เดือนนึงเป็นแสน! หนุ่มเล่า เกิดในบ้านชาวนา "ร่ำรวยจนทุกวันนี้" เพราะปลูกมะละกอฮอลแลนด์ !

LIEKR:

“รวย” เพราะปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ฟันรายได้ 25,000-38,000 บาท/สัปดาห์

        “มะละกอฮอลแลนด์” เป็นไม้ผลยอดฮิต ที่ผู้คนบริโภคนิยมรับประทาน เพราะมีเนื้อแน่น รสชาติหวาน หอม อร่อย มะละกอเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ที่มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มะละกอฮอลแลนด์ เป็นไม้ผลที่น่าปลูกอย่างมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

        คุณอมรเทพ (ต้อม) เสือสังโฆ วัย 35 ปี และภรรยา ชื่อ คุณศิริวรรณ (ผึ้ง) เสือสังโฆ วัย 33 ปี เจ้าของกิจการสวนมะละกอ “คีโม สไมล์ ฟาร์ม” เป็นหนึ่งในเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพการทำสวนมะละกอ สร้างรายได้ที่มั่นคงและมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้ที่ดินได้บ้านได้รถ มีเงินทองจับจ่ายใช้สอย มาจากอาชีพการทำสวนมะละกอตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น ปัจจุบันพวกเขามีรายได้จากการขายมะละกอฮอลแลนด์ไม่ต่ำกว่า 25,000-38,000 บาท/สัปดาห์ ทีเดียว

 

Sponsored Ad

 

คุณต้อมและคุณผึ้ง เจ้าของสวนคีโม สไมล์ ฟาร์ม

        คุณอมรเทพ เสือสังโฆ หรือ คุณต้อม เจ้าของสวนคีโม สไมล์ ฟาร์ม เล่าให้ฟังว่า เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนา จังหวัดอ่างทอง เรียนจบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ด้านอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต เคยทำงาน บริษัท ฮอนด้า แถวอยุธยา ได้เพียงปีเศษ ต่อมาแต่งงานกับภรรยา “คุณผึ้ง” ซึ่งเป็นสาวเมืองสุพรรณบุรี เขาจึงย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่สุพรรณบุรี ระยะแรกเขาไปช่วยพ่อตาดูแลสวนมะละกอที่ปลูกแซมอยู่ในสวนส้มโออยู่นานปี ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลจัดการสวนมะละกอจนชำนาญ

 

Sponsored Ad

 

        คุณต้อม มั่นใจว่า มะละกอฮอลแลนด์ เป็นไม้ผลที่มีโอกาสเติบโตทางการตลาดและสร้างผลกำไรที่ดี เขาตัดสินใจฝากอนาคตกับกิจการสวนมะละกอ โดยนำเงินทุนก้อนสุดท้ายของเขา ประมาณ 60,000-70,000 บาท มาเช่าที่ดินเพื่อปลูกมะละกอในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี แบ่งเงินทุนซื้อยาและปุ๋ยเคมีบำรุงต้นมะละกอทุกเดือน ผ่านไป 6-7 เดือน ต้นมะละกอเริ่มมีผลผลิตออกขาย ทำให้มีเงินรายได้ไหลเข้ากระเป๋า 20,000-30,000 บาท ทุกๆ 3 วัน

        เมื่อ 10 ปีก่อน มะละกอฮอลแลนด์ขายได้ราคาดีมาก คุณต้อมจึงชวนเพื่อนบ้านมาปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ต่อมาถูกพ่อค้าทิ้ง ไม่มารับซื้อผลผลิต คุณต้อมจึงรวบรวมผลผลิตของตัวเองและเพื่อนเกษตรกรไปขายที่ตลาดไท ทำให้หมดปัญหาเรื่องตลาด

 

Sponsored Ad

 

