เจ้าบ้านเชิญ "ผู้ดีบางกอก" มางานแต่งแบบชาวบ้าน ไม่รู้ว่าเขาคือ "พระพุทธเจ้าหลวง ร.5"

LIEKR:

ขบวนขันหมากตะลึง เมื่อ "พระพุทธเจ้าหลวง ร.5" เสด็จฯ งานแต่งชาวบ้าน

    เรื่องราวของ การเสด็จประพาสต้น ของพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มักจะถูกบอกเล่าโดยชาวบ้านผู้ได้พบเห็นเหตุการณ์ และหลายเรื่องราวน่าประทับใจนั้น ก็เป็นบทบันทึกสำคัญในประวัติศาสตร์ด้วย

    ย้อนไปเมื่อต้นปี 2448 แพทย์หลวงได้ถวายคำแนะนำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงว่างเว้นจากการบริหารราชการแผ่นดินสักระยะหนึ่ง หลังจากประชวรจนต้องพักฟื้น และหากว่าได้เสด็จออกไปทรงสำราญพระอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัยในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ก็จะเป็นการดีต่อพระพลานามัย

 

Sponsored Ad

 

    สมเด็จพุทธเจ้าหลวงจึงเสด็จแปรไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา และถือโอกาสนี้ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทโดยชลมารค (เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ) ทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชน ดังที่เรียกกันว่าประพาสต้น เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎร โดยไม่มีการตกแต่งรับเสด็จ และทรงไต่ถามทุกข์สุขด้วยพระองค์เอง

 

Sponsored Ad

 

    ในคราวหนึ่งที่ได้เสด็จประพาสหัวเมืองตะวันออก ขากลับทรงแวะนมัสการพระสมุทรเจดีย์ ทรงเห็นว่ายังมีเวลาเหลือ กว่าจะถึงเวลาเสวยพระกระยาหาร จึงรับสั่งให้เรือกลไฟลากเรือกรรเชียงพระที่นั่งไปประพาสในคลองตาเด็ด ซึ่งเป็นคลองเล็กๆ อยู่ฝั่งเมืองสมุทรปราการ ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรสองฝั่งคลอง 

    จนถึงหน้าบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง มีผู้คนมาชุมนุมโห่ร้องกันอย่างสนุกสนาน จึงรับสั่งให้เรือกรรเชียงพระที่นั่งเข้าเทียบท่า แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนลานที่ขบวนแห่กำลังมา เจ้าของบ้านเห็นผู้ดีบางกอกขึ้นมาเยือนก็เข้ามาต้อนรับและเชื้อเชิญขึ้นไปบนบ้าน ทรงไต่ถามก็ทราบว่าเป็นงานแต่งงาน แต่เมื่อทอดพระเนตรก็เห็นแต่ละคนแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าปอนๆ ของที่แห่มาก็มีแต่ถาดผลไม้ ไม่มีเงินทองหรือของมีค่าแต่อย่างใด เมื่อขึ้นไปประทับบนบ้านที่จัดไว้เป็นที่รับขันหมาก จึงรับสั่งถามเจ้าของบ้านว่ามีสินสอดทองหมั้นเท่าใด  “ไม่มีเลยเจ้าค่ะ”

 

Sponsored Ad

 

    เจ้าของบ้านบอก และอธิบายว่า เจ้าบ่าวชื่อ จีนชัย (หรือจีนไช้ ) เป็นลูกจีนเกิดในเมืองไทย อายุ 28 ปี ส่วนเจ้าสาวเป็นมอญชื่อ เจิง (บางบันทึกว่าชื่อ เจิ่ง) อายุ 25 ปี มีอาชีพรับจ้างด้วยกันทั้งคู่ เพื่อนบ้านเห็นว่ารักใคร่กันและต่างเป็นคนขยันทำมาหากินทั้งคู่ จึงเรี่ยไรกันจัดงานให้ตามมีตามเกิด

 

Sponsored Ad

 

