"หมอเดว" แพทย์ผู้เสียสละ สู้เพื่อช่วยลูกหลานไทย ได้มีอนาคตที่ดี

LIEKR:

คุณหมอให้ข้อคิดดีมากค่ะ

    ‘หมอเดว’ แพทย์ผู้เสียสละ-ทุ่มเทเพื่ออนาคตเด็กไทย เผยจัดโครงการต่าง ๆ มาแล้วมากมาย-ต่อสู้เพื่อให้เด็กมีอนาคตที่ดี-เข้าใจชีวิต-เป็นคนดี พัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิดเยาวชน

    เปิดใจแพทย์ผู้เสียสละ หรือที่เรียกว่าทีมสกาย ดอกเตอร์ เสี่ยงชีวิตตัวเองขึ้น ฮ.เข้าไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินในถิ่นทุรกันดารเพื่อช่วยชีวิตพวกเขา ทีมแพทย์เหล่านี้คำว่าจรรยาบรรณไม่ต้องพูดถึงพวกเขามีเกิน 100...ครั้งนี้ก็จะพาไปพบกับแพทย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเสียสละ-ทุ่มเทตัวเองเพื่อเด็กไทย ทุ่มเทจนมีคนพูดว่าเป็น หมอทำแต่ความดี ท่านผู้นี้ก็คือ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือที่เรียกว่า “หมอเดว” ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) ไปฟังสิ่งที่ท่านทำให้กับสังคมนี้กัน

 

Sponsored Ad

 

    ‘หมอเดว’ บอกว่า ตั้งแต่เด็กจนโตมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย หากไม่สู้ชีวิตก็คงไม่รอดจนกลายมาเป็นหมอนักสู้เพื่อเด็ก ๆ ในสังคมไทย สมัยเด็กฐานะทางบ้านลำบากมาก เพราะพ่อป่วยไม่สามารถทำงานได้ต้องพาไปรักษาโรงพยาบาล แต่ทุกครั้งที่พบหมอ หมอไม่เคยบอกวิธีการดูแล สั่งแต่ยารักษาเท่านั้น ขณะที่เรียนหนังสือมักจะไปนั่งอ่านหนังสือที่สวนลุมฯ เมื่อมองไปฝั่งตรงข้ามคือแพทย์จุฬาฯ สัญญากับตัวเองว่าถ้าได้เป็นหมอ จะไม่เป็นหมอที่วัน ๆ นั่งสั่งยาโดยไม่สนใจการดูแลแนะนำผู้ป่วย

    “ผมสร้างพลังมุ่งมั่นอ่านหนังสือแบบบ้าระห่ำ ตอนนั้นกลางคืนต้องทำงาน-กลางวันเรียนหนังสือ แต่สามารถสอบติดเตรียมอุดมศึกษา(พญาไท) เป็นเด็กที่ไปโรงเรียนสายเกือบทุกวัน เพราะกลางคืนทำงานส่งเสียตัวเองเรียน และดูแลพ่อแม่ ต่อมาสอบติดแพทย์จุฬาฯ มองเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะที่เรียนแพทย์ได้ 4 ปี มีโอกาสทำงานในสโมสรนิสิตแพทย์จุฬาฯ(ตึกไผ่สิงโต)ตั้งใจจัดฟรี พรีเอนทรานซ์ (Free Pre Entrance)ทั่วประเทศ เด็กเป็นพัน ๆ โรงเรียนจากทั่วประเทศจัดครั้งแรกของประเทศไทย จัดการเรื่องจดหมาย ข้อสอบ เฉลย Ranking หาโฆษณา ทำหนังสือ ทุกอย่างต้องใช้พิมพ์ดีดต้องเกณฑ์พี่ๆน้อง ๆ มาร่วมงานกัน วิ่งหาทุนจากตลาดสามย่านภาคเอกชนจนสามารถบริหารเงินเหลือเข้าฝ่ายวิชาการสโมสรนิสิตแพทย์ โดยได้พลังความร่วมมือจากน้อง เพื่อน นักศึกษาแพทย์จุฬาฯ จนในที่สุด อ.จรัส สุวรรณเวลา(คณบดีสมัยนั้น)ก็เรียกไปพบ”

