เผยที่มา "ซอสพริกศรีราชา" ที่โด่งดัง หลังมีดราม่า สรุปใครเป็นต้นตำรับกันแน่ ?

LIEKR:

สรุปใครเป็นต้นตำรับกันแน่ ?

    หลังจากมีดราม่าเวียดนามจดลิขสิทธิ์ส่งขายไทย ลั่นไม่ใช่ไม่สู้ แต่ยื่นเรื่องจดสิทธิบัตรกับกระทรวงพาณิชย์ 7 ปี ยังไม่ได้ จวกทำงานเฮงซวย ไม่ส่งเสริมประเทศชาติ (อ่านเพิ่มเติม:เจ้าของ "ซอสพริกไทย" แจงเวียดนามแย่งจดลิขสิทธิ์ ชี้..ยื่นเรื่อง 7 ปีแล้ว ไม่มีไรคืบหน้า!)

    เฟซบุ๊กแฟนเพจ ชมรมคนรักศรีราชา ก็ได้โพสต์ข้อมูล ความเป็นมาของ ซอสพริกศรีราชา ว่ามีที่มาอย่างไร และใครเป็นต้นตำรับกันแน่ โดยระบุเนื้อหาไว้ดังนี้...

 

Sponsored Ad

 

    แอดมินเห็นดราม่าเรื่องซอสพริกศรีราชา เมื่อวันก่อน เลยขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับซอสพริกศรีราชา ในฐานะที่ทางชมรมคนรักศรีราชา เคยสัมภาษณ์เก็บข้อมูล ตำนานซอสพริกศรีราชา เอาไว้ 

ยาวหน่อย แต่อยากให้อ่านกันนะคะ ^^ 

    ซอสพริกศรีราชา  มีต้นกำเนิดอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เกิดจากภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ที่เป็นต้นตำรับดั้งเดิม และยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันได้แก่ ซอสพริกศรีราชาตราภูเขาทองและตราศรีราชาพานิช (ต้นตำรับเดียวกัน) รวมถึงซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอย

 

Sponsored Ad

 

    นอกจากนี้ยังมีตราอื่นๆ ที่ผลิตในภายหลัง ทั้งที่เป็นของคนท้องถิ่นมีโรงงานผลิตอยู่ในจังหวัดชลบุรี และคนท้องถิ่นที่ไปตั้งโรงงานผลิตในต่างจังหวัด เช่น น้ำพริกศรีราชาตรานกนางนวล(โกศล) ตราแม่น้ำเงิน ตราอ่าวศิลา ตราต้ากี่เป็นต้น ทำให้ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศรู้จัก ซอสพริกศรีราชา และยังมีตราที่เป็นต้นตำรับได้ขายกิจการไปแต่ยังใช้ชื่อเดิมและรักษาความเป็นต้นตำรับ เช่น ซอสพริกศรีราชาตราศรีราชาพานิช ขายกิจการให้บริษัทไทยเทพรส เป็นต้น

    - ส่วนตราที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เจ้าของเป็นชาวเวียดนามเชื้อสายจีน ใช้ชื่อซอสพริกว่า SRIRACHA CHILI SAUCE และจดทะเบียนการค้าตราไก่และตราห่านบิน ในนามของบริษัทหุยฟง* เขายอมรับว่าตั้งชื่อซอสพริกศรีราชาตามชื่อเมืองชายทะเลแห่งหนึ่งในประเทศไทย

 

Sponsored Ad

 

    ท่านที่เคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกา อาจจะเคยไปทานในร้านอาหารของคนเอเซีย หรือแม้แต่ร้านอาหารไทย คงจะได้ลองชิมรสชาติน้ำพริกศรีราชาตราไก่ของเวียดนามมาบ้างแล้ว หลายท่านสงสัยว่า ทำไมเวียดนามใช้ชื่อ ซอสพริกศรีราชา (SRIRACHA CHILI SAUCE)

