เปิดเงินเดือน "คนการบินไทย" ชีวิตไม่ได้สวยหรู อย่างที่คนอื่นคิด เสียงสะท้อนก่อนฟื้นฟูกิจการ

LIEKR:

เปิดเงินเดือน "คนการบินไทย" ชีวิตไม่ได้สวยหรู อย่างที่คนอื่นคิด เสียงสะท้อนก่อนฟื้นฟูกิจการ

    หลังจากที่มีคำสั่งรับพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปเมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวอิสราออกบทสัมภาษณ์พนักงานการบินไทย ในหลายประเด็นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

    ล่าสุด จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย ลงนามประกาศปรับลดเงินเดือนพนักงานบริษัทฯ 10-50% เป็นเวลาอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ส.ค.63 ส่งผลให้พนักงานบริษัท การบินไทย จำนวน 20,052 คน (ข้อมูล ณ เดือนก.พ.63) ตกที่นั่งลำบาก (อ่านประกอบ : ‘การบินไทย’ แก้ปม ปตท.ไม่รับบัตรเติมน้ำมัน-แจงตั้ง SPV เช่าเครื่อง 70 ลำ)

 

Sponsored Ad

 

    โดยเฉพาะพนักงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ที่มีจำนวน 2,151 คนนั้น แม้ว่าพนักงานกลุ่มนี้จะถูกลดเงินเดือนเพียง 10% แต่ในช่วงที่การบินไทย ‘หยุดบิน’ ทำให้พนักงานนี้ ไม่มีรายได้เสริมจาก ‘ค่าโอที-ค่าเบี้ยเลี้ยง’ ส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

    นเรศ ผึ้งแย้ม พนักงานฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า หลายๆคนอาจคิดว่าพนักงานการบินไทยเงินเดือนสูง หรูหรา แต่จริงๆแล้ว พนักงานกว่า 80% เงินเดือนไม่มาก โดยส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ระดับ 20,000-40,000 บาทเท่านั้น

 

Sponsored Ad

 

    “พนักงานบางกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่กลุ่มใหญ่ แต่คนจะมองว่าไฮโซหน่อย คือ นักบิน และแอร์โฮสเตส เช่น นักบิน เงินเดือนเขาอยู่ที่ 1.2-2.4 แสนบาทก็จริง แต่เขาเป็นวิชาชีพเชี่ยวชาญเฉพาะ ส่วนแอร์โฮสเตส เงินดือนก็ไม่เยอะมาก เข้ามาใหม่ๆก็ไม่เกินเดือนละ 2 หมื่นบาท เพียงแต่เขามีเบี้ยเลี้ยงเมื่อขึ้นบิน ซึ่งเบี้ยเลี้ยงแต่ละเส้นทางไม่เท่ากัน

    แต่สำหรับพนักงานส่วนใหญ่แล้ว เช่น พนักงานครัวการบิน ฝ่ายช่าง คลังสินค้า และบริการภาคพื้น ซึ่งคิดเป็น 80% จากพนักงานที่มีทั้งหมดกว่า 2 หมื่นคนนั้น เขาไม่ได้มีเงินเดือนสูงอย่างนั้น โดยส่วนใหญ่มีเงินเดือน 2-4 หมื่นบาทเท่านั้น” นเรศกล่าว

 

Sponsored Ad

 

    นเรศ บอกว่า อย่างตัวเขาเองทำงานฝ่ายช่างของบริษัทฯมา 23 ปีแล้ว แต่มีเงินเดือนประจำ 40,000 กว่าบาท และเนื่องจากฝ่ายช่างเป็นวิชาชีพเฉพาะ จึงมีรายได้ค่าไลเซนส์ และเมื่อรวมกับค่าล่วงเวลา (ค่าโอที) ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมเข้ามาบ้าง อย่างไรก็ตาม พอมีเหตุการณ์แบบในตอนนี้ บริษัทฯก็แย่ ทำให้ไม่ได้โอทีมาหลายเดือนแล้ว

