จากเด็กเลี้ยงควาย คิดไปจากโลกนี้หลายครั้ง แต่ขยันจนได้ดี กลายเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน!

LIEKR:

ได้ข้อคิดจากเจ้าสัวซิวซี่มากมายเลยค่ะ

หมายเหตุ : สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ด้านล่างบทความค่ะ

      ซิวซี แซ่ตั้ง มหาเศรษฐีหมื่นล้าน ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ตะวันออกโปลีเมอร์อุตสาหกรรม เจ้าของธุรกิจผลิตยาง ฉนวนกันความร้อน คอร์กเทป พลาสติกแผ่นและพลาสติกขึ้นรูป รวมถึงอุปกรณ์ประดับยนต์

      เด็กชายชาวจีนผู้เติบโตมาในครอบครัวชาวนายากจน ต้องเลี้ยงควาย-ตักอุจจาระขาย เคยเกือบตา บ อ ด จนคิดไปจากโลกนี้ สุดท้ายรอดมาได้ราวปาฏิหาริย์ ก่อนอพยพมายังเมืองไทย โดยมีเสื้อกางเกงติดตัวเพียงชุดเดียว ตั้งหน้าทำมาหากินอย่างสุจริต ขยันอดออม จนประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

 

Sponsored Ad

 

“ชีวิตผมยิ่งกว่านิยาย”

      ประโยคสั้น ๆ แต่กินความหมายลึกซึ้งของชายชราผู้เขียนฝันด้วยชีวิต

เด็กเลี้ยงควายแห่งหมู่บ้านซักฝู

 

Sponsored Ad

 

      ซิวซี แซ่ตั้ง เกิดปี พ.ศ. 2468 ที่หมู่บ้านซักฝู ตำบลท้งซี อำเภอฟุงสุ่น จังหวัดเหมยจิว ในมณฑลกวางตุ้ง หรือเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมดสิบคนในครอบครัวชาวนาฐานะยากจน ชีวิตวัยเด็กเต็มไปด้วยความแร้นแค้น

      “ผมโตมาในห้องแถวแคบ ๆ มืดทึบและอับชื้น ทั้งกลิ่นขี้ควาย ขี้หมูขี้ไก่ เนื่องจากต้องนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปอยู่ในบ้านด้วยเพื่อป้องกันขโมย จำได้ว่าที่บ้านมีเพียงลูกควายตัวเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง ซื้อมาถูก ๆ เพราะไม่มีเงินจะไปซื้อควายตัวใหญ่ เลยต้องเอาลูกควายมาเลี้ยงจนกว่ามันจะโต หน้าที่หลักของผมคือ จูงควายไปกินน้ำกินหญ้าทุกวัน โตขึ้นมาหน่อยก็ไถนา ควายก็เด็ก คนก็เด็ก ไถนาแต่ละทีแสนจะทุลักทุเล”

 

Sponsored Ad

 

      ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประกอบกับรัฐบาลจีนกำลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง วุ่นวายการศึกสงคราม ประชาชนลำบากทุกหย่อมหญ้า

      “กว่าจะได้เรียนหนังสือยากลำบากมาก ไม่ได้จ่ายกันเป็นค่าเทอมเหมือนสมัยนี้ ต้องจ่ายค่าสอนให้ครูตามแต่จะตกลงกัน นั่นคือ ข้าวสาร 5 กิโลกรัม/ครึ่งปี ถือเป็นสิ่งที่หายากมาก ลำพังข้าวที่จะกินกันในครอบครัวยังไม่พอ แต่ละมื้อต้องหุงแล้วผสมแป้งมันลงไปด้วย เติมน้ำลงไปเยอะ ๆ เพื่อให้ปริมาณมาก ๆ แม้ไม่อิ่มท้องแต่ก็พอประทังชีวิตให้อยู่รอดได้”

 

Sponsored Ad

 

      วิกฤตร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นตอนอายุ 13 เมื่อต้องเป็นคนตาบอดนานเกือบ 5 ปี

