รู้จัก "แมมมอธ" เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ดีกรีแชมป์คัดลายมือระดับประเทศ คว้าชนะเลิศที่ 1 ของไทย เพราะคำพูดของครู

LIEKR:

ลายมือสวยขั้นเทพ เหมือนใช้เครื่องพิมพ์

    เป็นเด็กไทยที่มีความสามารถและลายมือสวยเหมือนใช้เครื่องพิมพ์ เลยทีเดียว สำหรับน้องแมม พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์ จาก โรงเรียนสิงห์สมุทร ที่ได้มีการโพสต์ภาพผลงานคัดลายมือของตัวเองลงกลุ่ม คัดลายมือคือปณิธาน ซึ่งเป็นลายมือที่สวยมากๆ จนมีผู้เข้ามาชื่นชมเป็นจำนวนมาก

    เป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียลหลังจากมีการแชร์ตัวอักษรไทยด้วยลายมือที่สวยเป๊ะ เหมือนพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าของลายมือสวยขั้นเทพนี้คือ “แมมมอธ-พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์” วัย 18 ปี ผู้พิชิตรางวัลชนะเลิศการแข่งขันคัดลายมือระดับประเทศ

 

Sponsored Ad

 

    เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยน้องได้โพสต์ภาพผลงานคัดลายมือของตัวเองลงกลุ่ม คัดลายมือคือปณิธาน พร้อมกับข้อความที่ว่า "ทำงานส่งครูครับ ติได้ชมได้ครับ ผิดพลาดประการใดขออภัยด้วยครับ"

 

Sponsored Ad

 

    โดยโพสต์ดังกล่าวของน้องนั้นมีผู้คนเข้าไปกดไลก์มากกว่า 9,300 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งก็มีแต่คนมาชื่นชมและให้กำลังใจในความสามารถของน้องเป็นอย่างมาก 

    เห็นลายมือน้องแล้ว แอบอดคิดไม่ได้เลยว่าเหมือนพิมพ์ออกมาจากคอมพิวเตอร์กันเลยทีเดียว เพราะสวยงาม เป็นระเบียบ และจัดเรียงได้อย่างถูกต้อง

    หลังจากได้สืบค้นแล้ว บอกเลยว่าน้องคนนี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียวเพราะว่าเขาเคยได้รางวัลคัดลายมือชนะเลิศระดับประเทศมาแล้ว ในปี 2019 ซึ่งเขาเคยได้เข้าแข่งขันไปถึงระดับภาคครั้งแรกเพียงแค่อยู่ มัธยมปีที่ 3 เท่านั้น

 

Sponsored Ad

 

    โดยน้องเผยว่าตัวเองไม่ได้ฝึกคัดลายมือแบบจริงจังตั้งแต่เด็ก นอกจากครูให้การบ้านแล้ว ก็ไม่ได้ฝึกเลย ฝึกแบบจริงจังตอน ม.3 เพื่อที่จะไปแข่งศิลปหัตถกรรม และจากนั้นมาตัวของเขาก็ฝึกคัดลายมือมาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จได้รางวัลคัดลายมือชนะเลิศระดับประเทศ

 

Sponsored Ad

 

    และล่าสุด น้องได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่าน นิตยสารแพรว ฉบับ 960 ผ่านหัวข้อ... เส้นทางสู่แชมป์ไม่ง่าย “แมมมอธ-พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์” วัย 18 ปี เจ้าของลายมือสวยขั้นเทพ มุ่งมั่นฝึกฝนจนเป็นที่หนึ่งระดับประเทศ

    เป็นที่ฮือฮาในโลกโซเชียลหลังจากมีการแชร์ตัวอักษรไทยด้วยลายมือที่สวยเป๊ะ เหมือนพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าของลายมือสวยขั้นเทพนี้คือ “แมมมอธ-พิชัยยุทธ เกตุสุวรรณ์” วัย 18 ปี ผู้พิชิตรางวัลชนะเลิศการแข่งขันคัดลายมือระดับประเทศ

