ชีวิตล่าสุด "อเล็กซ์ เรนเดล" หลังได้รับตำแหน่ง ทูตสันถวไมตรีแห่งชาติ ด้านสิ่งแวดล้อม

LIEKR:

"แค่วงการบันเทิงก็ดราม่าพอแล้ว เราไม่ได้ดึงตัวเองมาอยู่ตรงนี้เพื่อเจอเรื่องแบบนี้อีก เราไม่ได้ข้ามหน้าใคร เพราะฉะนั้นใครจะดราม่าก็ดราม่าไป ผมขอทำงานดีกว่า” -หนุ่มอเล็กซ์-

    ในรอบหลายปีที่ผ่านมา อเล็กซ์ เรนเดล ถูกพูดถึงอย่างมากในเรื่องการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการก่อตั้ง EEC THAILAND ศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้รับเชิญจากองค์การสหประชาชาติให้เข้าร่วมเสวนาเรื่องมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงการเป็นวิทยากรในมหาวิทยาลัยและเป็นอาสาสมัครงานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งหมดนี้อเล็กซ์บอกว่าไม่ได้ทำเพราะอยากเปลี่ยนโลก เพราะนั่นคือโจทย์ใหญ่ที่เขาทำคนเดียวไม่ได้

โลกไม่ใช่แค่เมืองหรือห้างสรรพสินค้า

 

Sponsored Ad

 

    “ตอนอายุ 10 ขวบผมได้เข้าร่วมโครงการช่วยช้างกับอาจารย์อลงกต ชูแก้ว ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เริ่มต้นทำ EEC THAILAND (Environmental Education Centre Thailand) มาด้วยกัน นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม พอเรียนจบปริญญาตรีก็เริ่มดำน้ำอย่างจริงจัง จากนั้นมาทำงานอนุรักษ์ช้างช่วยมูลนิธิต่างๆ ทำให้ได้เข้าไปอยู่ในป่า ซึ่งไม่รู้ทำไมถึงรู้สึกว่าที่นั่นคือโลกของเรา ไม่ใช่เมืองหรือห้างสรรพสินค้า นั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจทำ EEC เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม จุดประสงค์หลักคือการสร้างกระบวนการความคิดอย่างเป็นระบบและดึงธรรมชาติเข้ามาอยู่ในใจเด็ก ซึ่งถึงวันนี้เราทำเกิน 100 ค่ายไปแล้ว

 

Sponsored Ad

 

    “นอกจากงานของ EEC ผมพยายามเน้นความสำคัญในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นกระบอกเสียงกระจายโปรเจ็กต์ดีๆ ผมไม่สร้างตัวเองให้เป็นนักวิชาการนะครับ เพราะบางข้อมูลก็ค่อนข้างลึก จะกลายเป็นว่าเราพูดโดยไม่ได้รู้จริง ผมทำงานนี้ในฐานะคนหนึ่งที่ชอบสิ่งแวดล้อม และอยากช่วยในทางที่ตัวเองทำได้ ไม่ได้คิดเปลี่ยนโลกหรืออะไรขนาดนั้น”

 

Sponsored Ad

 

คำถามที่ควรหาคำตอบ

    “ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีหลายประเด็น แต่สุดท้ายแล้วผมว่าเป็นเรื่องทัศนคติของคน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะรักป่า รักต้นไม้ รักทะเล ถึงเรา จะเก็บขยะกันแทบตายหรือทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับพลาสติก แต่เราจะทำอย่างนี้อยู่นานมากถ้าทัศนคติของคนไม่เปลี่ยน โจทย์ที่ยากและท้าทายกว่าคือจะส่งข้อมูลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับคนที่ไม่ได้สนใจอย่างไร รวมถึงการให้ความรู้จริงๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้น เช่น ในความรู้สึกของผม พลาสติกไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย มันมีประโยชน์มากมาย ทั้งในชีวิตประจำวันไปจนถึงวงการแพทย์ แต่การใช้และการจัดการต่างหากที่ทำให้เกิดผลเสีย เพราะเหตุนี้กระบวนการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องไม่ใช่แค่การเปิดสไลด์สอนว่าทุกคนควรรักโลก ห้ามทำลายสิ่งแวดล้อมนะ แต่ต้องมีการวางแผนนำเสนอเนื้อหาให้เข้าถึงอารมณ์ และความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องมีคุณค่า ถ้าทุกคนรู้สึกตรงกัน ผมเชื่อว่าจะมีเรื่องดีๆ ตามมา

 