      “ตอนนั้นเริ่มมีอาการผิดปกติที่ดวงตา ระคายเคือง ฝ้าฟาง มองเห็นภาพเบลอไปหมด บางทีเดินเตะข้าวของ หยิบอะไรก็ตกหล่น จนมาพบว่ามีฝ้าสีขาวเหมือนเนื้อลำไยติดตรงตาดำจนแทบมิดเมื่อไม่มีเงินไปหาหมอเลยต้องรักษาตามยถากรรม โดยเอาหยากไย่หรือใยแมงมุมใส่ลงไปในดวงตา เพราะเชื่อว่าจะไล่เชื้อโรคสกปรก เอาหมึกกับซอสจิ๊กโฉ่วมาหยดใส่ ผลคือตาบอดสนิท ผมเสียใจมากที่ต้องมากลายเป็นไอ้บอดให้คนอื่นดูแล มองไม่เห็นหนทางอื่นที่จะดีไปกว่าความ ต า ย หนแรกเอามีดปังตอจะมาฟันใส่คอ แต่พี่สะใภ้มาเห็นก่อน หนสองเอาเชือกจะผูกคอกับขื่อเกือบสำเร็จแล้ว แต่ก็มีคนมาเจออีก สุดท้ายเลิกคิดสั้นเพราะเห็นแก่แม่”

 

Sponsored Ad

 

      เหมือนสวรรค์มาโปรด จากนั้นไม่นานบรรพบุรุษได้มาเข้าฝันบอกให้รีบไปหาหมอตาคนหนึ่งจนได้ยากลับมาทาที่บ้าน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่แม่คนหนึ่งจะให้ได้ ด้วยการใช้ปลายลิ้นเลียไปยังฝ้าขาวที่ติดตรงตาดำ ทำเช่นนี้นานติดต่อกันถึง 8 เดือน จนอาการทุเลาลงและกลับมามองเห็นได้ในที่สุด

      ซิวซี เล่าว่า วันที่ดวงตากลับมามองเห็นได้เป็นปกติ เขาบอกกับตัวเองเลยว่า ต่อไปนี้จะตอบแทนพระคุณพ่อแม่อย่างสุดกำลัง

      “ท่านเหนื่อยเพื่อผมมาเยอะ ต่อไปนี้ผมจะเหนื่อยเพื่อท่านบ้าง หลังจากนั้นจึงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นจับกังรับจ้างหาบของ รับซื้อฉี่กับอึไปขาย ชดเชยกับเวลา 5 ปีที่เสียไป”

 

Sponsored Ad

 

เสื่อไม่มีสักผืน หมอนไม่มีสักใบ

      สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหวังของคนทั่วโลกก็พลันเจิดจ้า ผู้คนเฝ้ารอโอกาสใหม่ในการทำมาหากิน ซิวซีในวัย 20 ปี ตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอนมาแสวงโชคบนแผ่นดินไทย

      “อาซิ้มข้างบ้านที่เคยไปเมืองไทยเล่าให้ฟังทุกวันว่า เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีข้าวสวยมีปลาทูตัวใหญ่ ๆ กินทุกมื้อ บ้านเมืองก็สงบสุข ถ้าขยันขันแข็งละก็รวยเป็นเถ้าแก่ได้ทุกคน ญาติพี่น้องเลยรวบรวมเงินให้ ต้องขายควาย ขายที่นา ขายไม้ฟืน และกู้เงินเป็นค่าเรือ วันที่เดินทางออกจากเมืองจีน ผมไม่มีเสื่อสักผืน ไม่มีหมอนสักใบ มีเพียงเสื้อแขนสั้นบาง ๆ กับกางเกงขาสั้นที่มีสายเชือกรัดเอวใส่ติดตัวมาเพียงชุดเดียว ไม่มีแม้แต่รองเท้าแตะ ต้องเดินเท้าเปล่า ผมจัดว่ายากจนที่สุดคนหนึ่งบนเรือ ที่แย่กว่านั้น เพียงก้าวแรกที่เหยียบแผ่นดินไทย ผมก็ถูกจับเพราะไม่มีญาติมารับรอง ติดคุกอยู่ 4 วัน 4 คืน กว่าพี่ชายจะมาประกันตัว”