    ก่อนจะสวยก็เคยแย่

 

Sponsored Ad

 

    “สมัยเรียนประถมต้น (โรงเรียนธัมมสิริศึกษา สัตหีบ) ลายมือผมไม่สวยเลยครับ จำได้ว่าครูเคยประกาศหน้าห้องว่าคนที่มีรายชื่อต่อไปนี้ต้องปรับปรุงลายมือ ซึ่งมีชื่อของผมอยู่ด้วย ฟังแล้วก็ไม่ได้น้อยใจอะไรนะครับ คิดแค่ว่าเมื่อครูตำหนิ เราก็อยากปรับลายมือให้สวยขึ้น แล้วเริ่มฝึกเอง โดยยึดต้นแบบลายมือจากหนังสือเรียน จากที่เคยรีบเขียนทำให้ตัวหนังสือหวัดๆ ไม่มีหัว ดูสะเปะสะปะ ก็พยายามเขียนให้ช้าลงและเขียนให้มีหัวชัดเจน หรือลักษณะพยัญชนะบางตัวที่เคยเขียนไม่สวย เช่น พ.พาน ที่ปกติผมลากเส้นตรงกลางขึ้นไปเพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ลากให้สุด ทำให้ดูตัวป้อมๆ ไม่สวย ผมค่อยๆ สังเกตแล้วฝึกเขียนใหม่ไปทีละตัว จนในที่สุดลายมือก็ดีขึ้น แต่ติดปัญหาว่าพอพยายามเขียนบรรจงมากๆ ผมก็จดตามที่ครูสอนไม่ทัน จึงต้องหาวิธีใหม่เพื่อให้ยังเขียนสวยและเขียนเร็วไปพร้อมๆ กัน ที่สุดใช้การลดทอนโครงสร้างของพยัญชนะลงครับ เช่น ช.ช้าง ปกติตรงหัวต้องมีการโค้งหยัก ผมก็จะเขียนลงมาตรงๆ เลย กับอาศัยเขียนให้ตัวใหญ่ มีหัวกลมชัดเจน ก็จะเขียนสวยและเร็วได้เอง (ยิ้ม)

 

Sponsored Ad

 

    “ผมไม่คิดว่าการฝึกให้เขียนสวยเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะเราสามารถใช้ช่วงเวลาที่ทำการบ้านฝึกไปได้ในตัว อีกอย่างคือการเขียนสวยมีประโยชน์ ทำให้ลายมือเป็นระเบียบและมีผลต่อการเรียน คือพอเราเขียนถูกต้อง ชัดเจน คุณครูก็จะอ่านรู้เรื่อง ไม่แปลความหมายคำตอบของเราผิดครับ”

Sponsored Ad

    ก้าวแรก…ประกวดคัดลายมือระดับเขต

    “หลังจากครูหลายท่านชมว่าผมเขียนสวย เป็นระเบียบ พอขึ้นชั้น ม.3 (โรงเรียนเลิศปัญญา) ผมก็มีโอกาสได้ไปประกวดคัดลายมือระดับเขตที่จังหวัดชลบุรี จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นการประกวดครั้งแรกในชีวิต กติกาคือต้องเขียนตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นลักษณะตัวกลมทั้งตัว โดยใช้ปากกาลูกลื่นสีดำหรือสีน้ำเงินขนาด 0.5 เขียนลงบนกระดาษสำหรับทำรายงานขนาด A4 ผมจึงซื้อกระดาษกับปากกามาฝึกเขียน สำหรับปากกาผมชอบใช้ของยี่ห้อ Lancer หรือไม่ก็ Faber-Castell เพราะเส้นเล็กและเขียนลื่นครับ หลายคนที่เจอปัญหาหมึกซึมเลอะ ลองใช้วิธีเช็ดตรงหัวปากกาก่อนเขียนจะได้ไม่เลอะ