    ชมรมคนรักศรีราชา ได้เคยนำเสนอข้อมูล โดยการสัมภาษณ์ลูกหลาน ต้นตำรับทั้ง 2 ไว้ หากเทียบระยะเวลาที่ต้นตำรับท้องถิ่นจำหน่ายซอสพริกศรีราชา กับชาวเวียดนามเริ่มจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา จะพบว่าซอสพริกของเวียดนามจำหน่ายช้ากว่าต้นตำรับท้องถิ่นจำหน่ายที่ศรีราชา เกือบ 50 ปี

 

Sponsored Ad

 

วันนี้ขออนุญาตนำความเป็นมา ของซอสพริกต้นตำรับแท้ๆ ของศรีราชา มาเล่าให้ฟังค่ะ

    1. ซอสพริกศรีราชาตราศรีราชาพานิช และ ซอสพริกศรีราชาตราภูเขาทอง (สืบทอดมาจากต้นตำรับเดียวกัน)
    2. ซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอย

ซอสพริกศรีราชาตราศรีราชาพานิช และ ซอสพริกศรีราชาตราภูเขาทอง

    ในปัจจุบันมีซอสพริกมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผู้ผลิตมากมายที่ผลิตซอสพริกออกมาจำหน่ายในท้องตลาด ท่านทราบหรือไม่ว่าซอสพริกมีต้นกำเนิดอยู่ที่ศรีราชา ที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “น้ำพริกศรีราชา” นั่นเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทีมงานของชมรมคนรักศรีราชาจึงได้ขอให้ พล. ต. หญิง เสาวนิต ไตรกิตยานุกูล (จักกะพาก) ที่พวกเราเรียกกันว่าพี่ตุ่ม เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่เคยเป็นลูกมือ คุณย่าเพิ่ม จักกะพาก (ภรรยาของขุนจักกะพากพานิชกิจ)เตรียมส่วนผสมและทำน้ำพริกศรีราชาตามสูตรต้นตำรับที่สืบทอดมาจากบิดาของท่านคือคุณทวดกิมซัว ทิมกระจ่าง

 

Sponsored Ad

 

    คุณย่าเคยเล่าให้ฟังว่าคุณทวดกิมซัว ทิมกระจ่าง เป็นบุตรของหลวงกระจ่างจีนพิสัย (ต้นตระกูล ทิมกระจ่าง) พยายามหาส่วนผสมของเครื่องจิ้มที่มีครบทุกรสคือเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด จนได้รสชาติเป็นที่พอใจ สามารถเก็บไว้รับประทานได้เป็นเวลานานโดยไม่บูดเสีย ท่านเรียกเครื่องจิ้มชนิดนี้ว่า “น้ำพริกศรีราชา” ทั้งคุณทวดและคุณย่าทำน้ำพริกศรีราชาไว้รับประทานในครอบครัว แจกกันในหมู่ญาติ ต่อมาคุณย่าได้ถ่ายทอดให้น้องชายต่างมารดาคือคุณปู่สกล ทิมกระจ่าง และบุตรสาวของคุณอาคือ คุณย่าถนอม ทิมกระจ่าง (ภายหลังแต่งงานกับบุตรชายของขุนจักกะพากพานิชกิจ ชื่อ นายดำรง จักกะพาก) ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้เองเป็นผู้ที่ทำให้น้ำพริกศรีราชา แพร่หลายเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณย่าพูดเสมอว่าถ้าคุณทวดทราบคงดีใจที่น้องทั้งสองคนนำเอาน้ำพริกศรีราชาไปทำเป็นอาชีพ

 

Sponsored Ad

 

    คุณปู่สกล ทิมกระจ่างตั้งโรงงานผลิตน้ำพริกศรีราชาออกจำหน่ายที่บ้านภรรยาย่านวงเวียนใหญ่ ธนบุรี ใช้ตราเป็นรูปเจดีย์ภูเขาทองวัดสระเกศ กำกับภาษาไทยว่า”ภูเขาทอง” ซึ่งมาจากคำว่า”กิมซัว” แต่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า GRAND MOUNTAIN ในปี2505 ได้รับรางวัลเหรียญทอง งานแสดงสินค้าไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในปัจจุบันสืบทอดมาถึง นายกฤช (เอ้) ทิมกระจ่าง เป็นหลานปู่ ตั้ง หจก. บางกอกซอส ผลิตซอสพริกศรีราชาโดยใช้ตราดั้งเดิมคือภูเขาทอง สำหรับส่งจำหน่ายต่างประเทศ และตราสามภูเขา (รูปภูเขาสามลูก) กำกับภาษาอังกฤษ THREE MOUNTAINS สำหรับจำหน่ายในประเทศ รสชาติยังคงเหมือนต้นตำรับ