 

Sponsored Ad

 

    หมอเดว บอกต่อว่า คณบดีเป็นห่วงว่าเรียนก็หนักอยู่แล้ว ไปเอาพลังมาจากไหน แถมยังบ้าระห่ำกิจกรรมเต็มไปหมดจะทำได้ไหม ต้องกราบขอบคุณ อ.ปรีดา ทัศนะประดิษฐ์ (รองคณบดีฯ) และ อ.ธาดา สืบหลินวงศ์ ที่คอยเป็นพลังใจทำสำเร็จหลาย ๆ กิจกรรม อาทิ เปิดบ้านโรงพยาบาลจุฬาฯจัดค่ายแนะแนวอยากเป็นหมอ (เกือบ 30 ปี มาแล้วน่าจะเป็นการจัดครั้งแรกๆ ของประเทศไทย) งานกาชาด สวนอัมพร พอจบการศึกษาไปใช้ทุนที่ภาคใต้เป็นแพทย์อยู่ใต้ประมาณ 10 ปี จนมีเหตุให้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ

    ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวอีกว่า พอย้ายเข้ามากรุงเทพฯได้ทำงานเป็นอาจารย์หมอในโรงพยาบาลเด็ก ยังไม่ทิ้งลายสายแพทย์ชนบท จึงทำงานใน Social pediatric หมวดวิชาเวชกรรมสังคมเด็ก และวัยรุ่น คือสอนให้แพทย์เข้าใจบริบทสังคม นำแพทย์ประจำบ้านลงชุมชนเมือง ชุมชนแออัด เด็กสถานสงเคราะห์ และอีกมากมาย สอนทักษะการสื่อสารให้นักศึกษาแพทย์จนมา Lead นำ ร่วมกับแกนนำ สสส.ก่อตั้งเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มดสีชมพู (เลยต้องอ่อนหวาน)ร่อนไปทั่วประเทศ เปลี่ยนกระแสการบริโภคน้ำตาลร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารฯ สมาคมกุมารเวชฯ ทันตสาธารณสุข และสมาคมโภชนาการ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้านการกินหวานมากมาย

 

Sponsored Ad

 

    “ผลงานที่ภาคภูมิใจชิ้นโบว์แดงให้กับสังคมไทย คือ การที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ปกป้องคุ้มครองเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ไม่บริโภคนมผงสูตรต่อเนื่องที่มีการเติมหวานเพิ่ม ผมต่อสู้เป็นผู้แทนไทยขึ้นชี้แจงในการประชุมองค์การการค้าโลก และเตรียมจะต่อสู้เพื่อให้อาหารเสริมสำหรับทารกในประเทศไทยเป็นโภชนสุขภาพ ไม่ให้เด็กไทยติดหวาน จำได้ว่าตอนนั้นมีผลิตภัณฑ์นมผงที่เติมหวานและน้ำผึ้ง และผู้จัดการบริษัทดังแห่งหนึ่งเคยท้าทายผมว่า ถ้าหมอเปลี่ยนกระแสผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ เขาก็ยอมยกสินค้านั้นเอาออกจาก Shelf ของห้างสรรพสินค้า กระทั่งในที่สุดเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานที่ผมเป็นแกนนำ เราทำสำเร็จผลักดันจนเกิดโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ขนมถุง นมโรงเรียนที่ภาครัฐให้กับเด็กๆ กลายเป็นนมรสจืดทั่วประเทศ”

 

Sponsored Ad

 