    “ผมฝึกเขียนหลังทำการบ้านโดยจับเวลาไปด้วย ปกติเวลาแข่งจะมีเวลาให้ 1 ชั่วโมงครึ่ง เขียนทั้งหมดประมาณ 25-30 บรรทัด ครูจะดูให้ว่าต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง อาศัยโหลดตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการจากอินเทอร์เน็ตมาฝึกเขียน ซึ่งความยากคือต้องเขียนเป็นตัวกลมทั้งตัว เช่น อ.อ่าง ตรงฐานต้องเป็นเส้นโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งที่ผ่านมาผมเขียนแบบเป็นฐานแบนเส้นตรงมาตลอด กว่าจะเขียนฐานให้กลมได้ก็ใช้เวลาพอสมควร อีกเทคนิคที่ช่วยได้คือ เวลาเขียนต้องนั่งหลังตรง เพื่อให้เห็นภาพรวมของตัวอักษรทั้งหมดว่าสมดุลกันหรือไม่ บวกกับการกดปากกาก็มีผล ต้องไม่หนักไปหรือเบาไปจึงจะได้เส้นที่ชัดเจน สิ่งที่ยากที่สุดในการฝึกเขียนอีกอย่างคือ ต้องบังคับมือไม่ให้สั่นครับ ถ้าช่วงไหนเกิดหงุดหงิดมือจะสั่น ลายมือไม่เหมือนเดิมแน่นอน เพราะฉะนั้นระหว่างฝึกเขียน ผมจะเปิดเพลงไปด้วย ส่วนใหญ่ชอบฟังเพลงลูกทุ่งที่ช่วยให้ผ่อนคลาย

    “นอกจากฝึกเขียนที่โรงเรียนแล้ว ผมกลับมาฝึกต่อที่บ้านด้วยวันละ 1-2 ชั่วโมง มีบางวันเหมือนกันครับที่ท้อว่าทำไมต้องมานั่งฝึกอะไรอย่างนี้ เพราะเมื่อยมือมาก เวลาเหนื่อยมากๆ ผมจะคิดถึงความรู้สึกที่ผมอยากจะเขียนให้เหมือนลายมือผู้ชนะระดับประเทศเมื่อปี 2559 พี่เขาเขียนตัวตรง อ่านง่าย และถูกต้อง ตามหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผมพยายามเขียนให้ได้อย่างนั้น อยากประสบ ความสำเร็จแบบนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมฮึด

    “พอถึงวันแข่งจริงมีผู้เข้าแข่งขันระดับเขตทั้งหมด 22 คนจาก 22 โรงเรียน ในจังหวัดชลบุรี ยอมรับว่าตื่นเต้นมาก เพราะคาดหวังว่าอยากจะได้ที่ 1 แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจนะ เพราะฝึกมาเยอะ บวกกับคนรอบข้างชมเยอะว่าสวย จึงคิดว่าน่าจะมีโอกาสได้รางวัล แต่อุปสรรคในวันนั้นก็คือโต๊ะที่นั่งเขียนเป็นแบบเลกเชอร์ คือสามารถพับขึ้นได้ มีพื้นที่ให้วางแขนแค่ด้านขวา ซึ่งที่ผ่านมาผมนั่งเขียนกับโต๊ะเรียนธรรมดาที่สามารถวางแขนได้สองข้าง จึงเขียนไม่ค่อยถนัด รู้สึกใจไม่ดีละ แต่ก็พยายามทำใจให้นิ่งแล้วตั้งใจเขียน พยายามเขียนไม่ให้ผิด เพราะถ้าใช้ลิควิดลบจะโดนหักจุดละ 1 คะแนน ซึ่งคะแนนเต็มคือ 100 คะแนน เนื้อหาที่ผมต้องเขียนคือพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวประมาณ 30 บรรทัด มีเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดผมก็ได้รางวัลระดับเขตครับ (ยิ้ม) จากนั้นก็มีโอกาสไปแข่งขันต่อระดับภาค แต่ได้อันดับที่ 27 จึงไม่ได้ไปประกวดต่อระดับประเทศ”