Sponsored Ad

 

    “อย่าง EEC พาเด็กๆ ไปเข้าค่าย ให้สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติด้วยตาของเขาเอง ไม่ใช่จากรูปภาพ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในทางออกระยะยาว เป็นเรื่องของ Youth Empowerment การให้เยาวชนมีอำนาจและส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะส่งผลดีต่ออนาคตของประเทศ”

 

Sponsored Ad

 

ทำงานสิ่งแวดล้อมห้ามโลกสวย

    “ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ทุกที่ เราไม่เคยทำค่ายเก็บขยะ เพราะไม่ว่าไปที่ไหนก็มีขยะให้เก็บอยู่แล้ว ลงไปดำน้ำก็เห็นแทบทุกไดร์ฟ เพราะฉะนั้นเราจะพาเด็กๆ ไปศึกษาในเรื่องที่กว้างกว่านั้น ให้เขาได้เห็นถึงองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อม เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องถิ่นที่อยู่นั้น เพื่อเขาจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบรอบด้าน

    “อย่างประเด็นที่มีคนบอกว่าชาวประมงจับปลามากเกินไป แต่พอผมพาเด็กๆ ไปดำน้ำและใช้ชีวิตอยู่กับชาวประมง ก็ได้เห็นว่าการที่ชาวประมงคนหนึ่งต้องออกทะเลไปจับปลาให้เรากินไม่ใช่เรื่องง่าย รวมถึงการที่เขาต้องหาเลี้ยงครอบครัวให้มีอาหารกิน มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ เราจึงไม่ควรตัดสินแบบตื้นๆ ว่าเขาคือคนไม่ดี ถ้ามาเห็นจริงๆ จะรู้ว่าแต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน ผมจึงมองว่าการจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต้องมองจากทุกด้าน ห้ามโลกสวยหรือเข้าข้างแต่สิ่งดีๆ ที่อยากเห็น เพราะในโลกความเป็นจริงไม่ได้สวยงามแบบนั้น”

 

Sponsored Ad

 

    ฮีโร่ตัวจริง

    “ความตั้งใจอย่างหนึ่งของผมคือการนำเสนอเรื่องราวของคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้สังคมได้รู้ อย่างไอดอลคนหนึ่งของผมคือ หัวหน้าปรารภ แปลงงาน อยู่ที่อุทยานท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หัวหน้าดูแลเรื่องเต่ามะเฟืองมานานหลายปีแล้ว แต่เป็นคนถ่อมตัวมาก เขาเคยให้ผมดูรูปเมื่อปลายปีก่อนที่ต้องดำน้ำลงไปช่วยเต่าและเก็บข้อมูลในทะเลทั้งที่ตอนนั้นมีพายุแรง ผมทึ่งมาก ไม่คิดว่ามีคนแบบนี้ในโลก

Sponsored Ad

    “มีวันหนึ่งผมเดินเข้าไปในห้างแล้วอยากซื้ออะไรสักอย่าง ตอนนั้นได้เงินมาแล้วอยากใช้ แต่จู่ๆ ก็นึกถึงหัวหน้าปรารภที่ดำน้ำอยู่ในพายุ ความคิดผมเปลี่ยนตรงนั้นเลย ไม่อยากซื้อของแล้ว เพราะในวันที่เราอยู่ในห้างเย็นๆ มีเงินในกระเป๋า แต่ในเวลาเดียวกันมีคนกำลังดำน้ำอยู่ในพายุเพื่อช่วยส่วนรวมอยู่ เรื่องราวของหัวหน้าปรารภทำให้ผมรู้สึกเห็นคุณค่าของงานมากขึ้น และเหมือนได้ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริงๆ

    “หรือ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ อาจารย์สามารถเพาะพันธุ์นกกระเรียนที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 50 ปีให้กลับคืนสู่ธรรมชาติได้ ผมแบบโห…ทำได้อย่างไร มีหลายคนที่มอบทั้งชีวิตให้กับสัตว์ชนิดหนึ่ง ขณะที่ผมทำงานอยู่ในกรุงเทพฯสบายๆ พอเลิกงานก็มีชีวิตส่วนตัว แต่บางคนทำงานกันแบบไม่มีเวลาตายตัว บางทีตี 1 ตี 2 ถ้าต้องออกไปทำหน้าที่ แม้จะได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่มุ่งมั่นทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ ผมยกย่องพวกเขามาก และเคยคุยกับคนรอบข้างว่าถ้าเราจะทำงานทางด้านนี้ก็ต้องไปแนวนี้ละ ดูพวกพี่ๆ เขาไว้เป็นตัวอย่าง”

ความสุขของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

    “ผมได้ความสุขอะไรหลายอย่างจากการทำงานนี้ เช่น การพาเด็กๆ ไปสัมผัสโลกใต้น้ำเป็นครั้งแรก พอได้เห็นความตื่นเต้นและความน่ารักของเขาก็ทำให้เราหายเหนื่อย รวมถึงการได้มีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งการเป็นกระบอกเสียง การช่วยโพสต์โครงการดีๆ ผ่านทางอินสตาแกรม รวมถึงการไปร่วมในกิจกรรมนั้นๆ ก็ทำให้ผมมีความสุขมาก เหมือนได้ใช้ตัวเองให้เป็นประโยชน์ ได้ใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียของเราในการช่วยคนอื่นบ้าง

    “จริงๆ ผมไม่ได้วางแผนจะมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกนะครับ เรามาไกลกว่าที่คิดไว้เยอะ เหมือนยิ่งทำก็ยิ่งลงลึกขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมพยายามบอกตัวเองว่าต้องให้ความเคารพกับทุกหน่วยงาน ไม่ข้ามหน้าข้ามตาใคร หรือใช้ชื่อตัวเองมาเป็นอำนาจ เพราะผมทำงานตรงนี้เพื่อความสบายใจ ไม่ได้มาหาผลประโยชน์หรือกดคนอื่นให้ต่ำ ผมต้องการทำเพื่อมีเพื่อน แต่ในชีวิตจริงคือทุกวงการมีดราม่า วงการอนุรักษ์ก็ไม่ต่างกัน ซึ่งผมไม่อยากเกี่ยวข้อง แค่วงการบันเทิงก็ดราม่าพอแล้ว เราไม่ได้ดึงตัวเองมาอยู่ตรงนี้เพื่อเจอเรื่องนี้อีก เพราะฉะนั้นใครจะดราม่าก็ดราม่าไป ผมขอทำงานดีกว่า”

    “ผมอยากเกษียณตอนอายุ 50 ปี ถ้าตอนนั้นรู้สึกอิ่มตัวกับงานในวงการบันเทิงแล้วนะครับ แต่ตอนนี้ยังเป็นเวลาของการสร้างความมั่นคง ผมอยากดูแล คุณพ่อคุณแม่ให้สบายไปจนตลอดชีวิตของเขา ซึ่งกว่าจะพร้อมขนาดนั้นก็คงใช้เวลาอีกพอสมควร แต่ถ้าไปถึงวันนั้นแล้ว ก็อยากทำงานที่ไม่เกี่ยวกับเงิน อยากใช้ชีวิตเพื่อทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องมาคิดว่าจะได้อะไรจากตรงนั้น เราจะรวยเมื่อไร หรืออะไรแบบนั้น คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้เรามีประโยชน์กับคนอื่นให้ได้มากที่สุด

    “ผมฝันอยากทำองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สอนเด็กที่ไม่มีเงินเข้าค่ายสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาผมต้องไปขอเงินคนอื่นอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งยากมากนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีกองทุน และถ้าใครเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำก็สามารถบริจาค เพื่อให้องค์กรนี้เป็นบริษัทที่มีพนักงานคอยดูแล แล้วเราก็นำเงินไปสอนเด็กๆ อย่างที่ฝันไว้ หรือถ้ามีสัตวแพทย์อยากเรียนดำน้ำเพื่อไปช่วยสัตว์ทะเล แต่ไม่มีเงินพอสำหรับการเรียนดำน้ำ ซึ่งกลายเป็นว่าประเทศไทยจะเสียโอกาสมีคุณหมอไปช่วยเหลือสัตว์ทะเล กองทุนนี้ก็พร้อมสนับสนุน

    “ผมไม่สามารถตอบได้ว่าในวันนี้สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยดีขึ้นหรือแย่ลงแค่ไหน เพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่ในความรู้สึกผม เชื่อว่าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียที่มีอยู่เยอะมาก พอคนเข้าไปคอมเมนต์และแชร์ ก็ทำให้เรื่องนั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นกระแสรองก็กลายเป็นกระแสหลัก พอคนให้ความสนใจเยอะ องค์กรต่างๆ ก็เริ่มรับรู้ว่าการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือจะได้รับความสนใจจากกลุ่มคนจำนวนนั้น เพราะฉะนั้นโปรเจ็กต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามมา นี่คือพลังที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกคน”

ที่มา : นิตยสารแพรว

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