"วัดดอนจั่น" ดูแลเด็กกว่า 700 ชีวิต ได้เรียนฟรี กินอิ่มนอนอุ่น เป็นทั้งบ้าน โรงเรียน และครอบครัว

LIEKR:

สุดยอดเลยค่ะ ซาบซึ้งในน้ำใจจริง ๆ ค่ะ

หมายเหตุ : สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ด้านล่างบทความค่ะ  

        เปิด “วัดดอนจั่น” จ.เชียงใหม่ จากความเมตตาของพระครูปราโมทย์ ตลอดจนน้ำใจจิตอาสา ก่อกำเนิด “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นโรงเรียนและสถานรับอุปการะเด็กด้อยโอกาสของภาคเหนือ มายาวนานกว่า 33 ปีแล้ว

บ้านและโรงเรียนของเด็กยากไร้
        ในยามที่ผู้คนเดินทางไปที่วัด ภาพคุ้นตาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นภาพของคนที่ไปทำบุญหรือศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาความสงบ 

 

Sponsored Ad

 


        แต่สำหรับ วัดดอนจั่น ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ไม่ได้มีเพียงแค่ภาพนั้น เพราะใครก็ตามที่มา จะได้เห็นภาพของเหล่าเด็ก ๆ มากหน้าหลายตา อาศัยอยู่รวมกันและศึกษาเล่าเรียน ณ ที่แห่งนี้อีกด้วย นั่นก็เพราะวัดดอนจั่นคือสถานอุปการะและให้โอกาสเด็กยากไร้ในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ปัจจุบันมีเด็กในการดูแลของวัดจำนวนมากกว่า 700 คน

 

Sponsored Ad

 

        พระครูปราโมทย์ ประชานุกูล เจ้าอาวาสวัดดอนจั่น ผู้ก่อตั้งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า “ปี พ.ศ.2528 วัดดอนจั่นได้ก่อตั้งโครงการนี้ จนมาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลา 33 ปีแล้ว อาตมาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเด็ก 700 คน สิ่งที่อาตมานำมาบริหารจัดการเด็กวัดดอนจั่น จะใช้หลักพุทธธรรม ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา”

        สำหรับเด็กที่อยู่ในการดูแลของวัดดอนจั่นนั้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กในกลุ่มเด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส รวมไปถึงเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มาจากครอบครัวยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา ซึ่งหากยังอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับพ่อแม่ที่ไม่พร้อม ก็อาจไม่สามารถเติบโต เรียนหนังสือ หรือทำงาน

 

Sponsored Ad

 

        นอกจากพระครูปราโมทย์แล้ว ยังมี จอมศักดิ์ ประสานไกรทอง หรือ ครูเก๋ หนึ่งในผู้ดูแลโรงเรือนวัดดอนจั่น ที่ศรัทธาในแนวคิดของพระครูปราโมทย์ จึงอาสามาช่วยให้ความรู้แก่เด็ก ๆ และตัดสินใจมาเป็นครูผู้ปกครอง ที่ทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ทุกอย่าง ไม่ต่างไปจากผู้ปกครองจริง ๆ และที่สำคัญคือ จะไม่มีการตีโดยเด็ดขาด

 

Sponsored Ad

 

        “ที่วัดดอนจั่นจะรับเด็กเริ่มจากเด็กฐานะยากจนและกำพร้า แต่ไม่ใช่แค่นั้น บางคนเป็นเด็กฐานะปานกลางเราก็รับ เพราะมีกรณีนึงเป็นเด็กผู้หญิง ที่โรงเรียนกับบ้านไกลกัน 30 กิโล เส้นทางต้องขึ้น – ลงดอย ใช้เวลาครึ่งวันครับกว่าจะมาถึงโรงเรียน ซึ่งเด็กที่อยู่ตามดอย ถ้าไม่ได้เรียนหนังสือก็ต้องแต่งงาน ก็เลยคิดว่าถ้าเราไม่รับ พ่อแม่เขาก็ไม่ให้เรียน ผมเลยจำเป็นต้องรับถึงแม้บ้านเขาจะฐานะปานกลาง ส่วนเด็กพิการก็มี แต่เราก็ไม่รับถึงขนาดว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