ก้าวสู่ที่ 1 ของประเทศ

    “นอกจากการเขียนแบบกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังมีการแข่งแบบอาลักษณ์ ซึ่งเป็นตัวอักษรไทยแบบตัวเหลี่ยม และแบบสปีดบอล ซึ่งเป็นการเขียนตัวอักษรไทยเมจิกหมึกซึม ซึ่งหลังจากที่ผ่านการแข่งระดับเขตแล้ว ผมก็มีโอกาสฝึกและไปแข่งการเขียนแบบอาลักษณ์ต่อ ซึ่งผมคิดว่าฝึกเขียนง่ายกว่าตัวอักษรแบบกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากตรงฐานและหัวเป็นเหลี่ยม ระหว่างที่เขียนยังสามารถพักมือได้ ไม่ต้องวาดเส้นโค้งติดต่อกัน สุดท้ายก็ได้ที่ 1 มาครอง ส่วนตัวอักษรที่เขียนยากที่สุดคือตัวอักษรแบบสปีดบอลครับ เพราะต้องใช้ปากกาเมจิกหัวใหญ่ เป็นเรื่องยากที่จะบังคับปากกาให้ออกมาสวย ซึ่งผมเองยังไม่เคยมีโอกาสลองแข่งเลย

    “ช่วง ม.4 กับ ม.5 (โรงเรียนสิงห์สมุทร) ผมก็มีโอกาสไปแข่งระดับเขตอีก แต่ได้รางวัลที่ 2 และกลับมาแข่งขันอีกครั้งตอน ม.6 คราวนี้ได้รางวัลที่ 1 ระดับเขต จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 50 คน จากนั้นทางสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาได้รวมผู้ชนะจากเขตต่างๆ ทั่วประเทศ 42 คน ส่งผลงานไปให้ทางกระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกก่อน เพื่อให้สุดท้ายเหลือผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 10 คน เพื่อไปแข่งต่อระดับประเทศ ครั้งนี้ผมก็ซ้อมทุกวันสม่ำเสมอเหมือนเดิมเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็ม โดยคุณครูแนะเทคนิคว่า ถ้าเขียนผิดไม่ต้องใช้ลิควิดลบ เพราะจะถูกหักทั้งคะแนนความสะอาดและคะแนนที่เขียนผิด ให้ปล่อยไปเลย จะได้โดนหักแค่คะแนนเขียนผิดอย่างเดียว วันแข่งผมจึงไม่พกลิควิดไปด้วย แต่ยังไงใจก็กังวลมากครับ เพราะเป็นการแข่งขันระดับประเทศ มือสั่น เหงื่อออก จำได้ว่าเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกร ศัพท์ยาก ความยาวทั้งหมด 26 บรรทัด ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 5 นาที เขียนเสร็จเป็นคนแรก ซึ่งจริงๆ เขาให้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ตอนนั้นก็กังวลอีกว่าเขียนเร็วไปหรือเปล่า เพื่อนคนอื่นอาจจะใช้เวลาเต็มที่แล้วเขียนได้ดีกว่า พอตอนที่คณะกรรมการประกาศผลว่าผมได้ที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตอนนั้นแทบไม่เชื่อเลยครับ รู้สึกดีใจมากๆ ได้รางวัลเป็นเกียรติบัตร โล่ และเงินรางวัล 5,000 บาท