    “พนักงานการบินไทยมี 2 รุ่น รุ่นเก่าๆเขาขึ้นเงินเดือนเป็นขั้นเหมือนข้าราชการ บางคนเงินเดือนเป็นแสนก็มี แต่พวกนี้มีไม่มาก และใกล้จะเกษียณแล้ว แต่รุ่นผม ซึ่งเป็นรุ่นที่เข้ามาใหม่ ในช่วง 2-3 ปีแรก ยังได้ขึ้นเงินเดือนเป็นขั้นๆอยู่ แต่หลังจากนั้นบริษัทฯให้ขึ้นเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์ และเงินเดือนของระดับปฏิบัติการจะไปตันที่เดือนละ 73,000 บาท

 

Sponsored Ad

 

    แต่กลายเป็นว่าในช่วง 10 ปีหลัง บริษัทฯขาดทุน บางปีขึ้นเงินเดือนบ้าง แต่บางปีไม่ขึ้น และปีที่ขึ้นก็ขึ้นเงินเดือนเพียง 2-3% พนักงานการบินไทยจึงมีเงินเดือนไม่มาก แตกต่างจากระดับ VP (ผู้อำนวยการใหญ่) และ EVP (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) ที่มีประมาณ 45 คน ซึ่งได้รับเงินเดือน 200,000-400,0000 บาท และได้ค่าน้ำมันอีกเดือนละ 70,000-75,000 บาท

    และยังพบว่ามี EVP บางคน ที่เออรี่รีไทร์และได้เงินชดเชยไปแล้ว รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์ไปทุกอย่าง แต่กลับเข้ามานั่งในตำแหน่ง EVP สรรหา เงินเดือนที่เขาเคยได้รับเดือนละ 2 แสนบาท และค่าน้ำมันเดือนละ 70,000 บาท ตอนนี้เงินเดือนละเพิ่มเป็น 6 แสนบาท และยังได้ค่าน้ำมันอีกเดือนละ 75,000 บาทด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรมกับพนักงานส่วนใหญ่เลย” นเรศกล่าว

 

Sponsored Ad

 

    นเรศ ยังสะท้อนปัญหาของพนักงานบริษัท การบินไทย ว่า ปัจจุบันพนักงานส่วนใหญ่หรือกว่า 80-90% เป็นหนี้สินกับสหกรณ์การบินไทย (สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด) โดยเงินเดือนที่ได้รับแต่ละเดือนนั้น ส่วนใหญ่จะถูกสหกรณ์ฯหักชำระหนี้รายเดือนก่อน ที่เหลือจึงนำไปใช้จ่ายส่วนตัว

    “ตามปกติแล้วสหกรณ์ฯจะให้พนักงานกู้ได้ไม่เกิน 4 ล้านบาท และเมื่อหักค่าผ่อนชำระหนี้แล้ว พนักงานจะต้องเหลือเงินใช้ไม่น้อยกว่า 15% ของตัวเงินเดือน ไม่รวมค่าโอทีและเบี้ยเลี้ยง (Perdium) ดังนั้น ที่พนักงานอยู่ได้ในตอนนี้ ไม่ได้มาจากเงินเดือน แต่มาจากค่าโอที และค่าเพอร์เดี้ยม

 

Sponsored Ad

 

    และเมื่อโอทีไม่มี เบี้ยเลี้ยงไม่มี พนักงานก็ลำบาก แม้ว่าสหกรณ์ฯเข้ามาช่วยเหลือแล้ว โดยลดเงินผ่อนชำระค่างวดเหลือสัญญาละ 500 บาทต่อเดือน แต่บางคนเหลือเงินเดือนในบัญชีแค่ 400 บาทก็มี บางคนติดลบก็มี เพราะไปค้ำประกันเงินกู้ให้เพื่อน แล้วเพื่อนหนีไป” นเรศกล่าว