        เด็กทุกคนต้องมาอยู่ที่นี่ครับ กินฟรี อยู่ฟรี มีอาหารการกินให้ 3 มื้อ การดูแลเด็กของที่นี่ต้องเข้าใจเด็กก่อน บางที่ตีเด็ก แต่ทางนี้เราไม่ทำ เพราะว่าผมคิดว่าเด็กซนเป็นเด็กแข็งแรง ถ้าเด็กดื้อ ผมถือเป็นเด็กฉลาด ถ้าไม่ฉลาดเขาจะไม่สามารถเฉไฉไปเรื่องอื่นได้(หัวเราะ)

 

Sponsored Ad

 

        การมาช่วยงานนี้ ผมไม่คิดว่ามีเรื่องอะไรหนักใจ เราอย่าใช้คำว่า ‘อยู่กับเด็กต้องทำใจ’ มันจะเหมือนคนจำใจอยู่ จำใจทำ เพราะฉะนั้นอยู่กับเด็กเราต้องเข้าใจเด็กว่าเขามีนิสัยแบบนี้ แล้วเขาจะพัฒนา อย่างเด็กดื้อ เราจะมาแก้แบบไหน เด็กที่ซนผมถือว่าเป็นเด็กแข็งแรง จะไปตีทำไม แข็งแรงก็ดีอยู่แล้ว ถ้าเด็กเงียบ ซึม หงอยเหงา ไม่อ่อนแอก็ต้องป่วย”

 

Sponsored Ad

 

ซึ้งน้ำใจจิตอาสา อุทิศตนเพื่อ “วัดดอนจั่น”
        นอกจากจะเป็นสถานสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสในเขตจังหวัดภาคเหนือแล้ว วัดดอนจั่น ยังมีการเปิดสถานศึกษา ซึ่งครูเก๋ ก็ได้เล่าว่า มีการจัดเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนถึงระดับวิทยาลัย โดยจะใช้ธรรมะและหลักการทำสมาธิเข้าไปอยู่ในกิจวัตรประจำวันเสมอ

        “กิจวัตรประจำวันที่เด็กต้องทำทุกวันหลังเด็กตื่นมา ก็จะทำภารกิจส่วนตัว ทำความสะอาดร่างกาย แล้วก็จะไปสวดมนตร์ ซึ่งการสวดมนตร์นี้ ท่านเจ้าคุณถือว่าทำให้เด็กจิตใจสงบ พัฒนาสมองเรื่องความจำ ถ้าเด็กจำได้ เวลาไปเรียนก็ต้องจำได้ ต่อมาก็มานั่งสมาธิ เหมือนกับว่าปรับสภาพร่างกายเด็กให้นิ่ง ไม่ยุกยิก หลังจากนี้ก็จะมาทำความสะอาดเรือนพักของตัวเองหรือไม่ก็ออกกำลังกาย 7.00 น. ก็เริ่มรับประทานอาหารเช้า พอสักช่วง 8.00 – 8.30 น.ก็เริ่มมาโรงเรียน

Sponsored Ad

        ในนี้ก็จะมีทั้งหมด 3 สถาบันคือ 1.โรงเรียนวัดดอนจั่น ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถ้าจบ ม.3 แล้วไม่ไปไหน ก็ต่อที่วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ศูนย์การเรียนรู้วัดดอนจั่น ซึ่งเป็นสาขาลูกมาจากสารพัดช่างห้วยแก้ว ถ้าจบจากสารพัดช่างเชียงใหม่แล้วไม่อยากไปไหน ก็ต่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่”

        ไม่เพียงแต่จะเป็นสถานศึกษาที่มีครบครันทุกระดับชั้น และมีการนำธรรมะมาสอดแทรกแล้ว ยังมีความโดดเด่นในเรื่องอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องกีฬา โรงเรียนแห่งนี้ มีนักวิ่งฝีเท้าจัดจ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกสนามที่นักกีฬาในนามโรงเรียนวัดดอนจั่นลงแข่ง ก็มักจะกวาดเหรียญและถ้วยรางวัล กลับมาประดับตู้เกียรติยศแทบทุกครั้ง

        “กีฬาที่เด่น ๆ ของเราจะเป็นพวกวิ่งครับ อย่างมินิมาราธอน นักกีฬาที่มาสมัครส่วนมากจะเป็นผู้หญิง ตอนเช้าเด็กก็จะซ้อมวิ่งประมาน 10 กิโล ครูก็วิ่งไปด้วย เราจะวิ่งแล้วก็สอนเทคนิค สอนระยะไกล สอนลงคอร์ด เคยไปแข่งมินิมาราธอนครั้งนึงได้มาประมาณ 10 กว่าถ้วย ปีนึงมี 52 สัปดาห์ ตีไปว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เขาจะจัดมีระดับจังหวัด ระดับภาค แล้วก็ระดับประเทศ ก็ได้รางวัลมาหมดครับ”