Sponsored Ad

      ซิวซี เล่าว่า ชีวิตในเมืองไทยไม่ได้สุขสบาย กินอิ่ม นอนหลับอย่างที่คิดไว้ เขาต้องอาศัยอยู่กับพี่ชายแถวชุมชนวัดดวงแข สภาพความเป็นอยู่ขัดสน ภาษาไทยก็ฟังไม่รู้เรื่อง แถมยังวิตกกังวลว่าจะไปเป็นภาระครอบครัวพี่ชาย

      “ช่วงแรกช่วยพี่ชายทำรองเท้าขาย ตื่นตั้งแต่เช้ามืดมาประกอบรองเท้า หิ้วไปเดินเร่ขายตามร้านต่าง ๆ โดนกดราคา โดนด่า โดนดูถูก บางทีถูกไล่ตะเพิดออกมาเหมือนหมูเหมือนหมา เราเป็นพ่อค้า แต่รู้สึกเหมือนเป็นขอทาน กลับบ้านมาก็กดดันจากพี่สะใภ้ สุดท้ายเลยขอแยกตัวออกมาสู้ของเราเอง”

      ซิวซีโหมทำงานหนักไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย กินอยู่อย่างประหยัด ทำงานที่โรงงานฟอกหนังฟอฮับฮัด เงินเดือน 80 บาท (เทียบกับราคาก๋วยเตี๋ยวในปี พ.ศ. 2488 ชามละสิบสตางค์) ว่างก็รับจ้างแบกข้าวสาร เงินส่วนหนึ่งส่งไปให้ครอบครัวที่เมืองจีน อีกส่วนเก็บหอมรอมริบไว้เป็นทุนทำธุรกิจในอนาคต

      “ความขยันของผมโด่งดังไปทั่วโรงงาน มาจากวันหนึ่งที่เกิดปัญหาส้วมเต็ม เถ้าแก่เลยเรียกคนงานตักอึไปเททิ้ง ทุกคนเกี่ยงกันหมด สมัยอยู่เมืองจีนผมเคยขนอึขนฉี่เหม็น ๆ มานับไม่ถ้วน เลยอาสาจัดการให้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง เพราะเป็นคนสู้ชีวิต ไม่เลือกงาน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนันเหมือนคนงานคนอื่น ๆ เถ้าแก่กับเถ้าแก่เนี้ยจึงรักผมมาก นอกจากนี้ผมยังเป็นคนใฝ่รู้ ช่างสังเกต พยายามจดจำทุกสิ่งทุกอย่างในโรงงานจนเรียกว่าทำได้ ทำเป็น เลยคิดอยากเป็นเจ้าของโรงฟอกหนังของตัวเองบ้าง ต่อมาเริ่มเรียนรู้การเจรจา การเลือกซื้อวัตถุดิบ การขาย จนตัดสินใจลาออกมาตั้งโรงงานแห่งแรกชื่อแซ่ฮิ้นลี่”

      เป็นเถ้าแก่ครั้งแรกในวัย 22 ปี เริ่มจากเปิดโรงงานฟอกหนัง ก่อนประสบกับภาวะซบเซาหลังรัฐบาลประกาศห้ามส่งออกเครื่องหนังไปยังต่างประเทศ จึงเบนเข็มลงใต้ไปรับจ้างกรีดยางที่ อ.เบตง จ.ยะลา ต่อมากลับมาปักหลักกรุงเทพฯ เปิดบ้านเช่า รับเหมาประตู-หน้าต่างไม้ ทำธุรกิจอิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต ก่อนหันมาจับธุรกิจผลิตยางสังเคราะห์ ห่วงติดอวน ฉนวนกันความร้อน คอร์กเทป จนถึงประดับยนต์ จนประสบความสำเร็จดังที่เห็นทุกวันนี้

ซิวซี บอกว่า เส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม กว่าจะประสบความสำเร็จเลือดตาแทบกระเด็น