        “การทำสวนมะละกอจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หัวใจสำคัญอยู่ที่เรื่องการตลาด หากผลิตมะละกอได้เก่ง แต่ขายของไม่เป็น ก็ขาดทุนได้ง่าย ปัจจัยสำคัญต่อมาคือ คุณภาพสินค้า หากสินค้าไม่สวย รสไม่หวาน แม่ค้าก็ไม่รับซื้อ” คุณต้อม บอก

มะละกอฮอลแลนด์ที่เก็บส่งขายตลาด

        ทุกวันนี้ คุณต้อม จึงมีรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง ในฐานะ “ผู้รวบรวมและกระจายสินค้ามะละกอ” ที่ผ่านมา เขาไปส่งเสริมอาชีพการปลูกมะละกอให้แก่เกษตรกรที่สนใจในหลายพื้นที่ ทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ฯลฯ โดยส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการดูแลจัดการแปลงปลูก จำหน่ายต้นพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์ให้แก่ลูกไร่ พร้อมรวบรวมผลผลิตส่งขายตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท

 

Sponsored Ad

 

        “มีคนสอนผมว่า หากผมอยากเติบใหญ่ รากต้องเยอะ หมายความว่า ต้องรู้จักผู้ซื้อให้มาก เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย ทุกวันนี้ แม่ค้าปลีกมาขอซื้อผลผลิต ผมก็ขาย ตลาดค้าส่ง ผมก็ขาย ผมพยายามขายสินค้าทุกช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาด แต่ผมไม่ขายสินค้าเข้าห้างสรรพสินค้า เพราะไม่อยากให้กระแสเงินสดจมอยู่กับนายทุน” คุณต้อม กล่าว

“คุณภาพ นำราคา”

        คุณต้อม บอกว่า ตลาดต้องการมะละกอผิวสวย รสชาติหวาน อร่อย ก่อนเก็บผลผลิตออกขาย คุณต้อมต้องตรวจเช็กคุณภาพสินค้ามะละกอทุกล็อตว่า ผิวเสียหรือเปล่า รสชาติหวานหรือไม่ การควบคุมสินค้าให้ได้มาตรฐานทุกล็อต ทำให้คุณต้อมได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อและสามารถกำหนดราคาขายมะละกอได้เอง ขณะที่มะละกอจากแหล่งผลิตทั่วไป แม่ค้าจะเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อเป็นหลัก คุณต้อมจะคำนวณราคาขายสินค้าโดยประเมินจากราคาซื้อขายมะละกอในทุกภาคทั่วประเทศก่อนแจ้งผู้ซื้อ

 

Sponsored Ad

 

สวนคีโม สไมล์ ฟาร์ม

        สวนแห่งนี้ดูแลให้น้ำแปลงปลูกมะละกอวันเว้นวัน ให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักรกหมู ทุกๆ 10 วัน ให้ปุ๋ยเคมีทุกๆ 15 วัน หากพบโรคและแมลง ก็ให้สารกำจัดบ้าง หลังปลูกเพียงแค่ 8 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ 250 กิโลกรัม/ไร่ ทุกๆ 3 วัน ดังนั้น พื้นที่ปลูกมะละกอ 5 ไร่ จะเก็บผลผลิตได้ 1,250 กิโลกรัม ทุกๆ 3 วัน เมื่อคิดราคาขายขั้นต่ำสุด ที่กิโลกรัมละ 10-15 บาทแล้ว เท่ากับจะมีรายได้เฉลี่ย 25,000-38,000 บาท/สัปดาห์ทีเดียว ในขณะที่ต้นทุนค่าปุ๋ยและยาต่อสัปดาห์ อยู่ที่ 2,500 บาท เท่านั้น

 

Sponsored Ad

 