นักกีฬาจากโรงเรียนวัดดอนจั่น กวาดรางวัลแทบทุกสนามแข่ง
        ในส่วนของผู้ดูแลเหล่าเด็ก ๆ นอกจากครูเก๋แล้ว ยังมี เล็ก พูนผล หรือแม่เล็กของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นจิตอาสาอีกคน ที่ได้เข้าร่วมการทำงานด้านการศึกษา พร้อมทำหน้าที่เป็นเหมือนกับแม่บ้านแห่งโรงเรียนวัดดอนจั่น ซึ่งสาเหตุที่เธอได้เข้าร่วม ก็เพราะอยากทำประโยชน์ให้กับสังคม

        “เริ่มจากแม่เป็นกรรมการวัดได้ประมาณ 10 ปี แล้วพระอาจารย์ก็บอกว่าให้มาช่วยดูแลเรื่องของโรงเรียน แม่เป็นประธานกรรมการการศึกษาของโรงเรียนวัดดอนจั่นด้วย เราจะต้องทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับวัด เพราะว่าทางวัดมีบริบทไม่เหมือนกับโรงเรียน ต่างกันที่โรงเรียนมีเด็กกินอยู่ที่นี่หมดเลย ทางวัดจะต้องดูแลทุกเรื่องที่เด็กเข้ามาแล้ว ตั้งแต่เสื้อผ้า อาหาร เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกเรื่องที่ญาติโยมมาติดต่อ แม่จะเป็นคนดูแลค่ะ เพราะว่าครูเก๋ดูคนเดียวเขาก็เหนื่อย แล้วเราเป็นผู้หญิงอาจจะละเอียดกว่าผู้ชาย เพราะที่นี่เด็กผู้หญิงจะเยอะกว่า”

        ในการที่ต้องทำงานอาสานั้น ผู้ที่จะต้องทำหน้าที่นี้ สิ่งที่จะเห็นได้ชัดคือ ต้องอาศัยความทุ่มเทและเสียสละเวลาของชีวิตส่วนตัวไป แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของครูเก๋และแม่เล็ก ที่ตนศรัทธาในการทำงานตามพระครูปราโมทย์ที่ให้แนวทางไว้ ซึ่งแม่เล็กก็ได้กล่าวถึงการมาทำงานจิตอาสาตรงนี้ว่า “ทุกวันนี้แทบจะไม่มีวันหยุดนอกจากว่ามีธุระ บางทีเวลาจะไปไหนก็คิดว่าตรงไหนสำคัญกว่า ทุกวันนี้แทบจะไม่มีเวลาให้ครอบครัวซักเท่าไหร่ แต่แม่ได้ครอบครัวที่ดี คอยสนับสนุนแม่ ถ้าแม่ตั้งใจจะทำ ก็ขอให้บรรลุเป็นบุญช่วยทำไป”

        ทางด้านคำตอบของครูเก๋ ก็ไม่ต่างกัน “มีข้างบ้านเขาก็ถามว่าครูเก๋เลิกกับภรรยารึยัง(หัวเราะ) เพราะว่าตีห้าผมก็มาโรงเรียน กว่าจะกลับก็สองทุ่ม ภรรยาก็ขอวันอาทิตย์ซักครึ่งวันเป็นวันครอบครัว ก็จะได้ทานข้าวร่วมกันคือมื้อเย็นของวันอาทิตย์ เป็นแบบนี้มา 18 ปีแล้ว ไม่เคยคิดเปลี่ยนใจเพราะเหนื่อยหรือท้อ เพราะเราเริ่มจากเมตตา พอเมตตาแล้วมันจะตามมาด้วยความผูกพัน ก็เหมือนกับท่านเจ้าคุณวัดดอนจั่น ที่ท่านเมตตาและมีปณิธานที่จะช่วยสังคมในการเลี้ยงเด็ก ท่านมีความอดทนมาก”