    “หลังจากได้ที่ 1 ระดับประเทศมาแล้ว ครูให้ผมเขียนคำแปลจากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงให้รุ่นน้องดู โดยใช้กระดาษร้อยปอนด์แผ่นใหญ่ วัดได้ความยาวประมาณศีรษะจนถึงหัวเข่า ผมใช้ปากกาเคมีหัวดำขนาด 0.5 ของยี่ห้อ My Color เพราะสีคมชัด ก่อนเขียนผมลากเส้นบรรทัดด้วยดินสอ แล้วก็เขียนลงไปเลยครับ แต่ความที่กระดาษแผ่นใหญ่ นั่งเขียนลำบาก จึงใช้วิธีนอนเขียนแทน ข้อเสียคือทำให้เราเห็นชัดเพียงแค่ตัวอักษรเพียงตัวเดียว ถ้าสังเกตดีๆ ตัวอักษรบางตัวก็จะไม่ค่อยสมดุลกันเท่าไร โดยเฉลี่ยผมเขียนตัวอักษรละ 2-3 วินาที ใช้เวลาเขียนอยู่ 2-3 วัน ก่อนส่งอาจารย์ผมถ่ายรูปแชร์ลงในเพจ ‘คัดลายมือคือปณิธาน’ จากนั้นก็มีคนนำไปแชร์ต่อมากมาย พร้อมกับอินบ็อกซ์มาถามว่ามีเทคนิคอย่างไร จึงจะเขียนได้สวยอย่างนี้บ้าง (ยิ้ม) ผมว่าการเขียนให้สวยเป็นเรื่องที่ฝึกหัดกันได้ ถ้ามีความตั้งใจมากพอ”

พรสวรรค์ + พรแสวง

    “ผมเคยคิดว่าพรสวรรค์อาจมีส่วนให้ลายมือสวย เพราะคุณพ่อคุณแม่ลายมือสวยทั้งคู่ บวกกับคุณพ่อชอบวาดรูปเป็นงานอดิเรก ผมก็เช่นกัน โดยเฉพาะรูปแนวสถาปัตยกรรมยุโรปที่ใช้ลายเส้นขาว-ดำ เช่น อาคารบ้านเรือนในยุโรป ฝีมือวาดรูปของผมก็พอใช้ได้ แต่ถ้าเทียบกันแล้วผมชอบการคัดลายมือมากกว่า (ยิ้ม) การวาดรูปก็ช่วยเสริมทักษะการคัดลายมือด้วยนะครับ ช่วยให้เขียนเส้นพยัญชนะ ได้ตรง กะระยะห่างระหว่างบรรทัดได้ดี


    “ผมเคยคิดอยากทำอาชีพนักเขียนคัดลายมือเป็นงานเสริม เช่น รับเขียนการ์ดงานแต่งงาน หรือเขียนให้แบรนด์ต่างๆ แต่ยังไม่มีใครจ้างผมแบบเป็นอาชีพ มีแค่เขียนหน้าปกรายงานให้เพื่อนบ้าง ตอนนี้จึงมุ่งเรียนด้านแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปก่อนครับ


    “และผมยังคงฝึกคัดลายมือโดยอาศัยช่วงที่เขียนไดอะรี่คัดลายมือไปด้วยวันละ 1-2 ชั่วโมง ผมคิดว่ามันช่วยเรื่องสมาธิ ให้ใจเราเย็นลง และยังเป็นความเพลิดเพลิน จนกลายเป็นงานอดิเรกไปแล้ว ซึ่งนอกจากตัวอักษรภาษาไทย ผมยังคัดลายมือตัวเขียนภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาอาหรับได้ด้วย แต่สวยสู้ภาษาไทยไม่ได้นะครับ อาจเพราะใจผมชอบความเป็นไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใดในโลก (ยิ้ม) การคัดลายมือนอกจากความสวยงามด้านศิลปะแล้ว ยังสื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจครับ”


ความเห็นจากชาวเน็ต


.

.


.

ที่มา : นิตยสารแพรว, Sanook, Phichaiyuth Ketsuwan : | เรียบเรียงโดย LIEKR

บทความที่คุณอาจสนใจ