ชาวเน็ตส่ายหัว เด็กบ้านจน สอบเอ็นทรานส์ได้คะแนนสูงลิ่ว แต่ทำไมกลับเลือกเรียนโบราณคดี

LIEKR:

โซเชียลเถียงเสียงแตก เด็กบ้านจน สอบเอ็นทรานส์ได้คะแนนสูงลิ่ว แต่ทำไมกลับเลือกเรียนโบราณคดี

    เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังถกเถียงสนั่น บนสังคมออนไลน์ของประเทศจีน เมื่อมีเด็กนักเรียนบ้านจน แต่มันสมองระดับหัวกะทิ สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยระดับประเทศได้สำเร็จ ด้วยคะแนนสูงติดระดับท็อป จาก 676 เต็ม 750 คะแนน แต่กลับเลือกเดินตามฝัน เรียนคณะที่ไม่เด่นดังอย่างที่คนในสังคมคิดอย่าง "โบราณคดี"

    เว็บไซต์ต่างประเทศ เผยถึงเรื่องราวของ เด็กนักเรียนหญิงชาวจีนรายหนึ่ง ตกเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตนำไปถกเถียงกันทั่วประเทศ เกี่ยวกับเรื่องชนชั้นทางสังคม จนเป็นกระแสไวรัล เธอเป็นเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจน แต่เรียนเก่งมาก สามารถทำคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้สูงติดระดับท็อป แต่กลับเลือกเรียนสาขาวิชาโบราณคดี ซึ่งไม่เป็นที่นิยม แทนการเลือกเรียนสาขาอื่นๆ ที่จบไปมีเงินเดือนสูงๆ และอนาคตก้าวไกล

 

Sponsored Ad

 

    จง ฟางหรง เป็นเด็กนักเรียนหญิง จากมณฑลหูหนาน ทางตอนกลางของประเทศจีน เมื่อเร็ว ๆ นี้ เธอเพิ่งทำคะแนนสอบเกาเข่า (Gaokao) หรือสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของจีน ได้ไป 676 จากคะแนนเต็ม 750 คะแนน สูงเป็นอันดับ 4 ของมณฑล ฟางหรงได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า เธอตั้งใจจะสมัครเข้าวิชาเอกโบราณคดี ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

 

Sponsored Ad

 

    หลายคนที่ได้เห็นเรื่องราวของเธอพากันวิพากษ์วิจารณ์ไปในมุมมองที่แตกต่างกัน บางส่วนชื่นชมการตัดสินใจทำตามความฝันของเธอ ในการเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาเอกที่ไม่เป็นที่นิยม แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่กล่าวว่า เธอคิดผิดแล้ว เธอจะต้องเสียใจในภายหลังที่เลือกเรียนวิชานี้ แทนการเลือกวิชาอื่นที่มีการแข่งขันสูงและรายได้ดี แต่เธอกลับปล่อยทิ้งโอกาสที่จะได้อาชีพการงานที่มั่นคงและไต่ขึ้นไปในระดับสังคมที่สูงขึ้น

    ในประเทศจีนวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์มักถูกมองข้ามในฐานะทางเลือกอาชีพ เนื่องจากในตลาดงานของจีนชื่นชอบผู้มีความสามารถด้านการเงิน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หากแต่เป็นกลุ่มที่มีฐานะครอบครัวสูง ก็อาจจะเลือกเรียนวิชาในหมวดศิลปศาสตร์ได้โดยไม่เดือดร้อน

 

Sponsored Ad

 

    ตัวอย่างท็อปคอมเมนต์ในเว่ยป๋อ โซเชียลมีเดียที่นิยมของจีน กล่าวว่า "วิชาศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์หรูหราเกินไปสำหรับคนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย" และ "สำหรับคนยากจนพวกเขาควรคำนึงถึงรายได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น ในสาขาวิชาเอกมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นี้จะเสียเปรียบมาก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ปรัชญาและวรรณคดี"

    ถึงขนาดว่ามีบางรายตั้งข้อสงสัยว่า เธออาจจะได้รับความรู้หรือมีความเชื่อแบบผิดๆ เห็นพวกโบราณคดีน่าสนใจจากที่อ่านในหนังสือ หรือเห็นตามโทรทัศน์ สายตาไม่ได้มองเห็นความจริงในโลกกว้างภายนอก

 

Sponsored Ad

 

    ความคิดเห็นต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันทางสังคมที่ครอบครัวที่มีรายได้น้อยในประเทศจีนต้องเผชิญ กับการต้องมุ่งมั่นแข่งขันกันปีนบันไดทางสังคมแทนที่จะทำตามความฝัน

    อย่างไรก็ดี จง หยวนเว่ย พ่อของ จง ฟางหรง เผยว่า ลูกสาวได้ตัดสินใจแล้ว และครอบครัวก็เคารพในการตัดสินใจของเธอ เขาไม่คิดว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกสาวของเขา "เราไม่เข้าใจมากนักเกี่ยวกับการเลือกสาขาวิชา แต่เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี เราจึงไม่คิดว่าเธอจะมีปัญหาในการจ้างงาน เราคิดว่าความสุขของลูกเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด" หยวนเว่ย กล่าว

 

Sponsored Ad

 

    หลังจากเรื่องราวของฟางหรง เป็นกระแสที่พูดถึงมาก เธอได้ออกมาอธิบายผ่านโซเชียล ระบุยืนยันว่า เธอชื่นชอบวิชาประวัติศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งเธอยังมีบุคคลต้นแบบคือ ฟ่าน จินฉือ นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยตุนหวง ตั้งแต่ปี 1998-2014 อุทิศเวลาร่วม 50 ปี ทำงานในถ้ำมั่วเกา เพื่อศึกษาและอนุรักษ์งานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ในถ้ำ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่เธอสมัครเข้าเรียนสาขาวิชานี้

 

Sponsored Ad

 

(เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น)

    หลังจากนั้น ฟ่าน จินฉือ นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง ได้เขียนจดหมายส่งตรงถึงฟางหรง ระบุว่า "อย่าลืมความฝัน อดทนพากเพียร และตั้งใจเรียน" รวมไปถึงนักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน และพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต่างพากันชื่นชมสนับสนุน ส่งหนังสือพจนานุกรม และอุปกรณ์การศึกษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาโบราณคดีไปให้เธอเป็นขวัญกำลังใจเธออีกด้วย

 ฟ่าน จินฉือ

ที่มา : scmp

บทความที่คุณอาจสนใจ