นที่ปลูกกล้วยหลายแห่ง ซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการทำงาน ลดการตกงานของประชาชน และรายได้ให้แก่คนท้องถิ่นที่มีฐานะยากไร้ได้อีกด้วย

ข้อมูลและภาพ จาก businesstoday