      “สุภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า ‘จะรู้ว่าช้างม้าตัวไหนดีก็ต้องลองขี่’ การทำธุรกิจจะรู้ว่าเป็นอย่างไรก็ต้องลงไปทำ พอได้ทำผมถึงได้เรียนรู้ปัญหาอุปสรรคที่ไม่เคยรู้มาก่อน ตอนทำงานเป็นลูกจ้างว่าหนักและเหนื่อยแล้ว แต่ก็แค่แรงกาย สมองแทบไม่ต้องคิดอะไร มีหน้าที่ทำไปตามที่รับผิดชอบแต่ละวัน จบแล้วพักนอน หยุดคิดไปเลย แต่เมื่อโดดมาเป็นเจ้าของเอง ผมทำงานต้องใช้แรงกาย ต้องคอยคุมรายจ่าย วางแผนการผลิต และหาลูกค้าเบ็ดเสร็จในหนึ่งเดียว ถือเป็นงานที่หนักมาก สมองต้องขบคิดตลอด นอกจากเวลาที่มันน็อกด้วยความอ่อนเพลียจนหลับไปนั่นแหละถึงจะหยุดคิด”

      อีกสิ่งหนึ่งที่ซิวซีเชื่อว่าทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่เล่นการพนัน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ สร้างพลังใจให้ขยัน อดทน อดออมอยู่ตลอดเวลา

      “ผมเป็นนักธุรกิจที่ทำธุรกิจถูกต้องมาตลอดชีวิต เป็นการทำธุรกิจที่ไม่หวังพึ่งอำนาจอิทธิพลต่าง ๆ ผมสอนลูก ๆ เสมอว่า เราต้องทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา อย่าหวังพึ่งอำนาจเส้นสาย เมื่อทุกอย่างถูกต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ก็จะไม่มีปัญหา”

วันที่มีความสุขที่สุด

      เบื้องหลังความสำเร็จอันน่ายกย่องของ ซิวซี แซ่ตั้ง หนีไม่พ้นครอบครัวอันเป็นที่รัก นั่นคือ ภรรยา 2 คน ชิวบ๊วย และ วราพิณ รวมถึงบุตรอีก 11 คน ประกอบด้วย ภวัตน์, อมรรัตน์, รติพิณ, รติพร, ธีระวัฒน์, ชำนาญ, เฉลียว, เอกวัฒน์, เนาวรัตน์, รุ่งระวี และธนาวัฒน์ วิทูรปกรณ์

      “ผมเน้นย้ำลูก ๆ ทุกคนเสมอว่า ต้องเรียนหนังสือ ห้ามทิ้งการเรียนเด็ดขาด เนื่องจากตอนเด็ก ๆ ผมยากจนมาก อยากเรียนแต่ไม่มีโอกาสได้เรียน ผมเรียนไม่จบ ป.1 ด้วยซ้ำ เลยบอกตัวเองว่า แม้จะไม่มีเงิน อดมื้อกินมื้อ ก็ต้องหาเงินส่งลูกเรียนสูง ๆ ให้ได้ การศึกษาจะทำให้เราเป็นคนฉลาด ทันโลก มีเหตุมีผล มีจริยธรรม ไม่มีใครมาดูถูกเราได้”

      ปัจจุบันกลุ่มตะวันออกโปลีเมอร์อุตสาหกรรม ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก ทั้งยังแตกแขนงออกไปเป็นบริษัทร่วมทุนอีกนับสิบบริษัท มีพนักงานมากกว่า 5,000 คน รวมมูลค่านับแสนล้านบาท

      ความสุขง่าย ๆ ของชายชราวัย 90 อยู่ตรงการได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนโรงงาน เฝ้ามองดูอาณาจักรที่ตัวเองสร้างมากับมือ

      “นึกถึงสมัยก่อนไม่มีจะกิน มีแค่เสื้อผ้ากับกางเกงชุดเดียว เดี๋ยวนี้มีธุรกิจใหญ่โต มันมีความสุข ภาคภูมิใจ ความสำเร็จทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผมคนเดียว ครอบครัวมีส่วนสำคัญ ช่วยคิดช่วยทำ ผมโชคดีมากภรรยาทั้งสองรักใคร่กลมเกลียวกัน ลูก ๆ เป็นคนดี ซื่อสัตย์ ขยัน และเก่งทุกคน พอถึงวัยที่มีคู่ครอง แต่ละคนก็มีคู่ครองที่ดี มาช่วยสืบสานธุรกิจของครอบครัว ทุกคนทำงานกันได้ดีมาก” ผมจึงวางมือ ปล่อยให้ลูกเข้าไปดูแลและบริหารกันเอง ผมเพียงแต่ให้คำปรึกษา คอยเฝ้าดูห่าง ๆ