แปลงปลูกมะละกอฮอลแลนด์

        เมื่อต้นมะละกอมีอายุเข้าปีที่ 2 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นสูงอีกเท่าตัว ในปีที่ 2 หลังเก็บผลผลิตไปต่อเนื่องสัก 6 เดือน ก็จะหมดรอบการผลิต พักต้นไปอีก 3-4 เดือน ก็จะเริ่มติดผลรอบใหม่ จนกระทั่งต้นมะละกออายุครบ 3 ปี ต้นมะละกอฮอลแลนด์ก็จะให้ผลผลิตน้อยลง ให้รื้อแปลงเพื่อลงทุนปลูกใหม่

ผลิตมะละกอครบวงจร

        นอกจากขายผลมะละกอสุกแล้ว คุณต้อม ยังผลิตต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์พันธุ์แท้ (2-3 ต้น/ถุง ขายถุงละ 6 บาท)และเมล็ดพันธุ์มะละกอ (ราคาขีดละ 700 บาท) ออกจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจปลูกมะละกอทั่วประเทศ คุณต้อม เริ่มขายต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์มะละกอตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง เพราะต้นพันธุ์ที่นำไปปลูกมีคุณภาพดี เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ และให้ผลผลิตคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด

Sponsored Ad

“ผมไปสอนเกษตรกรลูกไร่ เรื่องการคัดต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ว่า ชนิดไหนที่เก็บทำพันธุ์ได้ โดยสังเกตจากใบมะละกอที่มีธงใบและให้ผลมะละกอ ที่มีรูปทรงสวยได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ จึงคัดเป็นต้นพันธุ์ นอกจากนี้ อายุของต้นพันธุ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเก็บพันธุ์จากต้นมะละกอที่แข็งแรงสมบูรณ์ อายุ 2 ปี เท่านั้น” คุณต้อม กล่าว

คุณต้อม กับต้นแม่พันธุ์มะละกอฮอลแลนด์ 

“ปุ๋ยอินทรีย์เคมี” ตัวช่วยลดต้นทุน

        สวนมะละกอทั่วไป นิยมใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่ จึงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ช่วงมะละกอต้นเล็ก จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หลังจากนั้นอีก 2 เดือน เติมปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 และปุ๋ยสูตร 16-16-16 หลังต้นมะละกอติดดอก-คัดเพศแล้ว จะใส่ปุ๋ย 8-24-24 โดยใช้ปุ๋ยเคมีทั้ง 3 สูตร ใส่สลับกันไปมา วิธีนี้จะช่วยให้ต้นมะละกอเติบโตงอกงาม ให้ผลดกก็จริง แต่เสี่ยงเป็นโรคพืชได้ไว

        คุณต้อม เลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีดูแลแปลงปลูกมะละกอ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างลงตัว สวนแห่งนี้ปลูกมะละกอ 1,000 ต้น เสียค่าปุ๋ย 2 ลูกครึ่ง แบ่งเป็นปุ๋ยเคมี 1 ลูก (ราคา 1,000 บาท) และปุ๋ยอินทรีย์ 1.5 ลูก (ปุ๋ยขี้หมู ราคาลูกละ 150 บาท เท่ากับ 450 บาท/ครั้ง) โดยเติมปุ๋ยบำรุงดินทุกๆ 15 วัน

        ขณะที่สวนมะละกอทั่วไปที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเคมี ครั้งละ 3,000 บาท แต่สวนแห่งนี้ เสียต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพียงแค่ 1,450 บาท เท่านั้น เท่ากับประหยัดต้นทุนไปถึงครึ่งต่อครึ่งทีเดียว

        คุณต้อม กล่าวว่า โดยทั่วไปสวนมะละกอที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก จะได้ผลผลิตประมาณ 40-50 ผล/ต้น แต่สวนแห่งนี้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี จะได้ปริมาณผลผลิตสูสีใกล้เคียงกัน สินค้ามีคุณภาพเหมือนกัน แต่มีรายได้น้อยกว่า ก็ไม่เป็นไร