ต่อสะพานบุญ เพื่อเด็ก 700 ชีวิต
        แม้จะมีจิตอาสาอย่างครูเก๋และแม่เล็กที่เสียสละเวลาลงกำลังแรงกาย แรงใจ เพื่อดูแลเหล่าเด็ก ๆ ทั้ง 700 กว่าคนที่อยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอนแล้ว แต่ทางวัดดอนจั่นเอง ก็ยังมีสิ่งที่ขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

        “ที่นี่มีนักเรียนหญิงประมาณ 450 คน จะซักผ้ารอบละ 150 คน แบ่งเป็น 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ฉะนั้นผงซักฟอกต้องใช้จำนวนมาก แล้วผู้หญิงมีผมยาวต้องสระผม ใช้แชมพู เด็กเล็กต้องผจญกับเรื่องเหา ต้องมียาฆ่าเหา ที่จำเป็นจริง ๆ คือผงซักฟอก แชมพู ยาฆ่าเหา น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ยารักษาโรค ยาแก้เมารถเวลาเด็กเดินทางไปแข่งกีฬา ยาแก้ปวดท้องประจำเดือนของเด็กผู้หญิง แต่ขอไม่เอาพาราเซตามอล เพราะผมไม่สนับสนุนให้เด็กกิน ถ้าเด็กออกกำลังกายร่างกายจะแข็งแรง” ครูเก๋กล่าว

        ส่วนทางด้านของพระครูปราโมทย์ก็กล่าวถึงเรื่องการรับบริจาคของทางวัดว่า “วัดดอนจั่นได้ใช้ทฤษฎีกฎของธรรมชาติทุก ๆ เรื่อง จะไม่มีการสะสมวัตถุสิ่งของ ถ้ามีแล้วก็จะแบ่งปันให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่ลำบากกว่า ที่มาขอพึ่งใบบุญ ถ้าวัดได้รับบริจาคมา ก็จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นแผนก ๆ วัสดุครุภัณฑ์ต่าง ๆ

        ทุกอย่างไม่ได้ใช้เงิน มาจากการบริหารโครงการของวัด วัดเราอยู่ได้โดยไม่ใช้เงิน ใช้เงินแค่ 30 % เช่นค่าไฟฟ้า เดือนละประมาณแสนกว่าบาทที่เราต้องจ่าย นี่เป็นเรื่องหนักที่สุดของวัดคือค่าไฟ เพราะเด็กกินนอนอยู่นี่เท่ากับ 1 หมู่บ้าน เพราะฉะนั้นผลประโยชน์ที่ญาติโยมบริจาค วัดดอนจั่นจะใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดทุก ๆ เรื่อง แต่พยายามจะไม่รับเงินบริจาค ถ้ารับก็ขอเป็นวัสดุครุภัณฑ์ ผู้ถวายก็มีความสุข อาตมารับก็มีความสุข”

        จากโครงการดี ๆ ที่ทางวัดดอนจั่นได้ทำมาตลอด 33 ปี ด้วยความเมตตาของพระครูปราโมทย์ และความเสียสละของเหล่าจิตอาสา ทำให้ทีมงานรายการ “ฅนจริงใจไม่ท้อ” ตัดสินใจจัดโครงการ “คนจริงไม่ทิ้งกัน” เพื่อนำอาหารกลางวันมาเลี้ยงเด็ก ๆ ที่นี่ ซึ่งมีอาสาสมัครใจบุญร่วมโครงการนี้ด้วย โดยหวังว่าเด็กทุกคนจะสามารถพัฒนาตนเอง เรียนรู้และเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

        ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา วัดดอนจั่น นอกจากจะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่รับสงเคราะห์ ที่ให้ชีวิตใหม่และให้โอกาสเด็กยากไร้แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของผู้มีจิตอาสา เข้ามาทำหน้าที่เป็นดั่งพ่อและแม่ให้แก่เด็ก ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน

        รวมไปถึงผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่หลังจากได้ทราบเรื่องราวชีวิตของเด็กเหล่านี้ ก็จะหาเวลามาช่วยเหลือกันไม่ขาดสาย เสมือนเป็นกระแสแห่งความดี ที่มาบรรจบกัน ซึ่งเป็นภาพของสังคมไทย ที่มักเห็นเป็นประจำ คือไม่เคยละทิ้งกันในยามลำบากจริง ๆ

ชมคลิป..

คลิปเปิดไม่ออก >>> กดตรงนี้ คลิ๊ก !!!! <<<

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ฅนจริง ใจไม่ท้อ

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