    ต่อมาได้มาร่วมกับน้านิด สโมสรผึ้งน้อย ผลิตรายการทีวี โทรทัศน์เห็ดหรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศจนโด่งดัง ทำรายการพลเมืองเด็กในนามบ้านบันดาลใจกับทีมคนค้นคน เพื่อเป็นรายการเรียลลิตี้ ทักษะชีวิตระดับเด็กประถม ทำรายการ Family up love เพื่อพัฒนาทักษะพ่อแม่ สำหรับกิจกรรมที่ทำยาวนานที่สุดในชีวิตจนมาถึงปัจจุบันคือโรงเรียนพ่อแม่ เสถียรธรรมสถาน ทำมาตลอด 20 ปี โดยร่วมกับคุณแม่ชีศันสนีย์ ตั้งแต่เสถียรธรรมสถานมีแต่ธรรมศาลา หลังคามุงด้วยใบจากเป็นกระต๊อบ หมอเป็นจิตอาสาให้คุณแม่ (ยายจ๋า) รุ่นแรก ๆ ตลอดทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ทุกท่านจะได้พบกับหมอและคุณแม่ชี (ยายจ๋า) จนสามารถร่วมเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาชีวิตของพ่อแม่ครอบครัว ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ ของเสถียรธรรมสถาน เช่น จิตประภัสสร สำหรับผู้ที่ตั้งท้องไม่พร้อม จนมาเป็นบ้านรักแห่งศานติ โรงเรียนพ่อแม่และธรรมาศรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้

 

Sponsored Ad

 

    ก่อนมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้มีโอกาสที่ดีงามในชีวิตที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล และพัฒนาสถาบันเด็กฯ จนเกิดงานสำคัญๆ เช่น ระบบพี่เลี้ยงในชุมชนด้วยจิตอาสาพลังบวก ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยที่ใช้จิตวิทยาพลังบวกขับเคลื่อนชุมชน สังคม จนเกิดการเปลี่ยนแปลงชุมชน เกิดแกนนำเพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนหลากหลายที่ เช่น ชุมชนร่มเกล้าลาดกระบัง กทม. ชุมชนล้อมรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และอีกเกือบ 20 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับงานบริหารในตำแหน่งคณบดี และงานวิจัยวิชาการที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นงานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน ที่เรียกว่า กระบวนการสร้างเสริมทุนชีวิต เด็ก และเยาวชน เครื่องมือแบบสำรวจฟังเสียงเด็ก รู้จักเด็กทั้งตัว และหัวใจ

 

Sponsored Ad

 

    ต่อมาเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า “Life Assets” เป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังบวก จน Prof.Dr.Susan Sawyer แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางวัยรุ่นในนามคณะกรรมการแพทย์เฉพาะทางวัยรุ่นโลก Nominate เสนอชื่อหมอเข้ารับรางวัลนานาชาติ International Chapter Recognition Award (Northere Hemisphese) ที่เมือง Seattle USA ในปี 2011 ด้วยความที่เป็นหมอที่มีพลังมุ่งมั่น เปลี่ยนแปลงสังคมที่ไม่ได้เป็นเพียงแพทย์ แต่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสังคม สู้เพื่อเด็กๆ จึงเป็นรางวัลของแพทย์เฉพาะทางวัยรุ่นนานาชาติคนแรกของไทย

Sponsored Ad

    นอกจากนี้ยังได้ร่วมขับเคลื่อนกฎหมาย เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชนสำคัญๆ เช่น พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พรบ.ปฐมวัย ฉบับแรกของประเทศไทย จนสิ้นสุดวาระการเป็นผู้อำนวยการสถาบันเด็กฯ ปัจจุบันจึงมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมที่กำลังพัฒนางานสำคัญ ทั้งสมัชชาคุณธรรม ศูนย์วิจัยติดตามระบบพฤติกรรมไทยและวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม ตลอดระยะเวลาได้รางวัลมามากมาย แต่ที่ภูมิใจคือเมื่อครั้งที่สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬายกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น โดยในการรับรางวัลมีอาจารย์หมอที่เคยสอนมาร่วมร้องเพลงน้ำใจน้องพี่สีชมพูให้กับผู้ที่ได้รับการยกย่อง ขนลุก และซาบซึ้งมาก และอีกครั้งมหาวิทยาลัยมหิดลมอบรางวัล พนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่นสายวิชาการ ระดับครุฑทองคำให้ ภาคภูมิใจที่ทั้งสองสถาบันการศึกษาระดับประเทศที่ให้การยกย่องชื่นชม

    เห็นสิ่งที่หมอทำให้กับสังคมนี้แล้วเหนื่อยแทน...บ้าระห่ำทำดีของจริง น่าชื่นชม-ยกย่องมากๆ

ข้อมูลและภาพจาก dailynewsSuriyadeo Tripathi

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