Sponsored Ad

    คุณย่าถนอม จักกะพาก ตั้งโรงงานที่บ้านในซอยแหลมฟาน ศรีราชา ใช้ตรา “ศรีราชาพานิช” (ระยะเวลาใกล้เคียงกับปู่สกล) ท่านเป็นผู้ผลิตน้ำพริกศรีราชา (สูตรต้นตำรับของคุณทวดกิมซัว) เป็นรายแรกของศรีราชา ทำให้น้ำพริกศรีราชาเป็นที่รู้จักของชาวศรีราชาและบุคคลทั่วไป ท่านที่มาเที่ยวศรีราชาต้องซื้อกลับไปเป็นของฝาก ต่อมาทายาทรุ่นลูกได้ขายตรา “ศรีราชาพานิช” ให้บริษัทไทยเทพรส จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรา “ภูเขาทอง” GOLDEN MOUNTAIN ไป

    ปัจจุบันนี้ซอสพริกศรีราชา มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นซอสพริกเจ้าแรกที่ส่งขายเมืองนอก เราอยู่ศรีราชา คุณทวดเป็นคนศรีราชาโดยกำเนิด หลวงกระจ่างจีนพิสัยเป็นคนศรีราชา เป็นความภูมิใจของคนศรีราชา ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน หากจะนับเวลาจากที่เริ่มต้นผลิตน้ำพริกศรีราชาเพื่อจำหน่ายน่าจะเกินกว่า 60 ปี เพราะตั้งแต่จำความได้ก็เห็นคุณปู่สกล และคุณย่าถนอมผลิตจำหน่ายแล้ว ถ้านับถึงอายุของต้นรับคงไม่ต่ำกว่าร้อยปี ทำให้ซอสพริกศรีราชาไม่เป็นเพียงแค่ตำนาน แต่จะยังคงอยู่คู่เมืองศรีราชา ตลอดไป

 ซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอย

    ทีมงานชมรมคนรักศรีราชาได้เคยสัมภาษณ์ผู้อาวุโสท่านหนึ่ง ไว้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งรู้เรื่องราวความเป็นมาของเมืองศรีราชาและซอสพริกศรีราชาเป็นอย่างดี ท่านผู้นี้คือคุณธวัช วิพิศมากูล ทีมงานเรียกท่านว่าอาแปะผู้ผลิต ซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอย ในขณะนั้น แม้ว่าอาแปะจะมีอายุเกือบเก้าสิบปีแล้วก็ยังพูดจาฉะฉานชัดเจน และยังมีลูกชายคือพี่เกรียง และลูกสาวคือพี่หมี ช่วยเสริมทำให้เราได้ข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำเสนอ

    อาแปะธวัชเล่าว่า คุณยายของอาแปะ ได้สูตรการทำน้ำพริกมาจากชาวพม่า ซึ่งเข้ามาเป็นคนงานในโรงเลื่อยศรีมหาราชาในอดีต ตอนแรกก็ทำกินในครอบครัว พอมีคนรู้จักก็ขายบ้าง ส่วนมากลูกค้าเป็นชาวพม่าที่ทำงานในโรงเลื่อย ตอนนั้นอาแปะยังเป็นเด็กต้องช่วยยายโม่น้ำพริก แรงงานที่ช่วยทำน้ำพริกเป็นคนในครอบครัว ลูกๆหลานๆ ช่วยกันทำ ต่อมาลูกหลานโตขึ้นก็แยกย้ายกันไปเรียนกรุงเทพฯ เลยต้องหยุดการทำน้ำพริกไป