    เมื่อขบวนขันหมากขึ้นมาบนเรือน ครั้นเห็นชายแปลกหน้าท่าทางเป็นผู้ดีบางกอกนั่งอยู่ ก็มองด้วยความสงสัย และรู้สึกว่าคุ้นๆ หน้า แต่พอจำได้เท่านั้น ของที่อยู่ในมือก็หล่นลงพื้น ยืนตะลึง ยายเจ้าของบ้านยังหันไปเอ็ดเอาว่าซุ่มซ่าม มิรู้จักอายคนบางกอกที่เขาแวะมาบ้าง แต่เมื่อชายคนนั้นก้มกระซิบที่หู ยายเจ้าของบ้านก็หันมาดู พลันก็เกิดอาการตะลึง ตัวสั่น รีบก้มลงกราบด้วยความตกใจและดีใจจนทำอะไรไม่ถูก ขบวนขันหมากก็รวนเร มีรับสั่งให้ทำตัวกันตามสบาย ให้ขบวนขันหมากขึ้นมาให้หมด แล้วให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้ามาเฝ้า

 

Sponsored Ad

 

    เมื่อเจ้าบ่าวชัยกับเจ้าสาวเจิง หมอบกราบที่พระบาท ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโอวาทในการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างผัวเมีย แล้วให้เจ้าของบ้านลงไปบอกคนในเรือให้นำเงินมา 2 ชั่ง ใส่ถุงมาถุงละชั่ง พระราชทานแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละถุง ทั้งคู่ซึ่งหาเช้ากินค่ำได้เงินรวมกัน 160 บาท ก็เปลี่ยนฐานะไปทันที

    งานแต่งงานของคนยากไร้ ก็กลายเป็นงานวิวาห์ที่ยิ่งใหญ่ ถูกจารึกไว้ให้เล่ากันต่อๆมา ทำให้คนฟังมีความสุขไปกับตนในวันวิวาห์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นด้วย นี่ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย แม้แต่ในช่วงเวลาที่หมอหลวงถวายคำแนะนำให้พักผ่อนพระวรกายเพื่อพระพลานามัย ก็ยังทรงใช้ช่วงเวลานี้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในชนบท เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่และความเดือดร้อนของพวกเขา ด้วยความรักและห่วงใย เช่นเดียวกับที่ราษฎรรักพระองค์

 

Sponsored Ad

 

    เล่ากันต่อมาว่า เมื่อนายใช้และนางเจิ่งมีฐานะดีขึ้น ทุกอาทิตย์ นางเจิ่งก็มักจะแต่งกายดี ห่มสไบเรียบร้อย นำผลไม้มากรุงเทพ มาฝากเจ้านาย ลูกหลานที่ได้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารเสมอ

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งมีการพระราชทานนามสกุล ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ นายพันตำรวจโท หลวงเสนอสารสนิท ทายาทของจีนไช้และนางเจิ่ง ว่า ลวพันธุ์ โดยนำชื่อของทวด คือปู่ของนายไช้ ว่าเหลา มาแปลงเป็นภาษามคธ ว่า ลว เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 2736 เมื่อ พ.ศ. 2438

Sponsored Ad

    ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง บันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์บางกอกสมัย สรุปว่า พ.ศ. 2442 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถกับพระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งเก๋งพายไปทางคลองสามเสน พอมาถึงบ้านอำแดงปาน ทรงพบว่าบนบ้านกำลังมีงานวิวาห์ ก็โปรดเกล้าฯ ให้หยุดเรือและเสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร มีพระราชดำรัสสั่งให้ไปตามตัวเจ้าบ่าวมายังบ้านเจ้าสาวเพื่อประกอบพิธี เจ้าบ่าวเจ้าสาวคู่นี้หนังสือพิมพ์ไม่ระบุชื่อ บันทึกเพียงว่า พระราชทานเงินให้เป็นของขวัญถึง 80 บาท ทั้งสองเรื่องแสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อราษฏรอย่างล้นพ้น ถ้าใครเป็นลูกเป็นหลานหรือแม้เพียงได้อยู่ร่วมงานในวันนั้นก็คงปลาบปลื้มไปตราบนานเท่านาน

ที่มา : khaosaan

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