สงสัย "ป้ายทะเบียน TC กับ QC" คืออะไร ทำไมถึงวิ่งบนท้องถนนได้ ถูกต้องตามกฎหมายไหม?

LIEKR:

ใครเคยเจอป้ายทะเบียน TC บ้าง เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นกันเยอะแล้วนะ

    เป็นอีกกรณีที่หลายคนสงสัยเลยทีเดียว หลังเจอรถบางคันติดแผ่นป้ายทะเบียนแปลกๆ แทนที่จะเป็นตัวอักษรภาษาไทยผสมกับตัวเลข กลับกลายเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษไปเสียนี่ ป้ายเหล่านี้เป็นป้ายปลอมหรือไม่ และสามารถใช้งานบนท้องถนนได้ตามกฎหมายจริงหรือ?

    ทั้งนี้ป้ายทะเบียน TC เป็นป้ายที่ออกโดยกรมการขนส่งทางบก เพื่อใช้สำหรับรถต้นแบบของค่ายรถต่างๆ ที่จำเป็นต้องนำออกมาใช้งานจริงบนท้องถนน เพื่อให้สามารถประเมินสมรรถนะและประสิทธิภาพของรถได้อย่างแท้จริง มาตรการดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อให้มีความชัดเจนในการแยกรถเพื่อการทดสอบออกจากรถอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีป้ายทะเบียนเฉพาะเพื่อแยกรถทดสอบเหล่านี้ออกจากรถของประชาชนทั่วไป ซึ่งป้าย TC มีการเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 แล้ว

 

Sponsored Ad

 

     โดยป้าย TC แบ่งออกเป็นป้ายสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยป้ายสำหรับรถยนต์จะต้องเป็นแผ่นป้ายโลหะพื้นสีขาวสะท้อนแสง ขนาดกว้าง 15 ซม. ยาว 34 ซม. และมีรอยนูนเครื่องหมาย "ขส" ที่มุมล่างขวา บรรทัดแรกนำหน้าด้วยตัวอักษร TC ตามด้วยเลขไม่เกิน 4 หลัก และบรรทัดที่สองแสดงชื่อจังหวัด ขณะที่ป้ายสำหรับรถจักรยานยนต์จะมีขนาดกว้าง 17.20 ซม. ยาว 22 ซม. ระบุรายละเอียด 3 บรรทัด บรรทัดแรกเป็นตัวอักษร TC บรรทัดที่สองเป็นตัวเลขไม่เกิน 4 หลัก และบรรทัดที่สามแสดงชื่อจังหวัด

 

Sponsored Ad

 

     แม้ว่ารถยนต์ที่ใช้ป้ายทะเบียน TC จะเป็นรถที่ยังไม่ขึ้นสายการผลิตจริง แต่กฎหมายกำหนดว่าต้องจัดทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 รวมถึงผู้ขับรถทดสอบจะต้องมีใบอนุญาตขับรถตรงตามลักษณะรถด้วย

     นอกจากป้าย TC แล้ว ยังมีป้าย QC ซึ่งออกให้สำหรับรถยนต์ที่ขึ้นไลน์การผลิตแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนทดสอบคุณภาพก่อนวางจำหน่าย โดยลักษณะป้ายจะเหมือนกับป้าย TC ทุกประการ แต่เปลี่ยนอักษรเป็นคำว่า QC เท่านั้น

 

Sponsored Ad

 

     ดังนั้น รถที่ใช้ป้าย TC หรือ QC จึงเป็นรถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้สามารถวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

.

.

 ที่มา : กรมการขนส่งทางบก

บทความที่คุณอาจสนใจ