    อาแปะกลับมาทำน้ำพริกอีกครั้งเมื่อพ.ศ. 2488 จดทะเบียนครั้งแรกใช้ ตราเกาะลอยศรีราชา ต่อมาไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้คำว่าศรีราชา เพราะเป็นชื่อสถานที่ อนุญาตเฉพาะ ตราเกาะลอย อย่างเดียว การจดทะเบียนการค้าในนามซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอย ทำมานานแล้ว ซึ่งตราที่เป็นเครื่องหมายการค้า อาแปะเป็นคนคิดและวาดเอง ออกแบบเองหมด การผลิตใช้แรงงานในครอบครัว ช่วยกันทำ ต่อมามีคนรู้ว่าซอสพริกศรีราชาเจ้าเก่ากลับมาผลิตอีก ก็มีคนมาสั่งซื้อมากขึ้น ลูกค้าเป็นร้านค้าขาประจำในศรีราชา ตลาดสี่มุมเมือง แหลมฉบัง บางคนมาเที่ยวรู้ที่ผลิตก็มาซื้อที่บ้านเลย เคยส่งไปขายถึงฮ่องกงแต่เนื่องจากมีปัญหามากจึงหยุดการส่งออก

    ต่อมาได้ย้ายโรงงานไปตั้งอยู่ที่ถนน 9 กิโลหลังวัดประทานพร การทำน้ำพริก วัตถุดิบที่ใช้ต้องมีคุณภาพ พริกที่ใช้สั่งชื้อจากท่าเตียน ต้องสดเก็บจากต้นมาไม่เกิน 3 วัน ต้องสะอาดไม่มีขั้วปน เมื่อพริกมาถึงต้องมาคัด ต้มให้สุกเพื่อฆ่าเชื้อโรค บด และหมักอย่างน้อย 3-4 เดือน ใช้พริกล้วนๆ ไม่ปนขั้วพริกหรือพริกเขียว สีของซอสพริกจึงเป็นสีของพริกแท้ๆ ส่วนผสมอื่นๆคือกระเทียมต้องเป็นกระเทียมหัวเล็กจากเชียงใหม่ กระเทียมต้องดองก่อนนำมาผสม น้ำส้มใช้หัวน้ำส้มจากเมืองนอก ต้องสั่งซื้อจากเยาวราช ผสมด้วยสูตรของเราเอง เราใช้น้ำตาลทรายขาว และเกลือ ส่วนผสมแต่ละอย่างจะต้องใส่ในปริมาณที่เหมาะสมซึ่งเป็นสูตรเฉพาะ ที่สำคัญไม่ใส่วัตถุกันเสีย จึงรับรองได้ว่าซอสพริกศรีราชาตราเกาะลอยไม่ต้องแช่ตู้เย็นก็สามารถเก็บได้นานเป็นปี

    น้ำพริกศรีราชา ตราเกาะลอย ถ้าเริ่มนับเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน จะมีอายุไม่น้อยกว่า 70 ปี เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ( Domestic Industry) ขนาดเล็กแต่มีชื่อเสียง แบบเล็กพริกขี้หนู เป็นต้นตำรับที่ยังทำสืบทอดอยู่ได้ไม่เปลี่ยนมือ ยังคงรักษาคุณภาพ ในการผลิตทุกขั้นตอนตามแบบสูตรดั้งเดิม

    ทางชมรมคนรักศรีราชา ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของคนท้องถิ่นสามารถยืนหยัดอยู่คู่สังคมไทยและเมืองศรีราชาของเราสืบไป

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์
    คุณพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก (พี่อั๋น) และพล.ต. หญิง เสาวนิต ไตรกิตยานุกูล (พี่ตุ่ม) 
    คุณธวัช วิพิศมากูล (อาแปะ) คุณเกรียงศักดิ์ วิพิศมากูล (พี่เกรียง) คุณรัศมี วิพิศมากูล (พี่หมี)

อ่านข้อมูลเรื่องราวของศรีราชาได้ที่ http://www.konruksriracha.in.th/

โพสต์ต้นฉบับ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ชมรมคนรักศรีราชา

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