        “เจ้าของสวนมะละกอบางราย ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก หลังเห็นต้นมะละกอได้ผลผลิตดกเต็มคอ ก็เฝ้ารอแต่วันเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นหลัก ละเลยการใส่ปุ๋ยเคมีในบางครั้ง ทำให้ต้นมะละกอหิว เพราะขาดอาหาร โดยธรรมชาติแล้ว มะละกอมีเชื้อไวรัสแฝงอยู่ในทุกต้นเหมือนกับโรคมะเร็งที่อยู่ในตัวมนุษย์ เมื่อต้นมะละกอขาดอาหาร ในช่วงที่กำลังเลี้ยงลูก ทำให้ต้นมะละกออ่อนแอ และเกิดไวรัสด่างวงแหวนระบาดได้ง่าย เจ้าของสวนก็ต้องทุ่มยาเข้าใช้แก้ไข ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก” คุณต้อม กล่าว

แปลงต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์พันธุ์แท้

        เมื่อถามถึงต้นทุนการทำสวนลักษณะนี้ คุณต้อม คำนวณให้ฟังคร่าวๆ ว่า สวนมะละกอฮอลแลนด์ เนื้อที่ 4 ไร่ ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก เมื่อเก็บผลผลิตออกขายจะมีรายได้ 400,000 บาท หักต้นทุนการผลิตออก 50% จะมีผลกำไรเหลือ 200,000 บาท แต่สวนมะละกอของคุณต้อมเก็บผลผลิตออกขายได้ 300,000 บาท แต่ใช้เม็ดเงินลงทุนน้อยกว่า เพียงแค่ 60,000-70,000 บาท เท่านั้น หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือผลกำไร ประมาณ 230,000-240,000 บาท ซึ่งคุณต้อมมองว่า ผลตอบแทนที่ได้คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

        การปลูกดูแลต้นมะละกอโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีของคุณต้อม มีจุดเด่นหลายประการ คือ

        1. ใช้ต้นทุนน้อยกว่า หักค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่าได้ผลกำไรดีคุ้มค่ากับการลงทุน

        2. ต้นมะละกอเติบโตแข็งแรงกว่าแปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก เพราะต้นมะละกอได้กินปุ๋ยเคมีเป็นอาหารจานด่วนอย่างรวดเร็วแล้ว ยังได้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นอาหารเสริม (ละลายช้า) เท่ากับต้นมะละกอมีอาหารกินตลอด ทำให้ต้นมะละกอไม่ค่อยเจอปัญหาโรคไวรัสด่างวงแหวน เป็นศัตรูพืชสำคัญของมะละกอ

ที่ผ่านมา สวนแห่งนี้ปลูกมะละกอ 1,000 ต้น เจอปัญหาโรคไวรัสด่างวงแหวนเพียงแค่ 10 ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นมะละกอที่กำลังมีลูกดก ชาวสวนทั่วไปเมื่อเห็นต้นมะละกอให้ผลดก มักไม่ค่อยใส่ปุ๋ยบำรุงต้น แต่คุณต้อมจะไม่ปล่อยให้มะละกอที่มีผลดกขาดอาหาร เพราะเสี่ยงทำให้โรคไวรัสจุดวงแหวนระบาดขึ้นยอดต้นมะละกอทันที


ไวรัสจุดวงแหวนมะละกอ

        เมื่อเจอโรคไวรัสจุดวงแหวน คุณต้อมจะใช้วิธีตัดต้นมะละกอต้นนั้นทิ้งทันที เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเผาทำลายต้น ณ จุดเกิดเหตุ เพราะไวรัสจุดวงแหวนมะละกอ เกิดจากไวรัสที่มีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำมาแพร่ระบาด เป็นโรคที่ไม่มีสารเคมีใดๆ สามารถกำจัดเชื้อได้โดยตรง ฉะนั้น การป้องกันกำจัดการแพร่ระบาดของโรค ต้องใช้วิธีกำจัดแมลงพาหะเป็นหลัก หากเคลื่อนย้ายต้นที่เป็นโรคไปยังจุดอื่น เสี่ยงทำให้เพลี้ยอ่อนที่เป็นแมลงพาหะมีโอกาสกระจายไปยังมะละกอต้นอื่นได้ง่าย