    นเรศ กล่าวด้วยว่า “ถ้าว่ากันตามจริง ลำพังเงินเดือนที่พนักงานการบินไทยได้รับตอนนี้ แทบจะอยู่ไม่ได้กันอยู่แล้ว เพราะเงินเดือนขึ้นปีละ 1-2% แม้ว่าจะมีเบี้ยเลี้ยง มีโอทีบ้าง แต่ก็ยังต้องเวียนกันไปกู้เงินสหกรณ์ ทำให้พนักงานที่มีอายุงาน 10-15 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้กับสหกรณ์ฯตก 2-3 ล้านบาทต่อคน

Sponsored Ad

    แต่ถ้าบอกว่าพนักงานทำตัวเอง ก่อหนี้กันเอง ผมก็อยากถามว่าแล้วทำไมพนักงานส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ล่ะ ก็เพราะทุกคนต้องสร้างครอบครัว ต้องมีบ้าน มีรถ แล้วก็หวังว่าบริษัทฯจะมีกำไร มีโบนัส แต่ก็ไม่เคยมี ก็มีแต่แย่ลง แล้วก็กู้สหกรณ์ฯวนกันอย่างนี้”

    นเรศ เสนอว่า เวลาที่ฝ่ายบริหารจะลดเงินเดือนพนักงานระดับล่าง ควรพิจารณาด้วยว่าเงินเดือนในซองของพนักงานแต่คนเหลืออยู่เท่าไหร่ และเห็นด้วยกับแนวคิดของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค กรรมการบริษัทฯ ที่เห็นว่าไม่ให้ลดเงินเดือนของพนักงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว แถมตอนนี้ก็ไม่มีเบี้ยเลี้ยงและค่าโอทีอีก

   

    “บางคนบอกชีวิตพนักงานการบินไทยสวยหรูๆ แต่ผมตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์ เงินเดือนรวมแล้ว 25,000 บาท ไปตันที่ 52,000 บาท แต่พอไปลงข่าวกลับเอายอดเต็มไปพูด ผมทำงานที่นี่มา 19 ปี เงินเดือนเพิ่ง 25,000 บาท ทั้งๆที่ผมได้คะแนนประเมิน 85-92 คะแนนต่อปี ไปดูเรคคอร์ดผมได้ ผมแทบไม่เคยลาป่วยเลย” วรวุฒิกล่าว

    วรวุฒิ กล่าวต่อว่า หากนับเฉพาะเงินเดือนของพนักงานฝ่ายครัวการบินฯ จะพบว่า 80% เงินเดือนอยู่ที่ระดับ 10,000-30,000 บาท ส่วนระดับบริหารเงินเดือนอยู่ที่ 40,000-70,000 บาท และเมื่อฝ่ายบริหารออกประกาศลดเงินเดือนพนักงานออกมา ทำให้ตนเองอยู่ในกลุ่มเงินเดือน 20,001-40,000 บาท ถูกลดเงินเดือน 25% แต่ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆยังเหมือนเดิม

    "ในสถานการณ์ที่บริษัทฯประสบกับความยากลำบาก และจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงานลงมานั้น แต่ส่วนตัวเห็นว่า พนักงานที่มีเงินเดือนไม่ถึง 30,000 บาทไม่ควรถูกลดเงินเดือน โดยฉพาะพนักงานฝ่ายปฏิบัติงานไม่สมควรถูกลดเงินเดือนอย่างยิ่ง เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้เข้าบริษัทฯ" วรวุฒิกล่าว

    วรวุฒิ ในฐานะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทยฯ และกรรมการเร่งรัดติดตามหนี้สินพนักงานบริษัทฯที่ไม่ผ่อนชำระหนี้ ได้สะท้อนว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พนักงานบริษัทฯ ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกลดเงินเดือน และแม้ว่าสหกรณ์ฯจะผ่อนผันให้ชำระหนี้เพียงสัญญาละ 500 บาทต่อเดือน แต่พนักงานบางส่วนแทบไม่มีเงินเหลือ แม้แต่ตัวเขาเอง

