พระราชดำริ "สมเด็จพระพันปีหลวง" ในการออกแบบชุดไทย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของชาติขึ้นใหม่

LIEKR:

ด้วยสายพระเนตรอันก้าวไกล "สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ปลุกกระแสชุดไทย สร้างเอกลักษณ์ของชาติขึ้นใหม่

    หนึ่งในสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินไทย คือ "ผ้าไทย" ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่โบราณกาล กระทั่งได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับจากสายตาชาวโลก ด้วยพระปรีชาชาญและวิริยะอุตสาหะของ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"

    พระราชกรณียกิจที่โดดเด่นในเรื่องของการอนุรักษ์และฟื้นฟูวงการผ้าไทย เช่นการก่อตั้งมูลนิธิศิลปาชีพ การริเริ่มโครงการพระราชดำริชุดไทยพระราชนิยม และพระราชดำริในการออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของชาติไทยขึ้นมาใหม่ เนื่องจากทรงต้องตามเสด็จ “พระบาทสมเด็จพระ มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร” ประพาสยุโรปและอเมริกา

 

Sponsored Ad

 

    ในขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีชุดไทย จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ “ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค” และ “คุณหญิงอุไร ลืออำรุง” ช่างตัดฉลองพระองค์ หารือค้นคว้าข้อมูล เลือกแบบต่างๆ มาปรับเปลี่ยนจนได้รูปแบบที่เหมาะสม เกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย โดยได้พระราชทานชื่อตามนามของพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ในบรมมหาราชวัง

 

Sponsored Ad

 

ชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบ

    1. “ชุดไทยเรือนต้น” ใช้ผ้าซิ่นฝ้ายหรือไหมมีริ้ว หรือผ้าเกลี้ยงมีเชิงยาว แขนสามส่วน คอกลมตื้นไม่มีขอบ เหมาะสำหรับงานที่ไม่เป็นพิธีการเช่น งานบุญ งานกฐิน

    2. “ชุดไทยจิตรลดา” ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิง หรือยกดอกทั้งตัว คอกลม มีขอบตั้งน้อยๆ เป็นชุดไทยพิธีกลางวัน เช่นรับประมุขต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ

 

Sponsored Ad

 

    3. “ชุดไทยอมรินทร์” ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกม หรือยกทองทั้งชุด แขนสามส่วน อาจใช้คอกลมกว้าง ไม่มีขอบตั้ง ควรประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

Sponsored Ad

 

    4. “ชุดไทยบรมพิมาน” คาดเข็มขัด ใช้ผ้ายกไหม หรือยกทองมีเชิง มีชายพก เสื้อแขนยาวคอกลม เหมาะสำหรับงานเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่นงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ

    5. “ชุดไทยจักรี” ผ้านุ่งจีบยกข้างหน้ามีชายพก คาดเข็มขัดไทยหรือห่มสไบ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ใช้ในงานพิธีเต็มยศ

 

Sponsored Ad

 

    6. “ชุดไทยจักรพรรดิ” ตัวซิ่นใช้ผ้ายกทั้งตัว มีเชิงยกไหมทองหรือดิ้นทอง ห่มแพรจีบแบบไทย จีบหน้านางมีชายพก

 

Sponsored Ad

 

    7. “ชุดไทยสุโขทัย” เป็นที่นิยมกันเป็นอย่างมาก เน้นการปักตกแต่งตัวเสื้อ ตัวเสื้อคอกลมกว้างไม่มีแขน ผ้าซิ่นยกไหม หรือยกทอง

    8. “ชุดไทยศิวาลัย” ใช้ผ้าสีทองตัดแบบแขนยาว ผ้ายกไหมหรือยกทอง ซิ่นยาวจีบหน้านางมีชายพก คล้ายแบบไทยบรมพิมาน ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ

Sponsored Ad

    ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกลของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ประเทศไทยมีชุดไทยประจำชาติที่เป็นแบบแผน และยังโดดเด่นจนถึงสายตาของชาวต่างชาติที่ชื่นชม เราควรอนุรักษ์และเทิดทูนมรดกของชาติไทย เพื่อที่จะคงอยู่กับประเทศไทยยาวนาน

.

.

ที่มา : thairath, mthai

บทความที่คุณอาจสนใจ