        สวนมะละกอโดยทั่วไป มักมีแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว คุณต้อม มักกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือสุมควันไล่แมลง โดยนำเศษวัสดุใบไม้ใบหญ้า ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือนำยางล้อรถยนต์มาตัดเป็นชิ้นเล็กสุมไฟให้เกิดควันไล่แมลง โดยย้ายจุดสุมควันไปทั่วสวนมะละกอ

มะละกอฮอลแลนด์ผลสุก 

        ปรากฏว่า เทคนิคง่ายๆ แบบนี้ ช่วยป้องกันการระบาดของโรคและแมลงได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง ทำให้สวนแห่งนี้ไม่ค่อยเจอปัญหาการระบาดของโรคแมลงเหมือนกับสวนอื่นๆ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแรงงานในการดูแลสวนมะละกอได้อย่างดี

ข้อแนะนำการลงทุน

        สำหรับเกษตรกรรายใดที่ปลูกไม้ผลอยู่แล้วและยังพอจะมีพื้นที่ว่าง ให้ลองนำมะละกอฮอลแลนด์ไปทดลองปลูกดู โดยคุณต้อมให้คำแนะนำว่า ควรลงทุนปลูกมะละกอฮอลแลนด์อย่างน้อยสัก 5 ไร่ก่อนในเบื้องต้น ปลูกมะละกอจำนวน 250 ต้น เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับผู้รับซื้อ โดยมีต้นทุนค่าทำแปลง ค่าต้นพันธุ์ ค่าวางระบบน้ำ ประมาณ 25,000 บาท มะละกอฮอลแลนด์ หาตลาดได้ไม่ยาก ให้ลองไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดใหญ่ๆ ดูก่อน

เก็บเมล็ดมะละกอผลสุกไว้ไปตากแห้งขายเป็นเมล็ดพันธุ์

        “ตลาด คือหัวใจสำคัญของการทำสวนมะละกอ ก่อนอื่นเกษตรกรควรไปพูดคุยกับแม่ค้าก่อนว่า จะปลูกมะละกอฮอลแลนด์สักเท่าไร จะปลูกสักกี่ต้น กี่ไร่ ปริมาณผลผลิตเท่านี้ แม่ค้าจะลงมารับซื้อถึงไร่ของเราได้ไหม หรือจะให้ชาวสวนรวบรวมผลผลิตไปส่งขายที่ตลาด หากผลผลิตเยอะสัก 2-3 ตัน/รอบ ส่วนใหญ่แม่ค้าจะนำรถมารับซื้อผลผลิตถึงสวน หากผลผลิตน้อยๆ ไม่กี่ร้อยกิโลกรัม ลองหาตลาดรับซื้อในท้องถิ่น หากรวบรวมผลผลิตได้เป็นตันขึ้นไป แม่ค้าตีรถมารับซื้อถึงสวน แต่จังหวะนั้นแม่ค้าไม่มีรถ เราก็ตีรถขึ้นไปส่งถึงตลาดแทน” คุณต้อม กล่าวในที่สุด

        ปัจจุบัน สวนมะละกอคีโม สไมล์ ฟาร์ม เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมกิจการและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการสวนมะละกอ รวมทั้งเลือกซื้อมะละกอรสชาติหวานหอมติดมือกลับบ้าน หากสนใจติดต่อ กับ คุณอมรเทพ (ต้อม) และ คุณศิริวรรณ (ผึ้ง) เสือสังโฆ ได้ที่ สวนคีโม สไมล์ ฟาร์ม บ้านเลขที่ 270/2 หมู่ที่ 1 ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เบอร์โทร. 084-800-8866 ได้ทุกวัน

ข้อมูลและภาพ จาก technologychaoban

บทความที่คุณอาจสนใจ