    “อย่างเดือนที่ผ่านมาผมเหลือเงินใช้จ่ายในครอบครัวแค่ 5,000 บาท เพราะโอทีไม่มี ขณะที่พนักงานการบินไทย 90% ล้วนแล้วแต่เป็นหนี้สหกรณ์ฯ คิดเป็นจำนวน 1.8 หมื่นสัญญา ในจำนวนนี้เป็นพนักงานที่ต้องรับภาระค้ำประกันหนี้ เพราะเพื่อนหนี หรือเพื่อนตาย กว่า 600 คน หรือประมาณ 1,200 สัญญา ซึ่งกลุ่มนี้ไม่เหลือเงินในซองเลย” วรวุฒิกล่าว

    เมื่อถามว่าเหตุใดพนักงานการบินไทยจึงมีหนี้สินกับสหกรณ์ฯมาก วรวุฒิ ตอบว่า “ถ้าพนักงานการบินไทย ไม่กู้สหกรณ์ฯ ถามว่าจะซื้อบ้าน ซื้อรถ สร้างครอบครัวได้อย่างไร"

    วรวุฒิ ยังเล่าถึงของตัวเขาเองว่า “ทุกวันนี้ผมต้องไปกู้เงินสหกรณ์ฯ ถามว่าทำไม เพราะเงินเดือนผมน้อย ลูกผม 2 คน พ่อแม่ก็ต้องส่ง เวลาลูกเปิดเทอม ผมก็ต้องไปกู้เงินสหกรณ์ฯ และที่ผมยังจ่ายคืนหนี้ได้ เพราะมีโอทีให้ทำบ้าง แต่ตอนนี้บริษัทฯขอให้ลดเงินเดือนต่ออีก 3 เดือน แล้วลูกผมจะเปิดเทอมแล้ว ผมก็ต้องไปพึ่งสหกรณ์ฯอีก”

    วรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ด้วยความที่เป็นแบรนด์การบินไทย สายการบินแห่งชาติ ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เวลากลับไปบ้าน ผมภูมิใจตลอดว่าได้ทำงานการบินไทย พ่อแม่คุยได้ว่าทำงานการบินไทย แต่จริงๆผมได้ส่งเงินให้พ่อแม่ผมเยอะนะ ให้ทีละ 2,000 บาท 5,000 บาท 1 หมื่นบาท ให้เท่าที่มี

    มีคนถามว่า ผมเงินเดือน 4 หมื่น 5 หมื่นหรือเปล่า ผมบอกไปว่า พูดตรงๆเลยนะ ผมเงินเดือนแค่ 25,000 บาท แต่ที่ผมอยู่ได้ เพราะผมมีค่ารถ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ผมทำงานบริษัทฯจ่ายค่าโอทีให้ 200% ที่เขาบอกโก้หรู เพราะภาพลักษณ์มันสวย แต่กว่าจะได้เงินมาก็ไม่ต่างจากพนักงานบริษัททั่วไปเลย” วรวุฒิกล่าว

    วรวุฒิ ย้ำว่า "ใครที่บอกว่าพนักงานการบินไทย ‘กินหรู’ นั้น แต่ถ้าไปดูจะเห็นว่ามีพนักงานรากหญ้าฝ่ายปฏิบัติกว่า 1.2 หมื่นคน ที่ต้องทำงานเป็นกะ ไม่ได้ชีวิตไม่ได้สวยหรูนะ แอร์ สจ๊วต ที่คนมองว่าแต่งตัวกันสวยๆ เงินเดือนเขาไม่ได้เยอะนะ เงินเดือนเขาเริ่มต้นที่เดือนละ 12,000-15,000 แต่เขามีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัย แต่ถ้าเขาไม่บินก็ไม่ได้เงิน ขณะที่นักบิน เงินเดือนหลักแสนอยู่แล้ว เพราะเป็นวิชาชีพเฉพาะ แต่พอไปบอกว่าพนักงานส่วนใหญ่ กินหรู สวยหรู แต่จริงๆแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

    เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนบางส่วนของ ‘สหภาพฯ-คนการบินไทย’ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกปรับลดเงินเดือน ในยามที่บริษัท การบินไทย กำลังเข้าสู่ ‘หัวเลี้ยงหัวต่อ’ สำคัญของจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ]

ที่มา : Thailand Vision

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