      ปีนี้ก็ 90 แล้วแต่น่าชื่นใจที่ร่างกายดีมาก ไม่เจ็บไม่ป่วย เลือดลมก็ดี ปัสสาวะก็ดี ปอด กระเพาะ ทุกอย่างดีหมด”

      นี่คือเรื่องราวชีวิตของ ซิวซี แซ่ตั้ง เจ้าสัวระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่ยังคงใช้ชีวิตอย่างสมถะ มีความสุขอยู่กับลูกหลาน ควบคู่กับการเดินสายบริจาคเงินช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง

ดื่มน้ำจากบ่อ อย่าลืมคนขุดบ่อ

“เมื่อดื่มน้ำจากบ่อ อย่าลืมคนที่ขุดบ่อ”

      เป็นประโยคที่ซิวซีพร่ำสอนลูก ๆ อยู่เสมอ เสมือนเครื่องเตือนใจให้รำลึกนึกถึงคุณคน คุณแผ่นดินที่ทำให้มีทุกสิ่งทุกอย่างในวันนี้

      หลังจากประสบความสำเร็จในชีวิต ซิวซีได้กลับไปสร้างความเจริญให้กับบ้านเกิดที่เมืองจีนมากมาย เช่น บริจาคเงินสร้างสะพาน โรงอาบน้ำสาธารณะ ศาลาพัก บริจาคเงินสร้างโรงเรียน สร้างถนนหลายแห่ง สร้างอาคารผ่าตัดของโรงพยาบาล ทำรางส่งน้ำเข้าทุ่งนาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร สร้างสนามกีฬา ส่วนที่เมืองไทย ซิวซีและครอบครัวก็ได้บริจาคเงินมอบทุนการศึกษา สร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนหลายแห่ง บริจาคเงินให้โรงพยาบาลเพื่อซื้อเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ บริจาคสิ่งของให้กับวัด รวมถึงช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีเหตุรุนแรงหรือภัยพิบัติ เงินที่บริจาคเพื่อสาธารณกุศลรวมทั้งหมดรวมกว่า 300 ล้านบาท

      ความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้คือ การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “อาคารวิทูรปกรณ์” ของมูลนิธิพระดาบส ซึ่งทรงพระเมตตาตั้งชื่ออาคารตามชื่อสกุลของตระกูลวิทูรปกรณ์ ในฐานะผู้สร้างอาคารหลังดังกล่าวขึ้น

      “แผ่นดินไทยทำให้ผมได้มีโอกาสร่ำรวย ผมไม่เคยลืมวันที่มาเมืองไทยโดยไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว ผมจนยิ่งกว่าผี เพราะผียังมีเงินในปาก วันนี้ชีวิตของผมเดินทางมาสู่ความสำเร็จที่ฝันไว้ ผมสอนให้ลูก ๆ รักและสำนึกบุญคุณของแผ่นดินไทย ลูก ๆ เกิดเมืองไทยทุกคน รักเมืองไทยมาก พวกเขารู้สำนึกในแผ่นดิน ได้เข้ามาพึ่งโพธิสมภาร ทำให้เราทั้งครอบครัวมีความสุขสบาย พวกเรามีทุกสิ่งขึ้นมาได้เพราะมีเมืองไทย และที่สำคัญถึงผมจะเป็นคนจีนแต่ก็มีความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงไม่น้อยกว่าใคร”

      ทั้งหมดนี้คือปณิธานที่ ซิวซี แซ่ตั้ง มุ่งมั่นจะสร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดินทั้งสองจวบจนชีวิตจะหาไม่

ชมคลิป..

คลิปเปิดไม่ออก >>> กดตรงนี้ คลิ๊ก !!!! <<<

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก รายการ ฅนต้นแบบ, posttoday

บทความที่คุณอาจสนใจ